ล้วงลูกคดีฆ่าเสือดำ ซัดศรีวราห์หรี่ตาผกก.ภาคทัณฑ์พงส.รับแจ้งความทารุณสัตว์


เพิ่มเพื่อน    

    รุมเฉ่ง! "ศรีวราห์" ส่งสัญญาณ ผกก.ทองผาภูมิ สั่งลงโทษภาคทัณฑ์พนักงานสอบสวน   อ้างบกพร่องต่อหน้าที่รับแจ้งความร้องทุกข์ข้อหาทารุณกรรมสัตว์คดีเจ้าสัวนักล่า "วิรุตม์" ยัน พงส.มีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์บันทึกเลขคดีเข้าสู่สารบบ ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานส่งอัยการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ "ศรีสุวรรณ" ซัดปฏิรูป ตร.ล้มเหลว แนะแยกสอบสวนออกจาก สตช. "ธีระชัย" เปรียบเขียนเสือให้วัวกลัว อย่าล้ำเส้น ลั่นต้องปฏิรูป ตร.แบบถอนรากถอนโคน ขณะที่ จนท.ป่าไม้บ่นถูกเรียกสอบปากคำหลายครั้งเหมือนเป็นผู้ต้องหาเสียเอง 
     เมื่อวันพฤหัสบดี มีความคืบหน้ากรณีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ พร้อมพวกรวม 4 คน ถูกจับกุมขณะเข้าไปลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี พบของกลางซากสัตว์ป่าคุ้มครองเสือดำถูกชำแหละถลกหนัง พร้อมอาวุธปืน เครื่องกระสุน จำนวนมาก และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหลายข้อหา ต่อมานายเปรมชัยถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาทารุณกรรมสัตว์ แต่ล่าสุดมีการถอนแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว
    ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.วุฒิพงศ์ เย็นจิตต์ ผกก.สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้มีหนังสือคำสั่งสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ ที่ 37/2561 ลงวันที่ 28 ก.พ.2561 เรื่องลงโทษ ภาคทัณฑ์ ระบุว่า ตามที่นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2561 ให้ดำเนินคดีกับนายเปรมชัย กรรณสูต กับพวก ไว้ตามระเบียบแล้วนั้น แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2561 นายณรงค์ชัยได้เดินทางมาพบร.ต.อ.สุมิตร บุญยะนิจ พนักงานสอบสวน พร้อมกับได้ให้ปากคำเพิ่มเติมว่า หลังจากตนได้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2561 ปรากฏว่าได้ ไปตรวจสอบกับคำนิยามของคำว่า สัตว์ ตามมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีกำหนด และได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ารัฐมนตรียังมิได้ประกาศกำหนดสัตว์ตามธรรมชาติว่าต้องเป็นสัตว์ชนิดใด จึงขอถอนคำร้องทุกข์ไปตามระเบียบนั้น
    "การกระทำของ ร.ต.อ.สุมิตร พนักงานสอบสวน เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และรับคำร้องทุกข์ไว้ ฉะนั้น อาศัยอำนาจแห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 87 ประกอบกับกฎ ก.ตร. ว่าด้วยอำนาจการลงโทษข้าราชการตำรวจอัตราและการลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขังหรือตัดเงินเดือน พ.ศ.2547 จึงให้ลงโทษภาคทัณฑ์ ร.ต.อ.สุมิตร บุญยะนิจ"
    อนึ่ง ผู้ถูกลงโทษตามคำสั่งนี้ มีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ก.ตร. แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 105แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2547 และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังศาลปกครองภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดี ได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์
    ทั้งนี้ มีรายงานว่า พ.ต.อ.วุฒิพงษ์ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. รับทราบแล้ว
        ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดี และยืนยันว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำคดีล่าช้า และกล่าวถึงกรณีนายเปรมชัย หลุดคดีข้อหาทารุณกรรมสัตว์ป่าที่มีหัวหน้าด้านกักสัตว์กาญจนบุรีแจ้งความดำเนินคดีว่าข้อหาดังกล่าวไม่ได้หลุด แต่เนื่องจากข้อหานี้ไม่มีในข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จึงได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนไปพิจารณาว่าผู้ที่ร้องทุกข์เข้าข่ายมีเจตนากลั่นแกล้งหรือแจ้งความเท็จหรือไม่
ยัน พงส.มีอำนาจ
    ด้านนายณรงชัย สังวรวงศา เปิดเผยว่า ตนทำตามหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่มีแรงจูงใจอย่างอื่น การแจ้งความในข้อหาดังกล่าวคิดน่าจะมีการประกาศตาม พ.ร.บ.ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ท้อกับเรื่องดังกล่าว 
    ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า การแจ้งความหรือถอนแจ้งความเป็นเรื่องปกติของประชาชนกับร้อยเวรรับแจ้งความ ซึ่งมีเกิดขึ้นทุกวันทั่วประเทศ ไม่ใช่สาระสำคัญของการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนที่จะต้องถึงขนาดมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์พนักงานสอบสวน (พงส.) เจ้าของสำนวน ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเคร่งครัดในวินัยและการปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้อย่างจริงจัง ทำไมคดีความทั่วประเทศที่ประชาชนไปถอนแจ้งความในลักษณะเดียวกันนี้ พงส.ทั่วประเทศจึงไม่ถูกลงโทษภาคทัณฑ์เยี่ยงกรณีนี้ด้วย แต่ทำไมจึงมีคำสั่งเฉพาะแต่กรณีที่รอง ผบ.ตร.ออกมากล่าวถึงกรณีของนายเปรมชัยนี้เท่านั้น ทั้งที่ พงส.สภ.ทองผาภูมิ หรือที่อื่นๆ  ทั่วประเทศ อาจจะตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้แจ้งความมีความประสงค์ เพราะหากเมื่อสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงสรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการจะพิจารณาเองว่ามูลคดีเพียงพอที่จะสั่งฟ้องในข้อหาดังกล่าวได้หรือไม่ 
    "การที่ สภ.ไกลปืนเที่ยงหรือต่างจังหวัดต้องสนองรับเพียงคำกล่าวเปรยของรอง ผบ.ตร.ที่นั่งอยู่ส่วนกลาง ถือว่าเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งทั่วประเทศได้ชัดเจนยิ่ง ซึ่งมีอีกหลายกรณีที่ตำรวจน้ำดีต้องถูกแป้ก  ถูกดอง เหตุเพราะไม่มีเส้นสาย ไม่ได้มีเครือญาติเป็น ก.ตร. เป็นผู้บังคับบัญชา หรืออดีตผู้บังคับบัญชาก็ต้องถูกโยกย้ายไปอยู่ไกลปืนเที่ยง แม้จะมีผลงานและความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่เพียงใดก็ตาม ดังเช่น กรณีของสารวัตรแรมโบ้ (พ.ต.อ.สุรโชค เจษฏาเดช ผู้กำกับสืบสวน จว.อำนาจเจริญ) เป็นต้น"
         แถลงการณ์ระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปตำรวจที่ล้มเหลวได้ชัดเจนยิ่ง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “แยกพนักงานสอบสวนออกมาจาก สนง.ตำรวจแห่งชาติ แล้วให้ไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม” เพื่อที่จะได้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ต้องมาคอยรอตอบสนองการสั่งซ้ายหันขวาหันจากผู้บังคับบัญชาในระบบเก่าๆ ของ สนง.ตำรวจแห่งชาติ และจะเป็นการถ่วงดุลในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ดีกว่าระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย และหากการแยกอำนาจการสอบสวนให้เป็นอิสระไม่เกิดขึ้น กรณีคดีความล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรก็จะล้มเหลว การปฏิรูปตำรวจก็จะล้มเหลว และในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน.คสช.และนายกรัฐมนตรี ก็จะล้มเหลวต่อการทำรัฐประหารในครั้งนี้อีกด้วย
    พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาระบบงานสอบสวนของประเทศที่เลวร้ายมาก โดย พงส.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ซ้ำเมื่อปฏิบัติแล้ว กลับต้องจำยอมรับการลงโทษทางวินัยที่มิชอบอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายบ้านเมืองอีกด้วย เพราะตาม ป.วิอาญา เมื่อมีผู้แจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามกฎหมายในทุกกรณี พงส.มีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษนั้น และบันทึกเลขคดีเข้าสู่สารบบของสถานีทันที และรีบดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงโดยมิชักช้าตามมาตรา 130 และประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดสรุปความเห็นเสนอให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง กรณีไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้นั้นกระทำผิดตามคำกล่าวโทษ ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่หลักฐานไม่พอรับฟัง หรือเห็นว่าการกระทำไม่ได้เป็นความผิดตามบทกฎหมายใด ไม่มี พงส.ไม่ว่าระดับใดมีอำนาจวินิจฉัยว่า คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษนั้นไม่เป็นความผิดและไม่ยอมบันทึกเลขคดีดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอให้พนักงานอัยการสั่งคดีแต่อย่างใด  
    "การไม่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษจากประชาชนออกเลขคดีที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันทั้งผู้บังคับบัญชาผู้สั่งและผู้ปฏิบัติ ถือว่าได้กระทำความผิดอาญาต่อตำแหน่งหน้าที่ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีโทษจำคุกถึงสิบปี เป็นปัญหาใหญ่และร้ายแรงที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน โดยเฉพาะคนยากจนอย่างมาก เป็นช่องทางหนึ่งในการล้มคดี ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะดำเนินการตามลำพังหรือผู้บังคับบัญชาสั่งให้ช่วยผู้กระทำผิดที่เป็นคนรวยหรือผู้มีอำนาจไม่ต้องถูกดำเนินคดี เนื่องจากไม่มีใครสามารถตรวจสอบการปฏิบัติได้ว่าพยานหลักฐานการกระทำผิดที่แท้จริงเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นภัยอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมอาญาอย่างร้ายแรง" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว 
ปฏิรูป ตร.ถอนรากถอนโคน
    ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ประเด็นที่พิกลก็คือ 1.ปกติถ้าประชาชนไปแจ้งความร้องทุกข์ เมื่อเจ้าหน้าที่พิจารณาเบื้องต้นเห็นว่าเป็นการแจ้งโดยสุจริต และมีความเป็นไปได้ที่จะมีความผิดตามกฎหมายตามที่ร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมจะต้องรับคำร้องไว้ก่อน การจะขอให้ประชาชนกลับบ้านไปนอน ระหว่างที่เจ้าหน้าที่พลิกตำรากฎหมาย แล้วค่อยกลับมาร้องทุกข์ซ้ำในภายหลัง ย่อมเป็นวิธีการทำงานแบบพิกลพิการ ไร้สามัญสำนึก 
    2.ผู้ที่แจ้งความนั้นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลกฎหมายเฉพาะ และร้องทุกข์เกี่ยวกับกฎหมายเฉพาะที่ตนเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ จึงย่อมมีความน่าเชื่อถือมากพอที่ร้อยตำรวจเอกดังกล่าวจะรับคำร้องไว้
    3.ประเด็นที่ผู้ที่แจ้งความขอถอนคำร้องในภายหลังนั้น เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ซับซ้อน กล่าวคือถึงแม้การกระทำจะเป็นความผิดทั่วไปตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องขอถอนคำร้อง เนื่องจากรัฐมนตรีไม่ได้ทำงานแบบเอาใจใส่ ถึงแม้ตรากฎหมายตั้งแต่ปี 2557 แต่รัฐมนตรีก็ยังไม่ประกาศกำหนดชนิดของสัตว์เพื่อให้เข้าตามนิยามของมาตรา 3 ซึ่งวิญญูชนจะพิจารณาว่า ในฐานะร้อยตำรวจเอกในพื้นที่ ย่อมจะไม่สามารถล่วงรู้
    "คำสั่งดังกล่าวออกมาภายหลังจากที่ตำรวจระดับสูงผู้คุมสำนวนกล่าวกับสื่อมวลชนว่าจะตรวจสอบผู้ที่แจ้งความข้อหานี้ ผมเกรงว่าประชาชนทั่วไปจะคิดไปว่าการลงโทษตำรวจชั้นผู้น้อยเช่นนี้ เป็นการเอาใจผู้ที่มีอำนาจบารมี เป็นการแสดงให้เห็นว่าได้มีความพยายามที่จะเขียนเสือให้วัวกลัวแล้ว เพื่อห้ามปรามการขยายวงข้อหาความผิด และเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องว่าอย่าล้ำเส้น จริงหรือไม่ ถ้าคำสั่งนี้เป็นจริง ผมคิดว่าถึงเวลาที่สังคมจะเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ ให้เกิดขึ้นจริงจังได้แล้ว แบบฟ้าผ่า แบบถอนรากถอนโคน" นายธีระชัยระบุ
    ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "พนักงานสอบสวนหญิง" โพสต์ข้อความว่า เห็นข่าวแล้ว อดสูใจ พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ตามที่มีผู้มากล่าวหาไว้แล้ว คนร้องทุกข์มาขอถอนคำร้องทุกข์ พงส.ดำเนินการตามหน้าที่ขอบด้วยกฎหมาย สิทธิจะพิจารณาว่าข้อกล่าวหานั้นถูกหรือผิดจะฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นอำนาจหน้าที่ของ พงส. แต่เมื่อมีคนมากล่าวก็ต้องรับ ไม่รับก็ 157 กระโถนท้องพระโรงชัดๆ ต่อมาโดนภาคทัณฑ์โดยผู้กำกับว่าบกพร่องหน้าที่ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีเห็นชัดว่าผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือกว่า พงส. สามารถกดดันการทำงานของ พงส.และ พงส.สั่งได้ทุกกรณี ความยุติธรรมจะมีอยู่หรือ คือคำถาม? ไม่รวมกรณีหวย 30 ล้าน ที่มีการเปลี่ยนคำให้การ และ พงส.ตัวเล็กๆ ก็ถูกสั่งเช่นกัน
    "ยังอยากให้ พงส.ที่อ้างว่าเป็นต้นธารยุติธรรม ถูกกระทำอย่างนี้เรื่อยไป และกระบวนการสั่งได้โดยผู้มีอำนาจเหรอ ระบบ command ยังแฝงอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปงานสอบสวนเสียทีเถอะ ประชาชน
อุ่ย ที่เขียนมา มือลั่น ลืมตัว ยังตัวเล็กเหมือน พงส.เจ้าของคดี ไม่มีกดดันอะไร เค้าพูดเล่น" เพจดังกล่าวระบุ
    ด้านแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยถึงความคืบหน้าของคดีว่า พนักงานสอบสวนกำลังเร่งรวบรวมหลักฐานต่างๆ รวมทั้งได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่และพยานไปแล้วเกือบ 20 ราย แต่ก็ยังต้องสอบปากคำเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเพิ่มเติมอีก โดยได้แจ้งให้ทางนายวิเชียร ชิณวงษ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ เดินทางไป สภ.ทองผาภูมิ ในวันที่ 5 มี.ค.เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม โดยที่นายวิเชียรได้แจ้งกลับมาว่าขอเลื่อนมาให้ปากคำในวันที่ 12 มี.ค. เนื่องจากติดภารกิจ
    ส่วนทางด้านนายเปรมชัยและพวก ทางพนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งให้นายประกันประสานให้เดินทางไปให้ปากคำเพิ่มเติมที่ สภ.ทองผาภูมิ ในวันที่ 5 มี.ค. แต่จะไปที่ สภ.ทองผาภูมิ หรือ บก.ภ.จว.กาญจนบุรี หรือ บช.ภ.7 นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แล้วแต่ทางนายเปรมชัย และพวกจะสะดวกที่ไหน สำหรับคดีนี้หลังจากได้รับผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนทั้ง 3 กระบอก รวมทั้งซากสัตว์ป่าแล้ว เชื่อว่าน่าจะสรุปสำนวนส่งอัยการได้ ส่วนข้อกล่าวหาในส่วน สภ.ทองผาภูมิ ก็ยังคงมี 9 ข้อกล่าวหาดังเดิม ยังไม่มีการแจ้งข้อหาอื่นเพิ่ม 
    "เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ ต่างบ่นกันทั่วว่า ตำรวจเรียกไปสอบปากคำหลายครั้ง เหมือนเจ้าหน้าที่เป็นผู้ต้องหา แทนที่จะเรียกทางฝ่ายผู้กระทำผิดไปสอบปากคำ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ชี้แจงว่า ที่ต้องเรียกเจ้าหน้าที่สอบหลายครั้ง ก็เพื่อให้สำนวนคดีมีความละเอียดรัดกุมมากที่สุด" รายงานข่าวระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"