ไม่มีอำนาจพิเศษอีก 'บิ๊กตู่'อำลาเก้าอี้เก่าเข้าสู่ขั้นตอนปชต.โดยสมบูรณ์


เพิ่มเพื่อน    


    “ประยุทธ์” ออกทีวีพูลอำลาเก้าอี้นายกฯ คนเดิมและหัวหน้า คสช. ย้ำต่อไปจะไม่มีอำนาจพิเศษ หากการแก้ไขล่าช้าต้องอดทนเพราะต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ ชี้ 16 ก.ค. ครม.จะได้เห็นร่างนโยบายสุดท้ายก่อนส่งพิมพ์ เผยมีแก้รัฐธรรมนูญที่เขียนแบบกว้างๆ บิ๊กตู่ยกมือหนุนแต่ต้องทำตามขั้นตอน เตือนผู้ทรงเกียรติทำหน้าที่ให้ตรงวาระ อย่าอภิปรายไม่ไว้วางใจเดี๋ยวของขึ้น “วิษณุ” ชี้เป็นยุคใหม่ที่ต้องบอกที่มาของรายได้ “จุติ” เผยแก้ปากท้องด่วนและสำคัญที่สุด โลกสวยไว้ทีหลัง “ธนาธร” รับชำเรารัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาหลายปี!  
    เมื่อวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม หลังเคารพธงชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเพื่ออำลาการสิ้นสุดปฏิบัติหน้าที่ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่  10 ก.ค.อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ บัดนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ครม.ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 ก.ค. 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า แม้จะเป็นการเริ่มการปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินหรือดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามหน้าที่และอำนาจได้เต็มที่จนกว่าจะแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาแล้ว ซึ่งคาดว่าทุกขั้นตอนจะสำเร็จเรียบร้อยลงได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง การแก้ปัญหาสังคม การแก้ปัญหาการปกครอง และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศทุกกลุ่มอาชีพต่างรอคอย ก็จะได้รับการสานต่อและเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา 
    “ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เมื่อ ครม.ใหม่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณและรับหน้าที่แล้ว ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนหน้านั้น และ คสช.จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลง ดังนั้น คสช.และ ครม.เดิมจะสิ้นสุดภารกิจและการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 16 ก.ค. ซึ่งในฐานะหัวหน้า คสช.และนายกฯ คณะเดิม จึงขอถือโอกาสนี้อำลาพี่น้องประชาชนทั้งหลายและขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ขั้นตอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพต่างๆ ได้รับหลักประกันคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขตามกฎเกณฑ์ปกติในระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ อีกต่อไป แม้การปกครองเช่นนี้อาจล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของประชาชนบางกลุ่มบ้าง อาจติดขัดที่ขั้นตอนกฎหมาย การเมือง และงบประมาณบ้าง แต่ก็เป็นไปตามครรลองของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนทุกฝ่ายต้องเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อดทน อดกลั้น ไม่ขัดแย้งรุนแรง มีเหตุผล มีวินัย เคารพเสียงข้างมาก ยึดมั่นในธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม โดยคำนึงถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทย 
    “ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของรัฐให้ความร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ ฝ่ายนิติบัญญัติใหม่ ในอันที่จะรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทยให้คงไว้ รวมทั้งสร้างความรัก ความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ จิตอาสา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติสืบไป” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย
ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม ครม.นัดพิเศษส่งท้าย โดยก่อนประชุมนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาศ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งถึงกำหนดการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ในเวลา 18.00 น.วันที่ 16 ก.ค.นั้น ได้เปลี่ยนเป็นเวลา 17.00 น. 
รื้อ รธน.เขียนกว้างๆ
    มีรายงานว่าในการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้นำร่างนโยบายรัฐบาลที่ต้องแถลงต่อรัฐสภาเข้าหารือที่ประชุม เพื่อสอบถามความคิดเห็นว่ามีเรื่องใดที่อยากให้เพิ่มเติมหรือไม่ และอยากให้ช่วยแสดงความคิดเห็นในฐานะได้ดำเนินงานมาในฐานะรัฐบาลเก่า โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมรับฟังด้วย เพราะต้องนำร่างนโยบายรัฐบาลไปปรับปรุงถ้อยคำให้เกิดความถูกต้อง 
    สำหรับร่างนโยบายรัฐบาลที่นายกฯ แถลงนั้นจะเป็นร่างนโยบายในกรอบกว้างๆ ที่เน้นย้ำแนวทางการทำงานรัฐบาล โดยต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยและนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจิดิจิทัล ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หารือกันว่าจะระบุไว้ แต่จะใช้คำพูดกว้างๆ ที่ทุกฝ่ายรับได้ 
    ต่อมาเวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงถึงการประชุมว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เป็นเพียงการรับทราบความก้าวหน้าของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพราะรอไม่ได้มากนัก เราต้องรับทราบว่าได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อสานต่อไปยังรัฐบาลหน้าที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 16 ก.ค.หลังถวายสัตย์ปฏิญาณ จะได้ไม่เสียเวลาในการทำงาน 
    “ได้เล่าให้ ครม.ฟัง ให้รับทราบว่าสิ่งที่รัฐมนตรีหลายคนทั้งที่ออกไปก่อนหน้านี้และที่อยู่ในวันนี้ได้รับทราบ ว่าผมจะดำเนินการต่างๆ ให้ไปตามเจตนารมณ์ที่ได้ทำกันไว้ และเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ที่ต้องทำต่อไป รัฐบาลเก่าก็ยุติการปฏิบัติหน้าที่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่า คำว่านโยบายของรัฐบาลนั้นทุกคนต้องเข้าใจว่าถือเป็นแบบฟอร์มหนึ่ง ซึ่งเหมือนกรอบการทำงานที่จะตอบรับการทำงานของทุกพรรคการเมือง และรัฐมนตรีที่มาทำงานร่วมกัน แต่ต้องมีมาตรการหลายเรื่องที่ต้องระมัดระวัง นโยบายที่จะทำนั้นต้องสอดคล้องกับงานด้านความมั่นคง แผนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูป โดยจะมีทั้งนโยบายเร่งด่วนและระยะยาวที่ต้องดำเนินการ จึงขอให้ทุกคนเข้าใจ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การแถลงนโยบายกำหนดไว้วันที่ 25 ก.ค. ยังคงเป็นไปตามนั้น ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องการแถลงนโยบายและเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น  ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นคนละเรื่องคนละวาระกัน ขอกราบเรียนสมาชิกผู้ทรงเกียรติต่างๆ ไว้ด้วย เพราะเห็นว่าหลายอย่างยังไม่ตรงกับหน้าที่ในการทำงาน มันไม่ใช่เรื่องการอภิปรายการทำงานของรัฐบาล ถือเป็นคนละเรื่อง 
    “ผมเคารพทุกคนให้เกียรติทุกคนเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล และให้เกียรติประชาชนที่เลือกพวกท่านเข้ามาด้วย เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญของผม ซึ่งขณะนี้ร่างนโยบายที่จะแถลงนั้นถึงมือเรียบร้อยแล้ว โดยกำลังปรับแก้อยู่ ส่วนจะใช้เวลาแถลงนโยบายกี่วันนั้นคงต้องหาหรือร่วมกัน ซึ่งหลายเรื่องผมต้องสงวนคำพูดไว้บ้าง โดยบางอย่างต้องหารือได้ ส่วนจะมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดแถลงนโยบายบ้างนั้น รัฐมนตรีทั้ง 36 คนต้องไปร่วมประชุมด้วยกันอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามว่าเห็นว่าไม่มีการบรรจุประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่ายังไม่มีอะไรเลย จะร่างอะไรออกมาเดี๋ยวก็รู้เอง และเมื่อถามย้ำว่าสรุปจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า พร้อมสนับสนุนให้มีการดำเนินการแก้ไขทุกกฎหมาย เพราะกฎหมายบางฉบับก็มีปัญหาอยู่ ต้องไปว่ากันตามกระบวนการขั้นตอน ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับใคร วันนี้เราเป็นรัฐบาลของประเทศ
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการประชุม ครม.ใหม่ในวันที่ 16 ก.ค.ว่า ยังไม่ทราบว่าจะตั้งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเลยหรือไม่ ซึ่งปกติจะตั้งทันทีที่ประชุม ครม.นัดแรก ส่วนการแบ่งงานของรองนายกฯ คงยังไม่ดำเนินการ แต่ปกติในหลายสมัยจะพูดถึงนโยบายรัฐบาล การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง การแต่งตั้งโฆษกประจำสำนักนายกฯ พร้อมแจ้งกำหนดการต่างๆ ที่ ครม.ชุดใหม่ต้องรับผิดชอบ เช่น งานวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น 
ต้องสอดคล้อง 4 ปัจจัย
    นายวิษณุกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลว่ายังไม่ได้เห็นร่างนโยบายที่จะแถลง โดยจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 16 ก.ค.นี้เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนที่จะส่งพิมพ์ในวันที่ 17 ก.ค. และแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นโยบายของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับ 4 ส่วน คือ หน้าที่ของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ แนวนโยบายของรัฐ นโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ และต้องระบุถึงแหล่งที่มาของงบประมาณด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องบอกถึงขั้นว่าจะใช้งบประมาณเท่าใด สามารถบอกเพียงว่าจะหางบประมาณจากไหน เช่น การเก็บภาษี การขึ้นภาษี หรือการกู้ เป็นต้น
    ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลขอให้บรรจุในนโยบายว่า จะแก้หรือไม่แก้ต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย โดยนายกฯ ได้บอกไว้  ซึ่งหน่วยงานใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขก็ให้ไปดำเนินการ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน 
    ซักต่อว่า แสดงว่ารัฐบาลจะไม่ตั้งเรื่องนี้เข้าไปในนโยบายใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลจะตั้งได้อย่างไร รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ คิดว่าให้ภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการแก้เข้ามาเสนอดีกว่า จะให้ตอบว่ารัฐบาลจะเสนอหรือไม่นั้น ไม่ตอบเพราะยังไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาล  
    เมื่อถามว่า หากรัฐสภาเสนอมาจะกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่าไม่รู้ และไม่เห็นจะเป็นอะไร ถ้าเสนอมาเราก็ต้องรับ คนที่เป็นรัฐบาลคือผู้ที่มาใช้อำนาจรัฐ ถ้าเลือกตั้งใหม่ก็เปลี่ยน  โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจล่มไปก็ต้องเปลี่ยน ใครจะใช้อำนาจรัฐก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบนี้ ถ้าใครจะแก้รัฐธรรมนูญก็มีกลไกอยู่แล้ว และคนในรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก 
    “ผมไม่ได้พูดนะว่าบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในนโยบายรัฐบาล อย่ามั่ว เพราะนายกฯ เพียงบอกว่ารัฐบาลให้การสนับสนุน อย่าเอาผมไปเป็นเชลย ผมพยายามอธิบายให้ฟัง และหากกระบวนการต้องทำประชามติก็ต้องทำ ต้องถามประชาชนก่อน ใครจะแก้ก็ต้องทำประชามติก่อน ซึ่งต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายมากมาย” รมว.มหาดไทยกล่าว
    เมื่อถามว่า พรรคการเมืองใช้เป็นนโยบายหาเสียง จะทำให้เขาลำบากใจหรือไม่หากไม่ชัดเจน พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่าขอให้ไปถามพรรคการเมืองดีกว่า แต่ถ้าให้ตอบก็คงคิดว่าไม่ เพราะคนทำงานร่วมกันต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน มีนโยบายอะไรก็ต้องมาพูดคุยกัน ต้องมีจุดที่ยอมรับร่วมกันว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร ซึ่งนโยบายต้องเขียนออกมาให้ทุกคนในพรรคและรัฐบาลยอมรับ โดยต้องดูในภาพกว้างด้วย ถ้าจะถามว่าลำบากใจหรือไม่ให้ไปถามเขาดีกว่า 
    นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเรื่องนี้ว่า ยังเชื่อมั่นว่าจะรักษาคำพูดตามเงื่อนไขที่คุยกัน โดยต้องดูร่างนโยบายรัฐบาลร่างสุดท้ายก่อนที่จะเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณาที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมสภา คาดว่าในวันที่ 16 ก.ค.จะได้เห็นร่างนี้ จึงต้องดูสาระและการระบุถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในนโยบายรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร ยังไม่ขอวิจารณ์เพราะต้องให้เกียรติกัน ทำงานการเมืองสำคัญที่คำพูด ซึ่งได้เรียนหัวหน้าพรรค ปชป.คร่าวๆ แล้ว   
แก้ปากท้องสำคัญที่สุด  
    เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคหลักรวมหัวกันหักพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้จะทำอย่างไร นายนิพนธ์กล่าวว่า ทำงานการเมืองร่วมกัน ขั้วเดียวกันต้องให้เกียรติกัน รักษาคำพูด ในชั้นนี้เป็นเพียงข่าวในหน้าสื่อรายงานมา จึงต้องขอให้เห็นร่างสุดท้ายก่อน
    นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากพรรคไปร่วมร่างนโยบายรัฐบาล ยืนยันว่ามีการบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในร่างนโยบายรัฐบาล ส่วนรายละเอียดทั้งหมดนั้นยังไม่เห็น ซึ่งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคงต้องฟังเสียงจากประชาชนและสามารถตอบสังคมได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ทราบว่าจะนำเข้าไปคุยในที่ประชุม ครม.นัดแรกหรือไม่ 
    ต่อข้อถามว่า ถ้าพรรคถูกหลอกให้เข้าร่วมรัฐบาลแล้วหักหลังไม่ทำตามเงื่อนไข นายจุติสวนว่าไม่มีคำว่าถ้า และขณะนี้เห็นว่าทุกฝ่ายควรมุ่งไปแก้ปัญหาปากท้องประชาชนก่อน เพราะปัญหาปากท้องไม่มีเวลามาทะเลาะ ไม่มีเวลาน้อยใจ เพราะเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือเรื่องปากท้องประชาชน ภารกิจหลักของรัฐบาลชุดนี้คือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องเร่งร่วมมือบูรณาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
    “ถ้าสร้างบ้านประชาธิปไตยให้สวย แต่คนในบ้านอดอยากตายกันหมดก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน แต่ปัญหาปากท้องและปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนที่สุดและสำคัญที่สุด” นายจุติกล่าว 
    สำหรับความเคลื่อนไหวในการแบ่งงานของรัฐมนตรีต่างๆ นั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวถึงการแบ่งงาน 2 รมช.ว่า หลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วคงประชุมกันเพื่อแบ่งงาน ซึ่งเชื่อว่าจะทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะเป็นคนมีประสบการณ์ และที่สำคัญมาจากพรรคการเมืองซึ่งรู้ความต้องการของพื้นที่ เราจะมาทำงานเติมเต็มกันเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน หลายหัวคงดีกว่าหัวเดียว
    “ในวันที่ 18 ก.ค.จะมีการปฐมนิเทศรัฐมนตรีช่วยคนใหม่ โดยกระทรวงมหาดไทยทั้งกระทรวง ซึ่งจะพูดคุยสรุปให้ รมช.ใหม่ฟังว่ามีหน้าที่และภารกิจอะไรบ้าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ รมช.ใหม่ทั้งสองคนได้สอบถามเกี่ยวกับการทำงานด้วย จากนั้นจะเริ่มทำงานทันที โดยจะนำ รมช.ใหม่ลงพื้นที่ตรวจราชการ 6  กรม 7 รัฐวิสาหกิจในสังกัด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน โดยมีหลักการทำงานคือ ทำงานร่วมกัน  เติมเต็มกันทางด้านความคิด และช่วยกันบริหารงานให้ประชาชนได้ประโยชน์” พล.อ.อนุพงษ์กล่าวและว่ามีแผนการแบ่งงานในใจอยู่แล้ว แต่ขอให้มีการหารือกับ รมช.ทั้ง 2 คนก่อนจึงจะได้ข้อสรุป 
    ขณะที่ทีมงานส่วนตัวของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เข้ามาดูการจัดเตรียมสถานที่ห้องทำงาน ภายในสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 9 ของกระทรวงยุติธรรม ภายในศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะแล้ว โดยในห้องทำงานรัฐมนตรีเน้นความเรียบง่าย แต่ให้มีน้ำพุมาตั้งเป็นฮวงจุ้ย และขอให้เตรียมกล้วยน้ำว้าและน้ำดื่มบรรจุขวดไว้ด้วย โดยนายสมศักดิ์มีกำหนดจะเดินทางเข้าทำงานที่กระทรวงในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ในเวลา 08.19 น.จะเข้าสักการะศาลพระพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ จากนั้นจะถือฤกษ์ 08.29 น.เข้าสักการะพระพุทธรูปประจำกระทรวงที่ห้องพระชั้น 2 และสักการะพระพุทธรูปที่ห้องพระภายในสำนักงานรัฐมนตรี จากนั้นเวลา 10.00 น.จะประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม 
จองคิวกฐินนโยบายแล้ว
    ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ว่าที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทย  (พท.) กล่าวว่า พรรคต้องเตรียมหารือถึงการอภิปรายในการแถลงนโยบายของรัฐบาลในช่วงวันที่ 25-27  ก.ค. เพราะขณะนี้เหลือเวลาไม่มาก โดยเราให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาของประชาชนในขณะนี้คือสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย รวยกระจุกจนกระจาย ซึ่งเราจะทำหน้าที่ตรวจสอบในทุกเรื่อง  และหลังจากการแถลงนโยบายแล้ว การบริหารงานจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายค้านให้ความสำคัญ 
    “ได้มีการวางตัวบุคคลที่จะอภิปรายนโยบายของรัฐบาลไว้แล้ว ยืนยันว่าจะไม่มีการตีรวน และจะขอหารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งจะประชุมร่วมกันในเร็ววันนี้ด้วย ขณะเดียวกันก็จะรอรัฐบาลส่งรายละเอียดของนโยบายมาด้วย เพื่อจะได้พิจารณารายละเอียดว่าต้องอภิปรายในเรื่องใดบ้าง โดยผมจะเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายที่จะพูดถึงภาพรวมทั้งหมดของนโยบายว่าเป็นไปตามที่หาเสียงกับประชาชนหรือไม่” น.อ.อนุดิษฐ์ระบุ
     เขากล่าวอีกว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นประเด็นที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งหากได้ข้อตกลงชัดเจนก็น่าจะเดินหน้าแก้ไขในบางมาตราได้ แต่สิ่งสำคัญต้องขึ้นอยู่กับประชาชนทั้งประเทศ ว่าจะเห็นชอบและเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้หรือไม่ ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีบางรายนั้น กรณีนี้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่ต้องเป็นผู้พิจารณา ว่ารัฐมนตรีท่านนั้นๆ มีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ และต้องตอบข้อสงสัยของประชาชนให้ได้ ซึ่งหากตอบไม่ได้จะทำให้ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านสงสัย  และประเด็นนี้จะเป็นปัญหา และต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
    นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวถึงร่างนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วน เพราะจะทำให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.หลุดจากคดีว่า ไม่แปลกใจ เพราะต่างก็รู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อใคร ฝ่ายรัฐบาลที่ได้ประโยชน์จากกลไกในรัฐธรรมนูญก็ต้องไม่อยากแก้ไขเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนที่พาดพิงถึงนายธนาธรนั้นเป็นความหวาดกลัวกันไปเอง จากกรณีที่นายธนาธรต้องเดือดร้อนในแง่คุณสมบัติของ ส.ส.เรื่องถือหุ้นสื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่น่ามีปัญหา เพราะนายธนาธรดำเนินการโอนหุ้นก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีอะไรเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    "แม้รัฐบาลจะไม่ผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ 7 พรรคฝ่ายค้านก็จะเดินหน้ารณรงค์ขอมติมหาชนต่อไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องทางการเมืองด้วย เหมือนอย่างการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่กระแสสังคมพร้อมใจกันสนับสนุนกดดัน นักการเมืองก็ต้องทำตาม" นายชำนาญกล่าว
    นายชำนาญชี้ว่า การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ ครม.ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ประชาชนจะติดตามรับชมจำนวนมากว่า พรรคการเมืองที่ใช้นโยบายต่างๆ หาเสียงไว้จะได้รับการผลักดันหรือไม่ เช่น การขึ้นค่าแรง 425 บาท หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากทำไม่ได้ก็เท่ากับผิดสัญญาที่ให้ไว้ แล้วก็จะกลายเป็นตัวตลกไร้ความน่าเชื่อถือไปเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าการเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว จากเทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว
รับแก้ รธน.ใช้เวลาหลายปี!
    ขณะเดียวกัน เพจพรรคอนาคตใหม่ได้เผยแพร่ข้อความและภาพที่นายธนาธรและ น.ส.พรรณิการ์  วานิช โฆษกพรรค ได้รับเชิญไปร่วมบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “ประเทศไทยหลังเลือกตั้ง: มองไปสู่อนาคต” ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนหลายร้อยคนจนเต็มห้องประชุม โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและประชาชนชาวไทย ซึ่งบางส่วนเดินทางมาจากหลายประเทศในยุโรป รวมถึงเมืองต่างๆ ในสหราชอาณาจักร ซึ่ง น.ส.พรรณิการ์ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. จึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามกติกาประชาธิปไตยที่เป็นกลาง นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์น่ากังวลเกี่ยวกับการเมืองไทยอีก 3 ประการ คือ 1.การทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองซ้ำซากหลายครั้ง 2.การใช้ข่าวปลอม  วาทะสร้างความเกลียดชัง การบิดเบือนข้อมูล ทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคฝ่ายค้าน และ 3.การใช้คดีความในการสกัดกั้นพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรค อนค.ซึ่งมีคดีความและข้อร้องเรียนต่างๆ ต่อพรรคและแกนนำพรรคถึง 22 คดี ทั้งที่ก่อตั้งพรรคมาเพียง 1 ปี โดยคดีความส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง
    นายธนาธรกล่าวถึงการทำงานของพรรคว่า แม้อยู่ในฐานะฝ่ายค้าน แต่จะทำงานเต็มที่เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ให้เป็นจริง รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ที่ต้องการทำให้สำเร็จ เพื่อผลักดันการกระจายอำนาจและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในระดับท้องถิ่นโดยไม่ต้องรอได้เป็นรัฐบาล นอกจากนี้พรรคยังต้องการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำการเมืองท้องถิ่น จากการใช้เครือข่ายอุปถัมภ์เป็นหลัก ให้เป็นการแข่งขันเชิงนโยบายวิสัยทัศน์ นโยบาย และอุดมการณ์ทางการเมือง
    “พรรคเชื่อว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยควรทำผ่านรัฐสภา เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่แต่ค่อยเป็นค่อยไป เพราะนี่คือทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างสันติและยั่งยืน รวมถึงให้ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้อาจต้องใช้เวลาหลายปี ไม่เหมือนการทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่ทันที ทว่าหากเราต้องการได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน ได้การเปลี่ยนแปลงที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชน ก็ต้องเดินไปแนวทางนี้ไม่มีทางลัดอื่น” นายธนาธรระบุ
    วันเดียวกัน นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมบุคคลมาปรับทัศนคติไม่ได้ถูกยกเลิกไป แต่ปรับเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  เช่น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกปรับทัศนคติ ว่าเดิม คสช.เป็นคนเรียก เมื่อ คสช.หมดไม่อยู่แล้วจะทำอย่างไรต่อ ทั้งนี้ กอ.รมน.ไม่ใช่ทหาร เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย 
    เมื่อถามว่า การเรียกปรับทัศนคติรวมถึงการให้กักตัวด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่าไม่มี ไม่ใช่  ทุกวันนี้ก็มีเชิญไปปรับอยู่แล้ว คือขอร้อง อย่านะ แต่ไม่สามารถเอาไปควบคุมตัวได้ การจะคงอำนาจแบบนี้ไว้ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ดีกว่าเอะอะแล้วประกาศกฎอัยการศึก ไม่เช่นนั้นเขาก็จะประกาศกฎอัยการศึก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"