ล้างมรดก คสช.=ดับอนาคตใหม่


เพิ่มเพื่อน    

    ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ?     
    เป็นข่าวใหญ่โตว่า ประชาธิปัตย์ถูกหักหลัง  
    เพราะนโยบายรัฐบาล ไม่พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประชาธิปัตย์เสนอ
    หรือถ้ามี ก็ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน 
    ปัญหาปากท้องต่างหาก ที่ต้องลงมือทำในทันที 
    แล้วประชาธิปัตย์ต้องการแก้มาตราไหน มีความสำคัญอย่างไร
    ประชาธิปัตย์ยืนกรานมาตลอดตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งเข้าร่วมรัฐบาลว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ ในปีแรกของการร่วมรัฐบาล
    แก้ไขเพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น!
    จากเดิมที่ทำได้ยากมาก
    ยากอย่างไร....
-----------
    มาตรา ๒๕๖ ระบุให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทําได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
    (๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
    (๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
    (๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
    (๔) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย
    (๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
    (๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
    (๗) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (๖) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
    (๘) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ หรือหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (๗) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (๗) ต่อไป
    (๙) ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (๗) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม  (๗) ขัดต่อมาตรา ๒๕๕ หรือมีลักษณะตาม (๘) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้
--------------
    ประชาธิปัตย์ ต้องการลดเงื่อนไขเพื่อให้การขอแก้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๖๐ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้น  
    แต่เป็นเรื่องด่วนสำหรับรัฐบาลที่กำลังตั้งไข่หรือไม่ยังคงเป็นคำถาม? 
    หากแต่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับพรรคร่วมฝ่ายค้านเสียมากกว่า 
    เร่งด่วนทั้งในแง่เปิดเกมโจมตีรัฐบาล 
    และเร่งด่วนในแง่การสร้างเกมในสภา 
    พรรคเพื่อไทยต้องการแก้ประเด็นไหน 
    ฟังจาก "ภูมิธรรม เวชยชัย" ที่ต้องแก้ทันทีคือเลิกให้ ส.ว. ๒๕๐ คนเลือกนายกฯ 
    หากแก้ประเด็นนี้สำเร็จ เลือกตั้งครั้งถัดไป ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเลือกกันในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น 
    โอกาสกลับเข้าบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทย เปิดกว้างทันที 
    อีกประเด็นของเพื่อไทยคือ แก้ไขระบบเลือกตั้ง รื้อสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ เพราะเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 
    เพื่อไทย ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้คนเดียว แกนนำพรรคตกงานทั้งหมด 
    ส่วนอนาคตใหม่ ออกตัวแรงกว่าใคร เป้าหมายคือล้างทุกอย่างที่เป็น คสช. 
    เริ่มตั้งแต่ยกเลิกมาตรา ๒๗๒ และมาตรา ๒๗๙ 
    มาตรา ๒๗๒ ให้อำนาจวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช.เลือกนายกรัฐมนตรี
    มาตรา ๒๗๙ รับรองให้การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของ คสช.และหัวหน้า คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ๖๐ และชอบด้วยกฎหมาย
    อนาคตใหม่มีข้อเสนอที่เหมือนกับประชาธิปัตย์ คือแก้ไขมาตรา ๒๕๖ เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ง่ายขึ้น
    ระบบเลือกตั้งที่ก่นด่ากันมาตลอด อนาคตใหม่ ไม่พูดถึง 
    ฉะนั้นมีความต่างระหว่างเพื่อไทยกับอนาคตใหม่
    ย้ำกันอีกครั้ง อนาคตใหม่ คือพรรคที่ได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ มากที่สุด 
    การคำนวณเสียงไม่ทิ้งน้ำ ทำให้อนาคตใหม่ได้จำนวน ส.ส.เกินจริง!
    ๘๑ เสียงของอนาคตใหม่จะลดฮวบไปทันทีครึ่งหนึ่ง หากใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐  หรือ ๒๕๔๐ 
    หากรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ คือมรดกบาปของ คสช.
    ก็เท่ากับว่า อนาคตใหม่ กอดมรดกบาป คสช.ในส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์อยู่ 
    นั่นเพราะนับแต่ผลการเลือกตั้งออกมา ยังไม่มีใครในอนาคตใหม่ แสดงเจตจำนงว่า จะแก้ระบบเลือกตั้งกลับไปใช้ระบบเดิม แยกบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 
    ที่สำคัญกลับไปใช้วิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม 
    ยังไม่มี!
    ปิยบุตร แสงกนกกุล พูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาเกือบทั้งฉบับแล้ว 
    แต่ไม่ยอมแตะระบบเลือกตั้ง ส.ส.
    สุดท้ายแล้วจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญในทันทีหรือไม่ ประเทศจะวิบัติหรือไม่หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้นในปีสองปีนี้ 
    หากจะแก้ควรเป็นประเด็นไหน 
    ประเด็น ส.ว.เลือกนายกฯ เหลือเวลาอีก ๓ ปี บทเฉพาะกาลนี้ก็สิ้นสภาพไปโดยปริยาย 
    เพื่อไทยกับอนาคตใหม่ดิ้นจะแก้ไขในเวลานี้ก็ไร้ประโยชน์ 
    เพราะแม้ ๒ พรรคนี้เสียงรวมกันเกิน ๑ ใน ๕ ของสภาผู้แทนฯ คือ ๑๐๐ เสียง สามารถเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ 
    แล้วจะเอาเสียงสนับสนุนจากไหนยกมือให้ผ่านวาระแรก ที่ต้องใช้เสียงมากถึง ๓๗๕ เสียง หรือกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา 
    และที่สำคัญในจำนวนนั้น ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของวุฒิสภา หรือ ๘๕ เสียงขึ้นไป
    ฉะนั้นการแก้ไขประเด็นนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลย     
    แต่ความเป็นไปได้ มีมากขึ้น หากแก้ไขในประเด็นอื่นเพราะหลายพรรคการเมืองพร้อมจะให้ความร่วมมือ 
    นั่นคือระบบเลือกตั้ง ส.ส.
    คำถามไปถึงพรรคการเมือง หากจริงใจที่จะแก้ปัญหาความสับสนวุ่นวายกับการเลือกตั้ง และการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ นี่คือทางออก
    ความจริงที่ปรากฏอยู่ขณะนี้คือ อนาคตใหม่ พูดแต่เรื่องที่ปฏิบัติจริงไม่ได้ 
    พร่ำเพ้ออยู่กับวาทกรรม ล้างมรดก คสช. ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ เพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด 
    วันนี้ คสช.เป็นอดีตไปแล้ว 
    และในวันสุดท้ายของ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวอำลาไว้ว่า
    "บัดนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่ขั้นตอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ได้รับหลักประกันคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขตามกฎเกณฑ์ปกติในระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ อีกต่อไป" 
    การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์ปกติ 
    แล้วอนาคตใหม่พร้อมล้างมรดก คสช. ด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.แล้วหรือยัง.
                                    ผักกาดหอม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"