เรือดำน้ำรำลึก (4) : ออกทะเล


เพิ่มเพื่อน    

(เรือดำน้ำของอดีตสหภาพโซเวียตก่อนออกเดินทางจากท่าเรือในเมืองเซสชิน ประเทศโปแลนด์)

    เป็นเวลามืดค่ำแล้วตอนที่เราถึงตัวเมืองเซสชิน (Szczecin) ประเทศโปแลนด์ ปีเตอร์ขับตรงไปที่เรือลำหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านอาหารลอยน้ำในทะเลสาบดอมเบีย ส่วนหนึ่งของทะเลบอลติก คุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ เจ้าของเรือดำน้ำ U-194 คนใหม่ พร้อมคณะชาวไทยนั่งรออยู่แล้ว ในจำนวนนี้มีผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เดินทางมาด้วย 2 คน ทั้งหมดมาถึงตั้งแต่เมื่อวาน เสร็จมื้อค่ำแล้วเราก็เข้าพักที่โรงแรม Radisson

(เรือใหม่ที่เพิ่งถูกปล่อยจากคานในอู่ต่อเรือGryfia S.A. เมืองเซสชิน ประเทศโปแลนด์)

    เช้าวันต่อมา 19 มกราคม 2550 พวกเราทั้งหมดเดินทางไปยังท่าเรือกรีเฟีย (Gryfia S.A.) แล้วลงเรือเฟอร์รี่ไปยังอู่ต่อเรือกรีเฟียที่ทำการซ่อมแซม U-194 อยู่ วันนี้คือฤกษ์ดีในการปล่อยตัวเรือดำน้ำ แต่เรือดำน้ำจะยังไม่ออกเดินทาง เพราะมีบางสิ่งบางอย่างยังไม่พร้อม
    เราได้ช่วยกันผูกป้ายไวนิลขนาดใหญ่บนตัวเรือดำน้ำ เขียนข้อความ “ทรงพระเจริญ” และ “LONG LIVE THE KING” พร้อมประดับธงชาติและธงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 แชมเปญขวดยักษ์ถูกเปิดแจกจ่ายกันดื่มทั่วทุกคน พวกเรามีโอกาสได้ลงไปสำรวจภายในเรือดำน้ำ ในนั้นมีหุ่นที่เหมือนมนุษย์จริงๆ ในชุดทหารเรืออยู่ 2 คน เดินผ่านทีไรก็ต้องสะดุ้งตกใจ   

(ผุดผาดน้อยและกัปตันแฮรี่ในห้องควบคุมเรือ)

    คณะของคุณเจษฎาที่เดินทางมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะได้กลับไปในตอนบ่าย ส่วนที่เหลือ ได้แก่ ผม, พี่หมู (ผุดผาดน้อย วรวุฒิ อดีตยอดมวยไทย), พี่หมี (ปัจจุบันคือ พระสุธรรม ฐิตธัมโม ที่เพิ่งสำเร็จภารกิจเดินธุดงค์รณรงค์สันติภาพจากตะวันตกไปยังตะวันออกของสหรัฐ ระยะทางกว่า 5 พันกิโลเมตร เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) และพี่ธรรมนูญ ลูกชายอดีตทูตทหารลาว เจ้าหน้าที่ของเจษฎาเทคนิคมิวเซียม จะเดินทางไปกับเรือลากชื่อ EDI เรือลำนี้จะลากเรือดำน้ำ U-194 ไปยังประเทศไทย
    เรือลากนี้ที่แท้ก็คือเรือล่าปลาวาฬ อายุอานามก็ปาเข้าไป 80 ปี (ในเวลานั้น) ต่อขึ้นตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน แก่กว่าเรือดำน้ำถึง 40 ปี เพราะเรือดำน้ำสร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในยุคสงครามเย็น ขนาดของเรือลากที่อ็อตโต ผู้รับจ้างชาวสวีดิชวัย 29 ปี ซึ่งทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย โม้เอาไว้ว่ายาว 60 เมตร แต่พอเจอตัวจริงกลับหดเหลือแค่ 42 เมตร และนี่ก็คือภารกิจสุดท้ายของเรือลำนี้ เมื่อถึงเมืองไทยจะไม่มีการล่องกลับ ขณะที่เรือดำน้ำยาว 76 เมตร ระวางขับน้ำ 1,050 ตัน และ 1,340 ตันเมื่ออยู่ใต้น้ำ    
    กัปตันเรือลากชื่อแฮรี่ อายุ 54 ปี อาจพอเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจหน่อย เพราะมีประสบการณ์ออกทะเลมาตั้งแต่อายุ 14 ขวบ ก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันเรือตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน กัปตันแฮรี่มีสระน้ำผ้าใบ วางแผนว่าวันไหนอากาศดีจะได้ย่างบาร์บีคิว ปาร์ตี้สระน้ำกันบนเรือลากลำนี้
    คืนแรกในเรือลากที่ยังจอดริมฝั่ง พวกเราทั้งหมดที่จะลงเรือลำเดียวกันได้ทำความรู้จักกันด้วยเครื่องดื่มละลายพฤติกรรม มีสวีดิช 2 คน คือกัปตันและกุ๊ก ชาวรัสเซีย 1 คน เป็นหัวหน้าช่างเครื่อง ชาวอินโดนีเซีย 3 คน ประกอบด้วย ผู้ช่วยกัปตัน ช่างเครื่อง และกะลาสีคนขยัน ชาวไทย 3 คน คือผมทำหน้าที่บันทึกการเดินทาง พี่หมูและพี่หมีคอยบรรยายเหตุการณ์ประจำวันกับกล้องวิดีโอที่ผมถ่าย ชาวลาว 1 คน คือพี่ธรรมนูญทำหน้าที่ประสานงาน คืนนี้กัปตันแฮรี่ดื่มเบียร์เดนมาร์กยี่ห้อ FAXE ไปหลายกระป๋องจนเมาพับคาห้องครัว
    วันถัดมา กัปตันแฮรี่อบรมปฐมนิเทศการใช้ชีวิตในเรือลาก ข้อห้ามต่างๆ การรับมือเหตุฉุกเฉิน และที่สำคัญเมื่อเรือจะจมหรือกัปตันมีคำสั่งสละเรือจะต้องใส่ชุดชูชีพในเวลาอันรวดเร็วไม่ถึง 1 นาที ในสภาพเรือที่ถูกคลื่นเหวี่ยงไปมา และเมื่อใส่ชุดชูชีพแล้วก็ปลดเรือชูชีพทิ้งลงทะเล ซึ่งจะพองลมโดยอัตโนมัติ คนจึงกระโดดตามลงไป แล้วตะกุยตะกายว่ายน้ำเข้าไปอยู่ในเรือชูชีพให้ได้ ในนั้นจะมีไฟฉายขอความช่วยเหลือ ขนมปังแครกเกอร์พอประทังชีวิตสักวันสองวัน ถ้าไม่หนาวตายเสียก่อน แต่หากเหตุการณ์เลวร้ายถึงขั้นปลดเรือชูชีพไม่ทัน ก็ให้กระโดดลงทะเลไปในลักษณะหงายหลังลง และลอยตัวแหงนหน้าขึ้น ในชุดชูชีพมีสิ่งจำเป็นสำหรับยังชีพอยู่นิดหน่อย แล้วรอโชคชะตาว่าจะเอาอย่างไร ถ้าอากาศหนาวเหมือนในเวลานี้อาจทนได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
     หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติขั้นสุดนี้ขึ้นมาจริงๆ กัปตันจะเป็นคนสุดท้ายที่สละเรือ ซึ่งน่าจะพอมีเวลาส่งข่าวสารไปขอความช่วยเหลือได้ทัน กัปตันให้ผมลองใส่ชุดชูชีพสีส้มหลายครั้ง ใช้เวลามากกว่า 1 นาทีทุกครั้งแม้เรือจะจอดนิ่ง ชุดชูชีพนี้อยู่ในห้องที่เรียกว่า Hospital ซึ่งมีความหมายไปทางห้องรับแขกตามความหมายดั้งเดิม ภายหลังได้กลายเป็นห้องที่พวกเราคนไทย 3 คนใช้เล่นไพ่ 3 กองก่อนอาหารเย็น และเป็นห้องนอนสำหรับผมและพี่หมูในคืนที่คลื่นแรง ด้วยคิดว่าหากกัปตันสั่งสละเรือก็จะได้คว้าชุดชูชีพได้ทัน  
    ตอนบ่าย เรา 3 คนขึ้นเรือข้ามฟากไปฝั่งตัวเมือง รอรถรางประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อขึ้นไปปรากฏว่าไม่ต้องจ่ายค่าโดยสาร เนื่องจากผู้โดยสารเกือบทั้งหมดใช้ตั๋วเดือน ส่วนผู้ที่ประสงค์จะนั่งเป็นครั้งคราวต้องซื้อตั๋วก่อนขึ้นรถ ซึ่งเราไม่รู้มาก่อน แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋ว และคนขับก็ไม่ว่าอะไร
    ที่ Galaxy Centrum ห้างใหญ่ของเมืองเซสชินมีคนเดินเที่ยวหนาตา โดยเฉพาะสาวๆ ที่ส่วนใหญ่หน้าตาจะออกมาคล้ายๆ กัน คือตัวสูง จมูกโด่ง ตาคม ดูรวมๆ สวยเกือบทุกคนก็ว่าได้ พวกเราอยากดูฟุตบอลอังกฤษที่กำลังเตะกันอยู่ เข้าไปถามคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในร้านขายเสื้อผ้า พอเธอหันมาก็พบว่าหน้าตาดีอีกเช่นกัน บอกให้ขึ้นไปบนชั้น 2 ของห้าง ข้างๆ โรงหนังจะมีบาร์เบียร์ เปิดทีวีจอใหญ่ให้ลูกค้าชม ผมสั่งเบียร์ LECH มาดื่ม 1 แก้วกับอีก 1 ขวด สำหรับครึ่งหลังของคู่แรก และครึ่งแรกของคู่สอง พี่หมูไม่ดื่มเบียร์ ส่วนพี่หมีไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปกติอยู่แล้ว เกมน่าเบื่อมากเราจึงชวนกันกลับ
    เราเรียกแท็กซี่ไปยังท่าเรือกรีเฟีย โชเฟอร์ไม่ยอมกดมิเตอร์ บอกว่าราคามาตรฐานคือ 20 ซลอตี เงิน 1 ซลอตีของโปแลนด์อยู่ที่ประมาณ 8 บาท นั่งไปสักพักก็อาสาเป็นสารถีขับไปหาหญิงบริการให้ ระบุค่าใช้จ่าย 180 ซลอตี พอปฏิเสธก็บอกให้กลับไปคิดดู ว่าแล้วก็ยื่นนามบัตรให้ แนะนำตัวเอง ชื่อ “ริชาร์ด” ก่อนเราจะลงจากรถเขาพูดว่าเจอกันพรุ่งนี้ 6 โมงเย็น พวกเราได้แต่ยิ้ม
    เมื่อกลับถึงเรือ EDI ก็กินมื้อเย็นฝีมือของกุ๊กใหญ่ชาวสวีดิชวัย 55 ปี แกสูบบุหรี่จัดแบบมวนต่อมวน ทำให้หน้าตาแก่เกินวัยไปเยอะ บอกว่าเป็นฝรั่งคนแรกที่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านอาหารไทย มีภรรยาเป็นคนไทยระดับหม่อมหลวง ตอนนี้บ้านอยู่บางแสน ตัดสินใจมาลงเรือครั้งนี้เพราะอ็อตโต-ผู้รับจ้างลากเรือ ชักชวนตอนแกเมาอยู่ที่บาร์แห่งหนึ่งแถวบางแสน 
    อากาศที่หนาวและมีลมพัดทำให้ผมเริ่มไม่สบาย เช้าวันต่อมาตื่นกินมื้อเช้าแล้วนอนต่อ ช่วงบ่ายก็ต้องฝืนตื่น เพราะอยากเข้าเมืองไปดูฟุตบอลอีกคู่ ซึ่งเป็นบิ๊กแมตช์ของอังกฤษ ผมเรียกแท็กซี่ คันนี้กดมิเตอร์เรียบร้อย ถึงห้าง Galaxy Centrum ค่าโดยสารแค่ 15 ซลอตี ดูฟุตบอลจบก็นั่งแท็กซี่กลับ ราคาเท่าขาไป
    วันที่ 22 มกราคม เวลาแห่งการรอคอยก็มาถึง เรือลากค่อยๆ พาเรือดำน้ำออกจากอู่ต่อเรือกรีเฟีย มีเรือเล็กอีกลำพยุงท้ายเรือดำน้ำ โดยที่เรือดำน้ำจะโผล่มาประมาณครึ่งลำ เพื่อให้แหวกน้ำเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างคล่องแคล่ว จากทะเลสาบดอมเบีย ออกสู่ทะเลบอลติก เรือที่คอยพยุงท้ายก็จากไป นับจากนี้เป็นเวลาแห่งความระทึกอย่างแท้จริง 
    ผมเลือกที่จะไม่กินมื้อเย็น เพราะรู้ว่าอีกประเดี๋ยวมันก็ต้องกลับออกมาสู่โลกภายนอก และก็เป็นดังคาด หลังมื้ออาหารไม่นานก็ได้เวลารับน้องโหด เรือค่อยๆ โคลงเคลง และเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในครัวล้มระเนระนาด ผมเดินขึ้นไปยังห้องควบคุมเรือ หรือ Bridge ห้องที่สูงที่สุดของเรือ มองดูยอดคลื่นสาดซัดเข้ามาในตัวเรือด้านล่างส่วนหน้าที่เป็นพื้นโล่ง ยอดคลื่นบางลูกพุ่งทะยานสูงฟาดเอากระจกห้องควบคุมเรือ แต่ผู้ควบคุมดูไม่สะทกสะท้านแม้แต่นิด
    ครบกะ 6 ชั่วโมง กัปตันแฮรี่เปลี่ยนให้อูดิน-ผู้ช่วยกัปตันชาวอินโดนีเซียขึ้นมากุมบังเหียนแทน ผมถามเขาตอนหลังว่าคลื่นคืนนี้สูงเท่าไหร่ เขาตอบว่าประมาณ 3-4 เมตร   
    บ้านเกิดของอูดินอยู่บนเกาะซูราบายา จบการศึกษาจากโรงเรียนการเดินเรือแล้วก็ทำงานกลางทะเลมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 เล่าให้ฟังว่าภรรยาตั้งท้องได้ 7 เดือนแล้ว เขากลัวจะไม่ได้กลับไปดูหน้าลูกตอนคลอด ซึ่งเป็นไปได้สูง เขามารับงานนี้ตั้งแต่ 3 เดือนก่อน ตอนนั้นคำนวณแล้วว่าจะกลับไปทัน แต่การเดินทางได้ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ คงเพราะเรือดำน้ำซ่อมอยู่นานไปหน่อย
    คลื่นยังคงโยกแรง อูดินเห็นสีหน้าผมไม่ค่อยดีเลยบอกให้เปิดประตูด้านหลังออกไปสูดอากาศ ผมเดินยังไม่ทันจะถึงประตู ลมในท้องดันเอาสิ่งตกค้างจากมื้อเที่ยงขึ้นมา ล้วงถุงพลาสติกในกระเป๋าที่ขอกุ๊กมาก่อนหน้านี้ เปิดปากถุงในจังหวะเดียวกับที่อาเจียนพุ่งออกมา แต่อาเจียนกลับไหลลงพื้นห้อง กุ๊กใหญ่เอาถุงรั่วให้ผม
    แรงดันจากท้องในรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ผมสามารถเปิดประตูทัน ปล่อยอาเจียนลงสู่ทะเลลงไปผสมกับน้ำเค็ม อูดินส่งผ้ามาให้ ผมเช็ดปากแล้วเช็ดพื้น เพราะทราบว่าเพิ่งเปลี่ยนพรมผืนใหม่เมื่อเช้านี่เอง อูดินแนะให้ผมนอนลง อาการจะดีกว่านั่ง
    คลื่นแรงขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยโยกเรือในทิศทางด้านหน้า-ด้านหลัง แผลงฤทธิ์ไปโยกซ้าย-ขวา ข้าวของตกกระจัดกระจาย เรือโยกซ้าย-ขวา, หน้า-หลัง และกลายเป็นหมุนวนเป็นวงกลม กล่องน้ำตาลเติมกาแฟของกัปตันตก น้ำตาลเกลื่อนพื้นห้อง มีเสียงออกมาจากส่วนต่างๆ ของเรือ ทั้งเอี๊ยดอ๊าด โครมคราม และปัง
    ราวเที่ยงคืนอูดินลงไปนอน กัปตันแฮรี่ขึ้นมาอีกครั้ง หยิบผ้าห่มมาให้ผมด้วย ถึงตอนนี้คลื่นซาลงไปบ้างแล้ว ผมขอบคุณแฮรี่แล้วกลับลงไปหวังจะนอนในห้อง Hospital แต่ 2 เตียงถูกจับจองเรียบร้อยแล้วโดยพี่หมูและพี่หมี ตู้ใส่ชุดชูชีพกองอยู่กับพื้น สรุปได้ว่านี่คือที่มาของเสียง “ปัง” นั้น แล้วผมก็เดินลงไปนอนในห้องนอนข้างล่าง เป็นเคบินเล็กๆ เตียง 2 ชั้นติดผนัง มี 2 ฝั่ง เท่ากับทั้งหมดมี 4 เตียง ห้องนี้สำหรับคณะจากเจษฎาเทคนิคมิวเซียมทั้ง 4 คน เวลานอนจะได้ยินเสียงน้ำตีตัวเรืออยู่ใกล้ๆ เป็นจังหวะๆ     
    ตื่นขึ้นมาตอนสายๆ เรือไม่ค่อยโคลงแล้ว สำหรับมื้อเช้านั้นกุ๊กจะไม่ทำอาหาร จะมีขนมปัง เนย ไข่ต้ม กาแฟ หรือถ้าจะทำเองก็มีบะหมี่โปแลนด์ให้ต้มกิน จนตอนหลังมีคนกินบะหมี่โปแลนด์นี้บ่อย ศาสตราจารย์อาหารไทยของเราเลยบอกว่า You’re gonna die if you eat instant noodle every day กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวันเดี๋ยวก็ตาย เพราะนอกจากแป้งแล้วก็แทบไม่มีสารอาหารอะไรเลย
    อากาศในเรือค่อนข้างสบาย เพราะมีฮีทเตอร์ทำความร้อน แต่พอเดินออกไปข้างนอกตัวเรือก็หนาวจับหัวใจ และถ้าวันไหนคลื่นแรงก็นอนอย่างเดียว เพราะนั่ง ยืน เดินไม่ได้ เครื่องในเหมือนจะพุ่งออกมา จะกินข้าวก็ต้องจับจานไว้ให้ดี พอจะตักทีจานย้ายไปซ้าย จ้องจะตักใหม่ก็ย้ายไปขวา
    วันไหนอากาศดี พี่หมูจะเริ่มดื่มไวน์ตั้งแต่เย็นเพื่อรอมื้ออาหาร แล้วก็ดื่มไปพร้อมกับอาหาร กระทั่งจบมื้อจนเข้านอน ผมก็นั่งเป็นเพื่อนแกทุกคืน พวกกัปตันและลูกเรือจะดื่มเบียร์ กัปตันซื้อ FAXE มาตุนไว้ในห้องเก็บของหลายลังเหมือนกัน 
    กัปตันแฮรี่ตอนทำงานจะกินกาแฟตลอดเวลา มีหม้อกาแฟประจำอยู่ในห้องควบคุมเรือ สูบบุหรี่ไปด้วยกินกาแฟไปด้วย พอกาแฟหมด กุ๊กก็จะเอาหม้อใหม่มาเปลี่ยน พอหมดกะให้ผู้ช่วยเข้าเวรแทน ก็จะซัดเบียร์ต่อ ซัดยาวจนกระทั่งหลับ ตื่นมาก็กาแฟ นี่คือกิจวัตรของกัปตัน
    เรื่องที่เป็นปัญหาในการอยู่เรือก็คือเรื่องน้ำ จะต้องใช้กันอย่างประหยัด กัปตันออกกฎให้อาบวันเว้นวัน และซักผ้าอาทิตย์ละหน ช่วงแรกๆ ไม่มีปัญหา เพราะอากาศหนาว สามสี่วันหนก็ยังได้ ส่วนเรื่องซักเสื้อผ้าก็ไม่มีปัญหา เพราะเสื้อผ้าพวกเรายังอยู่กับติโม เจ้าของเรือคนเก่า ที่จะขับรถตามลงมาส่งให้ที่เฮลซิงบอร์ก ไม่มีใครโกนหนวด เพราะในเรือที่มีชายล้วน มาดเหี้ยมจะรู้สึกอุ่นใจกว่า
    ตอนหลังมีคนไปล็อกประตูห้องอาบน้ำ เพราะกลัวน้ำจะหมดก่อนการเติมครั้งต่อไป เกือบจะมีปัญหาทะเลาะกันเอง
    ย่ำค่ำของการเดินทางวันที่สอง เมื่อเข้าใกล้โคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก ขณะที่ผมนั่งอยู่ในห้อง Hospital กุ๊กใหญ่เปิดประตูเข้ามาแจ้งข่าวว่าเรือดำน้ำหายไปแล้ว
    ช่วงแรกข้อมูลยังสับสนว่าเรือเล็กที่จะเข้ามาประคองเรือดำน้ำเพื่อเข้าช่องแคบโอเรซุนด์ได้แล่นตัดผ่านเชือกระหว่างเรือลากและเรือดำน้ำทำให้เชือกขาด เชือกนี้ยาวเกือบ 200 เมตร จนกัปตันบ่นอยู่หลายครั้งและอยากจะตัดเหลือเกินแต่ตัดไม่ได้ บางครั้งผู้ถูกลากเกือบจะแซงผู้ลาก เพราะเมื่อ EDI กระตุกเชือกทีหนึ่ง U-194 ที่แหวกคลื่นดีกว่าก็จะขึ้นมาเทียบกับ EDI ออกทางซ้ายที ขวาที กระตุกครั้งหนึ่งก็จะพุ่งขึ้นมาครั้งหนึ่ง คงสมใจกัปตันที่เชือกขาดเสียได้ แต่ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบอย่างถูกต้องในภายหลังก็คือเชือกได้เข้าไปพันกับใบพัดท้ายเรือลากทำให้เชือกขาด และยังมีเศษติดอยู่ใต้ท้องเรือ
    ผ่านไปราว 2 ชั่วโมง มีเสียงชนเรือลากโครมใหญ่จนเรือสะเทือน เมื่อออกไปดู วัตถุที่เช้ามาชนก็คือเรือดำน้ำที่หายไปนั่นเอง แม่นาง U-194 ค่อยๆ ครูดคราดกับเรือลากจากด้านขวาไปออกด้านซ้าย เสียงดังออดแอดๆ อามินลูกเรืออินโดคนขยันเห็นเชือกยังติดอยู่กับส่วนหัวของเรือดำน้ำ ทำท่าจะกระโดดคว้าเชือกเพื่อไม่ให้เรือดำน้ำหนีไปได้ โชคดีที่พี่หมูคว้าแขนอามินทัน เราอาจจะไม่เสียเรือดำน้ำ แต่คงต้องเสียกะลาสีแทน
    เวลาประมาณเที่ยงคืน เรือเล็กลำหนึ่งควบคุมตัว U-194 ไว้ได้ ส่วนเรือลากไม่สามารถไปต่อ วันรุ่งขึ้นกัปตันแฮรี่จะโทร.ตามนักประดาน้ำเพื่อให้ดำลงไปเอาเชือกที่ติดอยู่ออกมา
    คืนนี้ก็ได้แต่มองสะพานโอเรซุนด์ เชื่อมสองเมืองระหว่างช่องแคบโอเรซุนด์ คือโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กและมัลโมของสวีเดน เห็นแสงสว่างสีเหลืองทองยาวหลายกิโลเมตร ส่วนที่ไม่เห็นเป็นสะพานก็คืออุโมงค์ที่มุดลงทะเล
    มองสะพานนี้แล้วก็สลับไปมองความเวิ้งว้างดำมืดของทะเลและท้องฟ้า เกิดความคิดว่าการเดินทางครั้งนี้จะไปได้ไกลสักแค่ไหน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"