4 รมต.เกษตรฯ ลุยแก้ปัญหาภัยแล้ง ดูสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ หารือตัวแทนเกษตรกร 15 จังหวัด จ่อออกมาตรการชดเชยราคาข้าวชาวนา มท.1 สั่งแจ้งเตือน ปชช.ก่อนประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ
ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 3 คน ได้แก่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และนายประภัตร โพธสุธน ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมประชุมมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอันดับแรกคือการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมมาตรการรองรับให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอ แต่ยังไม่ถึงวิกฤติที่จะต้องประกาศภัยแล้ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ซึ่งยืนยันว่าจะดำเนินการตามนโยบายประกันรายได้ที่หาเสียงไว้กับประชาชน และสานต่อโครงการของนายกฤษฎา บุญราช อดีต รมว.เกษตรฯ ขณะนี้เกษตรกรทั่วประเทศเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วง ต้องเร่งวางระบบบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอ แม้ว่าอยู่ช่วงต้นฝน แต่จากคาดการณ์ปีนี้น้ำน้อย ต้องแจ้งให้ชาวบ้านรู้ ถ้าไม่สามารถปลูกข้าวได้ หามาตรการเยียวยา ให้ปลูกพืชน้ำน้อย และมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เมื่อเกิดความเสียหาย
ด้านนายประภัตรกล่าวว่า จะลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ พร้อมประชุมวางแนวทางรับมือในวันที่ 19 ก.ค. และจะเชิญตัวแทนเกษตรกรจากทั้ง 15 จังหวัดมาหารือถึงผลกระทบจากภัยแล้ง ว่ามีความเดือดร้อนแค่ไหน ส่วนมาตรการจะต้องหารืออีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ตั้งแต่ค่ำวันนี้จะลงพื้นที่ร่วมกับ 2 รมช.เกษตรฯ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำที่จังหวัดตากและจังหวัดอุตรดิตถ์ ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้ชาวนามีน้ำพอจนเก็บเกี่ยวได้ผลผลิต
"สิ่งแรกที่ต้องทำคือเร่งช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ขณะนี้ต้นทุนข้าวอยู่ที่ตันละ 5,000 บาท สถานการณ์ภัยแล้งทำให้ต้นทุนสูง แต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำ โดยเห็นว่าควรจะมีมาตรการชดเชยรายได้ราคาข้าวให้แก่เกษตรกร แต่จะเป็นเท่าไหร่จะขอหารือกับทุกฝ่ายก่อน" นายประภัตรกล่าว และว่า ไม่กังวลหากจะมีม็อบเกษตรกร และยินดีให้เข้าพบเพื่อรับฟังปัญหา
นางสาวมนัญญากล่าวว่า จะอาศัยประสบการณ์การทำงานในระดับท้องถิ่นที่ทำงานจริงๆ มาตลอด 10 ปี มั่นใจว่ารู้ปัญหาของเกษตรกร โดยจะนำปัญหาขึ้นมาหารือ เสนอต่อ รมว.เกษตรฯ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคเกษตรมากขึ้น โดยขบวนการบริหารจัดการเป็นสิ่งสำคัญ ต้องแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด คิดว่าจะนำรูปแบบการบริหารจัดงานในท้องที่ที่ประสบความสำเร็จมาบริหารในระดับประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมอบนโยบายเสร็จสิ้น นายเฉลิมชัยได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิตติ์ จ.อุตรดิตถ์ ในช่วงบ่ายทันที
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณฝนไม่ค่อยมาก ทางกระทรวงเกษตรฯ เตรียมที่จะออกมาตรการขอให้งดการปลูกในบางลุ่มน้ำ และในวันที่ 19 ก.ค.นี้ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะลงพื้นที่ไปดูน้ำในเขื่อน และพาเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปดูพื้นที่จริงว่าอาจจะปลูกพืชใช้น้ำมากหรือข้าวนาปรังไม่ได้ และคงจะมีแผนงานโครงการปลูกพืชอื่นๆ ที่เหมาะสมแทน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้แจ้งมายังกระทรวงมหาดไทย และได้แจ้งต่อไปทางจังหวัดแล้ว เพื่อนำเกษตรกรทุกจังหวัดลงไปดูพื้นที่และสถานการณ์น้ำที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งในส่วนของมาตรการเตรียมรับมือนั้น กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการทุกปีว่าพื้นที่ใดควรเพาะปลูกพืชอย่างไร
ส่วนการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) นั้น ให้พิจารณาเป็นรายพื้นที่ หากจังหวัดใดเกิดพื้นที่ภัยแล้ง ไม่ว่าน้ำที่ใช้ทำการเกษตร หรืออุปโภคบริโภค จะมีการแจ้งเตือนก่อนออกประกาศ เพื่อให้มีเวลาในการกักเก็บน้ำ แต่ถ้าถึงขั้นแล้งและต้องออกประกาศภัยพิบัติ ก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป
ที่ จ.สุโขทัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่หมู่ 5 ต.สารจิตร อ.ศรีสัชนาลัย ยังคงได้รับความเดือดร้อนหนักจากปัญหาความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ข้าวที่หว่านไว้อายุประมาณ 1 เดือนเริ่มได้รับความเสียหาย ชาวนาบางรายจึงต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง
นายประทีป คงมา อายุ 63 ปี ชาวนาในพื้นที่ เปิดเผยว่า ลงทุนทำนาข้าวหอมมะลิ 12 ไร่ หว่านไปเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.62 โดยทั่วไประยะเวลา 1 เดือน ต้นข้าวจะเติบโตสูงประมาณหัวเข่า แต่ปัจจุบันต้นข้าวหยุดเติบโตเพราะขาดน้ำ เริ่มจะเหลืองแห้งตาย จึงต้องรีบนำรถไถพ่วงแท็งก์ไปสูบน้ำจากหนองจระเข้ที่อยู่ห่างจากที่นา 2 กิโลเมตร เพื่อนำมาใส่ในนาให้ต้นข้าวที่กำลังโตได้รับน้ำหล่อเลี้ยง ลงทุนไปกว่า 17,000 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำมัน ซึ่งถ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือไม่มีการจัดสรรปล่อยน้ำมาบ้าง นาข้าวในพื้นที่ ต.บ้านแก่ง ต.สารจิตร คงแห้งตาย ชาวนาเดือดร้อนหลายร้อยครอบครัว
ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบสภาพอ่างเก็บน้ำวังเฮือ หรืออ่างเก็บน้ำแม่ทะ หรือเป็นที่รู้จัก กับบรรดานักท่องเที่ยวทั่วไปคือทะเลสาบลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง โดยเบื้องต้นพบว่าน้ำภายในอ่างเก็บน้ำแม่ทะแห้งขอดอย่างเห็นได้ชัด และมีปลาตายจำนวนมาก ซึ่งพื้นดินภายในอ่างน้ำแตกระแหงจากสภาพความแห้งแล้ง แม้ว่าบางจุดจะเหลือน้ำอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น
ซึ่งจากการสอบถามนายวิชาญ กวินภูมิเสถียร หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการชลประทานลำปาง บอกว่าอ่างเก็บน้ำแม่ทะ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10,000 ไร่ โดยที่ผ่านมาจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำภายในอ่างลดปริมาณลงอย่างมาก ซึ่งขณะนี้น้ำในอ่างเหลือเพียง 32 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 850,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากปกติจะมีน้ำถึง 2,800,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 32 เปอร์เซ็นต์ และหากไม่มีฝนตกลงมาจากนี้และไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง คาดการณ์ว่าน้ำในอ่างจะหมดประมาณกลางเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งต้นกล้าของเกษตรกรที่หว่านไว้ก่อนหน้านี้จะแห้งตาย ทั้งนี้ ได้ขอให้เกษตรกรชะลอการหว่านกล้าทำนาไว้ก่อน เนื่องจากฝนทิ้งช่วง และให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า
ที่ จ.หนองคาย ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย ยังมีระดับต่ำกว่า 1 เมตร ล่าสุดวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ 84 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่งถึง 11.36 เมตร ซึ่งยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับน้ำโขงต่ำสุดในรอบ 50 ปี โดยขณะนี้ได้ส่งกระทบกับการผลิตน้ำประปาในจังหวัดหนองคาย เนื่องจากน้ำโขงที่มีระดับต่ำไม่ถึงหัวสูบของเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในอาคารสูบน้ำของการประปา ส่งผลให้น้ำประปาไหลอ่อนและไม่ไหลในหลายพื้นที่เขตอำเภอเมืองหนองคาย ล่าสุดทางการประปาส่วนภูมิภาคสาขาหนองคายได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบนโป๊ะแพ เพื่อสูบน้ำดิบแทนเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในอาคารสูบน้ำเป็นการชั่วคราว แต่น้ำดิบที่สูบได้ไม่เพียงพอในการผลิตน้ำประปา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |