รัฐบาลสหรัฐประกาศห้ามพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.เมียนมา และนายพลอีก 3 คน พร้อมครอบครัวของนายทหารเหล่านี้เดินทางเข้าสหรัฐ สืบเนื่องจากบทบาทของนายพลทั้ง 4 ในการ "กวาดล้างเผ่าพันธุ์" ชาวมุสลิมโรฮีนจา
แฟ้มภาพ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย / AFP
เอเอฟพีรายงานเมื่อวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2562 ว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอ้างว่าใช้มาตรการลงโทษนายพลเมียนมาทั้ง 4 คนในครั้งนี้ หลังจากมีหลักฐานน่าเชื่อถือว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับความรุนแรงเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ทำให้ชาวโรฮีนจาประมาณ 740,000 คนหนีข้ามพรมแดนเข้าสู่บังกลาเทศ
ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคารว่า การสั่งห้ามบุคคลเหล่านี้เข้าสหรัฐ ทำให้รัฐบาลสหรัฐเป็นรัฐบาลแรกในโลกที่ดำเนินการอย่างเปิดเผยกับผู้นำระดับอาวุโสที่สุดของกองทัพเมียนมา
"เรายังคงกังวลว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อนำตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดและการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ และยังคงมีรายงานต่อเนื่องด้วยว่ากองทัพพม่าก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนและล่วงละเมิดทั่วประเทศ" ปอมเปโอกล่าวในแถลงการณ์
นอกจากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาแล้ว อีก 3 คนได้แก่ พลเอกโซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลจัตวาถั่น อู และพลจัตวาอ่อง อ่อง รวมไปถึงครอบครัวของนายพลทั้งสี่
ปอมเปโอซึ่งออกแถลงการณ์ครั้งนี้ระหว่างการประชุมกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนา ตอกย้ำผลการสอบสวนเมื่อปี 2560 ของเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐว่า การเข่นฆ่าชาวโรฮีนจาในพม่าเป็น "การกวาดล้างเผ่าพันธุ์" โดยเขาเลี่ยงใช้คำ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ตามที่ผู้แทนสอบสวนขององค์การสหประชาชาติเรียกขานเหตุการณ์ที่เกิดในรัฐยะไข่ของเมียนมา ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ได้เริ่มการไต่สวนเบื้องต้นแล้ว
การแซงก์ชันของสหรัฐไม่ส่งผลถึงนางอองซาน ซูจี แต่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อบอกว่า สหรัฐหวังว่าการดำเนินการครั้งนี้จะช่วยให้รัฐบาลพลเรือนแข็งแกร่งขึ้น และลดความชอบธรรมของผู้นำกองทัพยิ่งขึ้น
เอริน เมอร์ฟี อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่เคยทำงานใกล้ชิดด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเมียนมา กล่าวว่า คำสั่งห้ามเข้าสหรัฐแม้จะไม่กระทบพวกนายพลโดยตรงเท่าใดนัก แต่จะส่งผลถึงลูกหรือหลานของพวกเขาที่ต้องการเดินทางมาสหรัฐเพื่อท่องเที่ยวหรือศึกษา
กระนั้นแม้เธอจะเห็นว่าการห้ามเข้าสหรัฐเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เธอก็ไม่มั่นใจว่ามันจะเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชาวโรฮีนจาได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |