ความกังวลเกี่ยวกับทักษะแรงงานภายในองค์กรดูเหมือนจะมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อไม่นานมานี้ PwC ได้มีการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับซีอีโอทั่วโลก ที่หันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนทักษะใหม่ให้กับแรงงานแทนที่การเฟ้นหาทาเลนต์จากภายนอกอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อปิดช่องว่างทางทักษะ พร้อมเสริมสร้างนวัตกรรมและความไว้วางใจของสาธารณชน ขณะที่องค์กรไทยก็ประสบปัญหานี้ ไม่ต่างจากองค์กรทั่วโลก และเริ่มหันมาลงทุนด้านระบบบริหารทรัพยากรบุคคล และพัฒนาทักษะแรงงานเดิมมากขึ้น เพื่อช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างไร้รอยต่อ
ในเรื่องนี้ ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงาน Talent Trends 2019 : Upskilling for a Digital World ของ PwC พบว่า 79% ของซีอีโอทั่วโลกที่ถูกสำรวจในปีนี้ แสดงความกังวลว่าการขาดแคลนทักษะแรงงานที่จำเป็นของพนักงานภายในองค์กรกำลังเป็นภัยคุกคาม ที่มีผลต่อการเติบโตขององค์กรในอนาคต เปรียบเทียบกับ 63% ในปี 2557 นับเป็นข้อยืนยันว่าความกังวลเกี่ยวกับทักษะได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือเป็นประเด็นความกังวลของผู้บริหารในทุกภูมิภาคทั่วโลก ยกตัวอย่าง เช่น ซีอีโอจากญี่ปุ่น 95% และยุโรปกลางและตะวันออก 89% แสดงความกังวลในประเด็นนี้มากที่สุด ในขณะที่ซีอีโอจากอิตาลี 55% และตุรกี 45% มีความกังวลเรื่องทักษะแรงงานน้อยที่สุด โดย 55% ของบรรดาซีอีโอที่มีความกังวลมากที่สุด กล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีก 52% บอกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานสูงขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดไว้
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้การเพิ่มพูนทักษะใหม่ และเสริมสร้างทักษะเดิมที่มีอยู่ กลายเป็นวาระสำคัญของซีอีโอทั่วโลก ผลสำรวจยังพบอีกว่าซีอีโอกำลังปรับเปลี่ยนวิธีปิดช่องว่างทางทักษะความสามารถให้กับแรงงานของตน โดยเกือบครึ่งหรือประมาณ 46% ของซีอีโอทั่วโลกกล่าวว่า การฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่ และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ กลายเป็นโครงการความคิดริเริ่มที่มีความสำคัญที่สุดต่อการปิดช่องว่างทางทักษะ ตรงข้ามกันกับผู้บริหารเพียง 18% ที่กล่าวว่า จะว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะจากภายนอกอุตสาหกรรมของตน ซึ่งผลสำรวจในปีนี้ยังตรงข้ามกับผลจากการสำรวจในปีที่ผ่านๆ มา ที่ระบุว่าซีอีโอกำลังมองหาแรงงานที่มีทักษะจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และมีการจ้างแรงงานชั่วคราวจากภายนอก
ส่วน แครอล สตับบิงส์ หัวหน้าร่วมสายงาน Global People & Organisation ของ PwC สหราชอาณาจักร กล่าวเสริมว่า แม้ว่าการฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่ให้กับพนักงาน จะต้องอาศัยการลงทุน แต่เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เช่นการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกปลด และต้นทุนในการเฟ้นหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ มองว่าการฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ของพนักงาน ยังเป็นที่ต้องการของพนักงานด้วย โดยผลจากการสำรวจพนักงานทั่วโลกจำนวนกว่า 12,000 ราย พบว่า พนักงานยินดีที่จะใช้เวลา 2 วันต่อเดือนในการเข้าฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะทางด้านดิจิทัลของตนจากนายจ้าง
ความชัดเจนที่พบจากผลสำรวจ คือ การลงทุนในการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดิจิทัลนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างแรงงานในอนาคต เพราะการจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในการมีทักษะใหม่ๆ ต้องอาศัยการมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ขององค์กรที่แข็งแกร่งที่ถูกผนวกเข้าไปกับสถานที่ทำงานที่มีคุณภาพสูงอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ รูปแบบของสถานที่ทำงานกำลังถูกปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมๆ ที่มีอยู่มานานหลายสิบปี และกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดโดยไม่มีจุดสิ้นสุดที่แน่นอน องค์กรจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการเดินไปสู่ความสำเร็จ รวมถึงการสร้างและคงไว้ซึ่งความไว้วางใจอันจะเป็นกุญแจสำคัญทั้งต่อตัวพนักงานเอง และภาครัฐ รวมไปถึงสังคมโดยรวมด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับองค์กรไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดิจิทัลเช่นเดียวกับองค์กรทั่วโลก โดยทาเลนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะทางด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง การเรียนรู้ของเครื่องจักร และการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลกำลังเป็นที่ต้องการมาก หลายบริษัทในประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนใหญ่หันมาลงทุนด้านบุคลากรมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถในการวิเคราะห์ทรัพยากรบุคคลขององค์กร.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |