ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติแจงลดดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้บาทแข็ง รับห่วงถูกจับตาประเทศแทรกแซงค่าเงิน พร้อมออกมาตรการเพิ่มหากค่าบาทผิดปกติ นักเศรษฐศาสตร์คาดยาวถึงต้นปี 63
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าลง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จนเป็นผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นส่วนใหญ่ไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์แบบกระจุกตัวในบางช่วง ทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน
ทั้งนี้ ธปท.มีความกังวลและเข้าดูแลสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด แต่ก็เป็นห่วงหากประเทศไทยจะถูกจับตาว่าเป็นประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน
"อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจไม่ส่งผลมากนักกับการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง" นายวิรไทระบุ
ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1.75% ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีการปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้เหลือ 3.3% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 0%
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งยังต้องรอประเมินผลว่ามาตรการที่ออกมาแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าได้หรือไม่ ทั้งนี้ ธปท.ยืนยันว่าความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมไม่ได้ลดลง และมีบางจุดที่มีความเปราะบางเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนมีพฤติกรรมลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และการออกกฎหมายคุมสหกรณ์ออมทรัพย์ล่าช้า
อย่างไรก็ตาม ธปท.พร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม หากค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องต่อพื้นฐานของประเทศ
ก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน โดย ธปท.จะต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ส่วนภาคการเมืองไม่ควรเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน เพราะถ้าประเทศไม่ดีจริง เงินลงทุนคงไม่ไหลเข้ามา แต่ตอนนี้มีเงินลงทุนเข้ามาทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว แต่ที่ไทยต้องการคือเงินลงทุนระยะยาว ขณะที่เงินลงทุนระยะสั้นก็ต้องกำกับดูแลให้ดี
ทางด้าน น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่แข็งค่าไปจนถึงช่วงต้นปี 2563 เพราะมีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ซึ่งได้ประเมินว่าหากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากส่งสัญญาณมากขึ้น เพราะเป็นห่วงเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ โดยคาดว่าปีนี้เงินบาทจะอยู่ในกรอบ 31.00-32.00 บาทต่อดอลลาร์ และยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นจะอยู่ได้นานหรือไม่ และรายได้จากต่างประเทศจากการส่งออกและการท่องเที่ยวยังไม่ได้ดีขึ้นชัดเจน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |