WHO ประกาศอีโบลาเป็น 'ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ'


เพิ่มเพื่อน    

องค์การอนามัยโลกตัดสินใจประกาศให้การระบาดของโรคอีโบลาในประเทศดีอาร์คองโกเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว ระบุถึงเวลาที่ทั่วโลกต้องตระหนักหลังจากไวรัสมรณะนี้คร่าชีวิตชาวคองโกมากกว่า 1,600 คนในเวลาไม่ถึง 1 ปีและเริ่มพบผู้ป่วยในเมืองใหญ่

คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างทำความสะอาดมือที่จุดคัดกรองเชื้อบนถนนระหว่างเมืองบูเตมโบและโกมา ของดีอาร์คองโก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 / AFP

กินชาซา / เอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ว่าการแพร่ระบาดของอีโบลาในภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งที่ 2 ของโรคนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเคยถูกประกาศใช้เพียง 4 ครั้ง

    ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่ทั่วโลกต้องให้ความสนใจ

    สถานการณ์ในดีอาร์คองโกน่าวิตกกังวลมากขึ้นในสัปดาห์นี้ ภายหลังการแพร่ระบาดที่เดิมเคยควบคุมไว้ได้ในพื้นที่ห่างไกล กลับปรากฏพบว่ามีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในเมืองใหญ่เป็นครั้งแรกที่เมืองโกมา ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดนอร์ทคิวู ทีโดรสเคยกล่าวไว้เมื่อต้นสัปดาห์ว่า ผู้ป่วยที่โกมาอาจเป็นผู้เปลี่ยนเกม เพราะเมืองนี้เป็น "ประตูเข้า-ออก" สู่เขตเกรตเลคของแอฟริกาและโลกภายนอก

    ผู้ป่วยที่โกมาเป็นศาสนาจารย์นิกายอีวานเจลิคอลที่เดินทางจากเมืองบูเตมโบ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการระบาด  มีรายงานว่า เขาสัมผัสผู้ป่วยอีโบลาหลายคนที่เมืองบูเตมโบ และปกปิดตัวตนเพื่อหลีกเลี่ยงการคัดครองด้านสาธารณสุขระหว่างเดินทางมาเมืองโกมา เขาเสียชีวิตแล้ว

    ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกเคยประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอช 1 เอ็น 1 เมื่อปี 2552, การระบาดของไวรัสโปลิโอ ปี 2557, การระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกระหว่างปี 2557-2559 และการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของผู้ติดไวรัสซิกาในลาตินอเมริกาเมื่อปี 2559

    ไวรัสอีโบลามีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 50% สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์ป่าสู่คนได้ และติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสของเหลวในร่างกาย, โลหิต, สารคัดหลั่ง หรืออวัยวะที่ผู้ที่ติดเชื้อ อีโบลาที่ระบาดในดีอาร์คองโกตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทำให้มีคนเสียชีวิตแล้วมากกว่า 1,600 คน จากผู้ป่วยมากกว่า 2,500 คน

    กฎอนามัยระหว่างประเทศของดับเบิลยูเอชโอเมื่อปี 2558 ระบุว่า ภาวะฉุกเฉินใช้กับสถานการณ์ที่เป็นเหตุการณ์ผิดธรรมดาที่ก่อความเสี่ยงด้านสาธารณสุขต่อประเทศอื่นๆ จากการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือ การประกาศของดับเบิลยูเอชโอเมื่อวันพุธทำให้บางฝ่ายกังวลว่าจะทำให้บางประเทศปิดพรมแดน แต่โรเบิร์ต สเตฟเฟน ประธานคณะกรรมการของดับเบิลยูเอชโอ ย้ำว่า ประเทศทั้งหลายไม่ควรตอบสนองต่อคำประกาศนี้ด้วยการปิดพรมแดนหรือจำกัดการค้า

    แถลงการณ์ได้เตือนประเทศเพื่อนบ้านของดีอาร์คองโกว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ รวันดา, เซาท์ซูดาน, บุรุนดี และอูกันดา ส่วนประเทศอีกกลุ่มมีความเสี่ยงรองลงมา ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, แองโกลา, แทนซาเนีย, สาธารณรัฐคองโก และแซมเบีย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"