'อุตตม'ท้าเปิด'ซักฟอก' ขู่ฟ้องบิดเบือนกู้กรุงไทย 


เพิ่มเพื่อน    


          ตั้งเวทีถล่ม "อุตตม" เอี่ยวคดีปล่อยกู้กรุงไทย ถามหาหลักฐานคัดค้านการปล่อยกู้ "ชัยเกษม" อ้างเป็นคดีกึ่งๆ การเมือง โยนให้ประชาชนตัดสิน ด้าน รมว.คลังขู่ลั่น! ใครเอาไปบิดเบือนจะดำเนินการตามกฎหมาย ไม่หนักใจหากถูกซักฟอกในสภา
          เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดเวทีสาธารณะสภาที่ 3 (The Third Council Speak) “คดี อุตตม สาวนายน ใครถูก ใครผิด ประชาชนพิพากษา” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
          นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ที่มีการตั้งข้อครหาว่านายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อธนาคารกรุงไทยให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร คณะกรรมการญาติวีรชนฯ จึงได้จัดเวทีเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
          ขณะที่นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ กล่าวว่า คดีมหากาพย์กรุงไทยเกิดขึ้นมานาน ช่วงปี 37-46 บริษัท โกลเด้นฯ กลุ่มกฤษดามหานคร เป็นลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ มีหนี้สินรวม 1.3 หมื่นล้าน ช่วงปี 46 ธนาคารกรุงไทยเข้ามาแก้ปัญหา กลุ่มกฤษดาฯ มาขอยื่นกู้เงินธนาคารกรุงไทยเพื่อใช้คืนธนาคารกรุงเทพ กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยขณะนั้นมีนายสุชาย เชาว์วิศิษฐ, นายวิโรจน์ นวลแข, นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์, นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา และนายอุตตม สาวนายน เป็นกรรมการบริหาร ผู้มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.46
          เขาบอกว่า บริษัทในเครือกฤษดามหานครมีการขอสินเชื่อ 3 วงเงิน 1.ใช้คืนหนี้ธนาคารกรุงเทพ วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท 2.ซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และ 3.พัฒนาสาธารณูปโภค วงเงิน 1,400 ล้านบาท รวมวงเงิน 9,900 ล้านบาท วันที่ 17 ธ.ค.46 มีการประชุมและรับรองรายงานการประชุมวันที่ 9 ธ.ค. 18 ธ.ค. โดยที่นายอุตตมไม่ได้เข้าร่วมประชุม
        นายวันชัยกล่าวว่า หลังจากนั้น บริษัท โกลเด้นฯ ได้เบิกเงินกู้วงเงินรีไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาปิ่นเกล้า มีการแยกเช็คเป็น 11 ฉบับ มีการชำระหนี้คืนธนาคารกรุงเทพ 4,400 ล้านบาท ที่เหลือนำไปใช้วัตถุประสงค์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพและสร้างความเสียหายให้กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ภายหลังมีการประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อติดตามการปล่อยสินเชื่อ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการคัดค้าน หรือท้วงติงการปล่อยกู้ครั้งนี้แต่อย่างใด
        ทนายความผู้นี้ตั้งคำถามนายอุตตมว่า แสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติสินเชื่อนี้เมื่อใด ในเมื่อท่านอยู่ในคณะกรรมการผู้มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อครั้งนี้
         ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่มีการประชุมเกี่ยวกับการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ตามหลักฐานรายงานการประชุม ต้องถือว่านายอุตตมไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ที่จะคัดค้านการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ และมีการรับรองรายงานการประชุมโดยถูกต้อง ซึ่งนายอุตตมต้องแสดงหลักฐานที่มีการยืนยันชัดเจนว่าได้คัดค้านหรือมีการทักท้วงการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้
          "แม้ภายหลังคุณอุตตมจะเป็นพยานให้ศาลอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ให้การว่าได้คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ แต่หลักฐานในการประชุมชัดเจนว่าคุณอุตตมไม่ได้คัดค้าน ถือว่าฟังได้ยากว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง"
     นายชัยเกษมกล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีกึ่งๆ การเมือง ที่มีความชัดเจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีความไม่ซื่อสัตย์ อาจจะไปเกี่ยวข้องกับบิ๊กบอสหรือไม่ ประชาชนต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสิน
          พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องร่วมกันช่วยตรวจสอบ เพราะตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจทุกฝ่ายเข้ามาตรวจสอบด้วย ซึ่งในคดีนี้ศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2558 แม้นายอุตตมจะไม่ได้ถูกฟ้องครั้งนี้ แต่ในคำพิพากษาเขียนครอบคลุมกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยทั้ง 5 คน ว่ามีส่วนช่วยเหลือให้จำเลย คือกลุ่มกฤษดามหานครให้ได้รับสินเชื่อ จำนวน 9,900 ล้านบาท โดยไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้ธนาคารกรุงไทยแต่อย่างใด
        เขากล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่าเรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสุจริต ก็สามารถยื่นตรวจสอบกับ ป.ป.ช.ได้ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้มีความไม่ต้องถูกต้อง ก็ต้องตั้งเรื่องขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง
             ขณะที่นายอุตตม กล่าวถึงกรณีเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านเตรียมรับน้องใหม่อภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีว่า ที่ผ่านมาเคยชี้แจงเรื่องคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยไปแล้วว่าเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนทางยุติธรรมในชั้นศาล ตนผ่านมาทุกขั้นตอนแล้ว โดยชี้ชัดเจนว่าไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้นถือว่าเรื่องนี้ผ่านขั้นตอนมาหมดแล้ว และตนมีความบริสุทธิ์ การซักถามทั้งหลายตนเข้าใจ และก็ได้ชี้แจง แต่หากถึงขั้นนำไปบิดเบือนมากไปจนทำให้เกิดความเสียหาย
         “ผมก็จะพิจารณาว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ หากจะต้องมีการอภิปรายไม่ไว้วางในสภา ผมก็พร้อมตอบ เพราะถือเป็นหน้าที่ และพร้อมชี้แจงเช่นเดียวกับรัฐมนตรีทุกคน และไม่ได้รู้สึกหนักใจ” นายอุตตมกล่าว
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกประชุมทีมกฎหมายต่อสู้คดี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน ถูกศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องตีความปมถือหุ้นสื่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเอกสารจากกระทรวงพาณิชย์และเอกสารจาก กสทช. ในการสอบถามรายละเอียดว่า ส.ส.ทั้ง 7 คนมีการดำเนินการกิจการสื่อตามที่ถูกร้องหรือไม่ ซึ่งหลังได้รับเอกสาร จะยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งจะครบกำหนดในวันพุธที่ 17 กรกฎาคม แต่ตรงกับวันหยุดเข้าพรรค จึงต้องส่งเอกสารในวันที่ 18 กรกฎาคม ครบตามกำหนด 15 วัน ทั้งนี้ อยากให้รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด พร้อมยืนยัน ส.ส.ที่ถูกร้องปมถือหุ้น แตกต่างจากคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพราะ กกต.มีคำวินิจฉัยมาแล้ว ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"