เกษตรฯถกปัญหาภัยแล้ง


เพิ่มเพื่อน    

 "เฉลิมชัย" เรียกผู้บริหาร ก.เกษตรฯ ถกแก้ปัญหาภัยแล้ง 18 ก.ค.นี้ ชี้เป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล "อธิบดีกรมชลฯ" สั่งทุกพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรเพาะปลูก-ผลิตประปา "สสนก." เตือน 18 เขื่อนใหญ่ปริมาณน้ำวิกฤติ "ฝ่ายค้าน" จี้ รบ.ต้องจริงจัง ห่วงอีสานฝนทิ้งช่วงนาน แนะเร่งทำฝนเทียมเพิ่มขึ้น

    เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.เกษตรและสหกรณ์) กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ จะเดินทางเข้ากระทรวงเพื่อพูดคุยกับผู้บริหารกระทรวงในเรื่องเร่งด่วน เช่น เรื่องเตรียมการป้องกันภัยแล้ง เรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้สมดุลไม่เดือดร้อน และเรื่องโรคระบาดในพืชและสัตว์ รวมถึงเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและเรื่องประมง 
    นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าหรือหลังแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 25 ก.ค. จะแบ่งงานและหน้าที่ความรับผิดชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง 3 คน ซึ่งในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ข้อที่ 12 มีเรื่องการบริหารจัดการภัยแล้งเป็นเรื่องเร่งด่วนเพิ่มขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงชัดเจนแล้วว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจทั้งรัฐบาล ไม่เฉพาะกระทรวงเกษตรฯ อย่างเดียว 
    "ขณะเดียวกัน แต่ละกรม หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบเรื่องใด ถ้าเป็นเรื่องด่วนให้ทำทันที เช่น โรคราใบด่างในมันสำปะหลัง ซึ่งระบาดแล้วต้องหามาตรการกำจัดและป้องกัน ส่วนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แม้ยังไม่ระบาดมาถึงประเทศไทย แต่ต้องเตรียมรับมือป้องกัน ซึ่งทุกเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วนทั้งหมด และสามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้” รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว
    ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลายจังหวัดประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง จึงสั่งการให้สำนักงานโครงการชลประทานทั่วประเทศช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่โดยด่วน ได้แก่ ตัวเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานชลประทานที่ 8 เร่งวางแนวทางจัดหาแหล่งน้ำช่วยผลิตประปา ด้วยการขุดร่องชักน้ำเข้าสู่หัวงานของการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมกับสูบน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด-ห้วยจระเข้มาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบ 
น้ำ 18 เขื่อนใหญ่วิกฤติ
    นอกจากนี้ ยังเตรียมผันน้ำผ่านทางลำจังหัน-ลำนางรอง ไปช่วยอีกประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง สำนักงานชลประทานที่ 6 เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นวันละ 800,000 ลบ.ม., เขื่อนร้อยเอ็ด เป็นวันละ 350,000 ลบ.ม. และเขื่อนมหาสารคามอีกวันละ 400,000-450,000  ลบ.ม. เพื่อเติมให้กับแม่น้ำชีเหนือเขื่อนวังยาง รวมถึงหยุดสูบน้ำที่สถานีเขื่อนวังยางตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.เป็นต้นมา และยังนำเครื่องจักร-เครื่องมือเข้าไปขุดเปิดร่องชักน้ำ กำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนดินบริเวณด้านท้ายเขื่อนร้อยเอ็ด ส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีตอนล่างเริ่มดีขึ้น  
    นายทองเปลวกล่าวว่า โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ได้รายงานผลการติดตามสถานการณ์น้ำและการทำงานของเครื่องสูบน้ำของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) เขื่อนสิริกิติ์ 4 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน 2 เครื่อง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งพื้นที่อพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์ในเขตอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อสูบน้ำส่งให้พื้นที่การเกษตรที่น้ำส่งไม่ถึง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ โดยคาดว่าจะสูบน้ำช่วยเหลือต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน ที่จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 นำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง ติดตั้งและสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี 1,000 ไร่ ในพื้นที่บ้านสะกาด ตำบลรังกา และบ้านวังหิน บ้านขี้เหล็ก ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย 
    ส่วนโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา สนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 1 คัน เพื่อนำน้ำดิบไปจ่ายเข้าระบบผลิตน้ำประปาหมู่บ้านในหมู่ที่ 9 บ้านเขาจันทร์ ตำบลทุ่งพระยา อำเภอสนามชัยเขต 4 เที่ยวแล้วเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีอยู่ 154 ครัวเรือน ประชากร 523 คน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำสะสมตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 792,000 ลิตร โดยจะช่วยเหลือไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
    อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานทั้งประเทศ ซึ่งวางแผนเพาะปลูกรวม 16.68 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 10.77 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64.55 ของแผน ส่วนลุ่มเจ้าพระยา วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปีรวม 7.71 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 6.09 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 78.97 ของแผน จากสภาวะฝนทิ้งช่วงคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำปิงที่สถานี P.17 อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับลุ่มน้ำน่านที่สถานี N.67 อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีแนวโน้มลดลง ทำให้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีแนวโน้มลดลง 
    "เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก กรมชลประทานจะส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนแต่ละพื้นที่ รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งหมดสูบน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ได้เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำพร้อมสนับสนุนในพื้นที่ที่ต้องการทันที และมาตรการสำคัญที่สุดคือให้โครงการชลประทานทุกแห่งเร่งทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว 
    ด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 18 เขื่อน มีน้ำใช้การน้อยขั้นวิกฤติ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ (-0%), เขื่อนสิรินธร (2%), เขื่อนป่าสักฯ (5%), เขื่อนจุฬาภรณ์ (5%), เขื่อนคลองสียัด(6%), เขื่อนสิริกิติ์ (6%), เขื่อนภูมิพล (7%), เขื่อนกระเสียว (9%), เขื่อนแควน้อย (11%), เขื่อนแม่กวง(12%), เขื่อนขุนด่านปราการชล (13%), เขื่อนทับเสลา (13%), เขื่อนลำพระเพลิง (14%), เขื่อนน้ำพุง(15%), เขื่อนนฤบดินทรจินดา (16%), เขื่อนวชิราลงกรณ (17%), เขื่อนห้วยหลวง (18%) และเขื่อนศรีนครินทร์ (19%)
ฝ่ายค้านจี้เร่งแก้ภัยแล้ง
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรที่มีอาชีพเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบางจังหวัด กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก อันเนื่องมาจากภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ซึ่งปีนี้รุนแรงหนักสุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องรีบลงไปหาทางแก้ไขวิกฤติโดยเร่งด่วนที่สุด 
    "สิ่งที่เกษตรกรอยากได้ก็คือ การส่งเครื่องบินมาทำฝนเทียมเพื่อให้ฝนตกภายใน 2-3 วันนี้ เพื่อไม่ข้าวและพืชไร่ต่างๆ แห้งเหี่ยวเฉาตายและเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน พร้อมกันนี้เสนอให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่จะเดินทางไปกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ในวันที่ 20 ก.ค. ได้ลงไปดูพื้นที่แห้งแล้ง และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านด้วย" รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าว
    ที่เทศบาลตำหินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด นายคารม พลพรกลาง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ร่วมหารือในหัวข้อ "การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วย" 
    นายคารมกล่าวว่า ได้รับเชิญแบบไม่เป็นทางการจากอดีตเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด และอดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหนึ่ง ให้ไปร่วมหารือในกิจกรรมนี้ ซึ่งจัดโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน เข้าร่วมกว่า 500 คน ทั้งนี้ ได้รับคำอธิบายในเรื่องการทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ขณะนี้ว่าทำไม่ได้อย่างไรบ้าง หรือทำได้แต่ฝนตกไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างไร เพราะอะไร แต่ที่ไม่เข้าใจคือการที่พาชาวบ้านขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินดูสภาพความแห้งแล้ง ซึ่งไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็พบแต่ความแห้งแล้งเห็นชัดเจนอยู่แล้ว
    "ในฐานะ ส.ส.และเป็นคนในพื้นที่ เท่าที่ได้ไปร่วมฟังในวันนี้ พบว่าราชการไม่ได้มีการนำเสนอการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเลย ควรขุดบ่อเก็บกักน้ำอย่างไร โครงการโขง ชี มูล ควรมีการนำกลับมาศึกษาหรือไม่ ตรงนี้ไม่มีการพูดถึง ปัญหาเรื่องภัยแล้งในภาคอีสานตอนนี้ ภาครัฐต้องเอาจริงเอาจังได้แล้ว ภัยแล้งปีนี้หนักที่สุดในหลายสิบปี ตอนนี้เกษตรกรต้องพึ่งตัวเอง ยังไม่เห็นราชการให้ความช่วยเหลือ ที่ห่วงนอกจากภาคการเกษตรแล้ว ตอนนี้จะลามไปสู่เรื่องน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนด้วย" นายคารมกล่าว
    ส.ส.พรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า นี่คือบทพิสูจน์แรกของรัฐบาลชุดใหม่ คือสิ่งที่ 4 รัฐมนตรีของกระทรวงเกษตรฯ ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนเลยคือแผนเผชิญเหตุ ที่อาจจะมีนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ นั่งหัวโต๊ะ และนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกัน เพราะสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติแล้ว ต้องมีการตั้งวอร์รูมสำหรับประเมินพื้นที่ สถานการณ์แหล่งน้ำตามที่ต่างๆ, ประเมินสถานการณ์ฝน, พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงการเข้าให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการทำฝนเทียม หรือแม้แต่รถบรรทุกน้ำสำรองที่เข้าไปถึงบ้านเรือนประชาชน รวมถึงต้องเยียวยาผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรที่เสียหายและราคาผลผลิตตกต่ำด้วย ส่วนระยะยาวต้องคิดถึงแผนการจัดการน้ำที่เป็นระบบ การขุดลอกแม่น้ำลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"