นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย 'กวีสองแผ่นดิน' ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือขบวนพยุหยาตราชลมารค
การเห่เรือในขบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นโบราณราชประเพณีอันยิ่งใหญ่แสดงถึงการเทิดทูนพระเกียรติยศสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ริ้วขบวนเรือมากมายตกแต่งวิจิตรงดงาม สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่าและมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งงานศิลปกรรมประติมากรรม จิตรกรรมและวรรณศิลป์ ซึ่งกาพย์เห่เรือเป็นส่วนหนึ่งของการเห่เรือที่แสดงชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีขบวนเรือพยุหยาตราชลมารคที่ยิ่งใหญ่ตระการตาเช่นอดีต
ขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 จะมีขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ซึ่งจะทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารคในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระราชพิธีเบื้องปลายและการจัดขบวนพยุหยาตราในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 10 เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเริ่มจากท่าวาสุกรีถึงวัดอรุณราชวราราม รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร ระหว่างเสด็จฯ จะมีการเห่เรือ ตามพระราชพิธีราชประเพณี
ขบวนพยุหยาตราชลมารคเทิดทูนพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์
"กาพย์เห่เรือ"เฉลิมพระเกียรติ เป็นบทประพันธ์ของนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยและศิลปินดีเด่นจังหวัดราชบุรี ผู้เคยประพันธ์กาพย์เห่เรือ เพื่อใช้ในขบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้ว 6 ครั้งประกอบด้วยกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษกในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรเสด็จถวายผ้าพระกฐินณวัดอรุณราชวรารามปี 2539 ,กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ5 ธันวาคม2542 รัชกาลที่9 เสด็จถวายผ้าพระกฐินณวัดอรุณฯ,กาพย์เห่เรือเอเปคกองทัพเรือจัดแสดงขบวนพยุหยาตราชลมารคในโอกาสประชุมเอเปค ปี2546
น.อ.ทองย้อยยังแต่งกาพย์เห่เรือสำคัญ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี รัชกาลที่9 และพระราชินีในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และราชอาคันตุกะ ณ อาคารราชนาวิกสภากองทัพเรือ ปี 2549 ถัดมาประพันธ์กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ร.9 ปี 2550 ,กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ ปี 2554 และกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นบทเดียวกับปี 2554 เพราะขบวนพยุหยาตราชลมารคเลื่อนมาจัดปีถัดมา เนื่องจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่เอ่ยมานี้ไม่ได้รวมกาพย์เห่เรือเบ็ดเตล็ดที่หน่วยงานต่างๆ ร้องขอให้ศิลปินผู้นี้รังสรรค์ขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์
น.อ.ทองย้อย ศึกษาค้นคว้ากาพย์เห่เรือในอดีตตั้งแต่สมัยอยุธยา
กล่าวได้ว่า” น.อ.ทองย้อย“ เป็น"กวีสองแผ่นดิน" เพราะเป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือในขบวนพยุหยาตราชลมารคตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 จนถึงรัชกาลที่ 10
น.อ.ทองย้อย ศิลปินอาวุโสวัย 74 ปี ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงที่มาของการเห่เรือที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายร้อยปีว่า เราเป็นประเทศที่ผูกพันกับสายน้ำ ในอดีตผู้คนสัญจรทางเรือใช้การพาย ไม่มีเครื่องยนต์ ถือเป็นปฐมเหตุกระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือที่ปัจจุบันใช้คำว่า"ขบวนพยุหยาตราชลมารค” พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนิน โดยขบวนเรือมีจัดรูปขบวนเดินทางไป เป็นรูปขบวนตามลำดับกลายเป็นแบบแผนสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ในการเดินทางต้องใช้เวลาใช้ฝีพายเป็นร้อยคน การพายเป็นจังหวะพร้อมเพรียง พร้อมกับต้องเปล่งเสียงระหว่างจ้ำพาย จึงหาวิธีคลายความเหนื่อยล้า เกิดการแต่งกาพย์เห่เรือขึ้น อันเป็นปฐมบทการเห่เรือในขบวนพยุหยาตราชลมารค ส่วนการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ปัจจุบันมีจำนวน 52 ลำโดยมีเรือพระที่นั่ง 4 ลำสำคัญ ประกอบด้วยเรือพระทั่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
ชมความวิจิตรงดงามของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หนึ่งในเรือสำคัญในพระราชพิธี
ตามแบบแผนของกาพย์เห่เรือนั้น น.อ.ทองย้อย บอกว่า1 บทจะประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บทและกาพย์ยานีอีกหลายบทขึ้นกับความพอใจของผู้แต่งหรือความประสงค์นำไปใช้รวมกันเรียกว่ากาพย์เห่เรือ1 บทจากสมัยอยุธยาถึงรัชสมัยรัชกาลที่10 มีการประพันธ์กาพ์เห่เรือไว้มากมายเช่นกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหรือเจ้าฟ้ากุ้งที่คนทั่วไปรู้จักและจดจำเห่ชมเรือกระบวนความตอนหนึ่งว่า“สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อยงามชดช้อยลอยหลังสินธุ์เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม” จะแตกต่างจากเพลงเห่เรือพื้นบ้าน ฮ้า… ไฮ้...
“ กาพย์เห่เรือในยุคแรก แต่งขึ้นใช้เห่ในงานต่างๆ เป็นการชมเรือเป็นความงดงามของเรือและเครื่องแต่งกายของฝีพาย จากนั้นชมปลาและชมนกชมไม้เป็นธรรมชาติของยุคสมัยนั้น " น.อ.ทองย้อย เล่า
กระทั่งมาถึงยุครัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ยักเยื้องเห่ชมเครื่องคาวหวาน ต่อมามีกาพย์เห่เรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธฮกรมหมื่นพิทยาลงกรณ แล้วยังมีกาพย์เห่เรืองานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ บทประพันธ์ ของนายฉันท์ขำ วิไลและนายหรีด เรืองฤทธิ์
เรือพระราชพิธีในขบวนพยุหยาตราชลมารค มรดกวัฒนธรรมยิ่งใหญ่
น.อ.ทองย้อย กล่าวต่อว่า ในรัชสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงฟื้นฟูขบวนพยุหยาตราชลมารคอันล้ำค่าขึ้น และในปีมหามงคลทรงครองราชย์ครบ 50 ปี กองทัพเรือจัดโครงการเฉลิมฉลองมี 2 โครงการ คือ โครงการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 และโครงการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาถึงกาพย์เห่เรือมีการประกวดกาพย์เห่เรือสำหรับเรือพระที่นั่งลำนี้ด้วยความชอบเขียนกาพย์กลอนจึงส่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวดใช้เวลาแต่ง2 เดือนผลตัดสินออกมาได้รับรางวัลชนะเลิศ ต่อมากาพย์เห่เรือที่ชนะเลิศได้นำมาใช้เป็นบทเห่
แต่เพราะมีเพียงบทเดียว ”เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่9 ” ไม่พอใช้ในขบวนพยุหยาตรา น.อ.ทองย้อยจึงได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือให้แต่งกาพย์เห่เพิ่มเติม จำนวน 4 บท ได้แก่ บทชมเรือกระบวน, บทชมเมืองชมในแง่วัฒนธรรมประเพณี, บทบุญกฐิน เนื่องจากขบวนพยุหยาตราชลมารคคราวนี้ ร.9 เสด็จฯถวายผ้าพระกฐิน ณวัดอรุณราชวราราม อดีตไม่มีการแต่งบทนี้มาก่อน และบทสรรเสริญพระบารมี รวมความยาวกาพย์เห่เรือมี 5 บท ยึดฉันทลักษณ์ หลักภาษาไทยที่ถูกต้อง และจินตนาการ
น.อ.ทองย้อย เล่าเบื้องหลังแรงบันดาลใจและจินตนาการแต่งกาพย์เห่เรือโอกาสมหามงคล 50 ปีครองราชย์ รัชกาลที่ 9
บทสรรเสริญพระบารมีในปีครองราชย์ครบ 50 ปี ในกาพย์เห่เรือมีตอนหนึ่งประพันธ์ว่า “ วังทิพย์คือท้องทุ่งม่านงามรุ้งคือเขาเขินร้อนหนาวในราวเนินมาโลมไล้ต่างรสสุคนธ์ ย่างพระบาทที่ยาตรายาวรอบหล้าฟ้าสากลพระเสโทที่ถั่งท้นถ้าไหลรวมคงท่วมไทย“ เป็นตอนที่มีความไพเราะจับใจ สะท้อนพระราชกรณียกิจในหลวง ร. 9 ที่มีต่อพสกนิกรอย่างเห็นภาพชัดเจน
“ โครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 มีกว่า 4,000 โครงการ ผมนำพระราชกรณียกิจมาคิดคำนึงให้ภาพทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรเพียงใด วังของพระองค์คือท้องทุ่งไร่นา ป่าเขาเปรียบดั่งม่าน น้ำอบน้ำปรุง คือ เหงื่อโทรมพระวรกายนั่นเอง มีพื้นที่ไหนในไทยที่ ร.9 ไม่เคยเสด็จ ถ้านำย่างพระบาทที่ทรงก้าวมาต่อกันนับแต่ครองราชย์จนครบ 50 ปี ต้องยาวรอบโลก เหงื่อแต่ละหยดของพระองค์ ถ้ารองไว้จะท่วมไทย เป็นจินตนาการบนพื้นฐานความจริง“ น.อ.ทองย้อย เผยเบื้องหลังแรงบันดาลใจ
จากกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 สู่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ด้วยฝีมือแต่งในระดับพระกาฬ ซึ่งการแต่งกาพย์เห่เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10 น.อ.ทองย้อย บทประพันธ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจทานตามขั้นตอน เพื่อให้สมพระเกียรติสูงสุด ก่อนจะส่งบทให้ ทร.นำไปฝึกซ้อมเห่เรือต่อไป
ห้องทำงานภายในบ้านพักจ.ราชบุรี น.อ.ทองย้อย ใช้รังสรรค์ผลงานกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรตืพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในกาพย์เห่เรือดังกล่าวมี 3 บท ศิลปินอาวุโส บอกว่า ประกอบด้วยบทที่1 สรรเสริญพระบารมี แต่ละวรรคสื่อถึงความจงรักภักดีบุญคุณของพระเจ้าแผ่นดินที่ทำให้ประชาชนอยู่สุขสบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงราชย์สืบสันติวงศ์จากรัชกาลที่ 9 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ให้บ้านเมืองสงบสุข บทที่ 2 ชมเรือ ก็ยังใช้บทเดิม ขบวนเรือ 52 ลำเท่าเดิม เสริมสีสันจัดรูปขบวนให้มีชีวิต เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่ลูกหลานต้องหวงแหนรักษา ต่อด้วยบทที่ 3 บุญกฐินแสดงถึงในหลวงทรงมีพระราชศรัทธาและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น มั่นคง เฉกเช่นครัั้งนี้ทรงเสด็จถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง ทั้งที่มีพระราชกรณียกิจมากมาย
" ผมใช้เวลาประพันธ์ทั้งสิ้น 2 เดือน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การชมมีความรื่นรมย์และได้อรรถรสเพิ่มขึ้น ผมห็นว่า เวลาถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ควรนำกาพย์เห่เรือเสนอในรูปแบบตัววิ่ง ตั้งแต่ต้นจนจบหรือจัดพิมพ์กาพย์เห่เรือฉบับนี้แจกจ่ายให้ประชาชนที่ไปนั่งชมริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ ผมได้รับมอบหมายให้แต่งกลอนถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา12 สิงหาคม 2562 ด้วย "น.อ.ทองย้อย กล่าวสุดภาคภูมิใจ
การจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้ประชาชนจะได้สัมผัสบรรยากาศงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่มีมรดกวัฒนธรรมยิ่งใหญ่ เมื่อผนวกกับท่าทางการพายของฝีพาย 2,200 นาย และกาพย์เห่เรือที่ถูกร้อยเรียงด้วยถ้อยคำสำนวนโวหารสละสลวยขับขานดังกังวานไปทั่วคุ้งน้ำเจ้าพระยา ทั้งหมดนี้เป็นพลังแห่งความจงรักภักดีและรวมดวงใจเป็นหนึ่งด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว