13 ก.ค. 2562 นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่าเร่งส่งมอบผลการประชุมสรุปรายละเอียดแผนการส่งมอบพื้นที่ให้กับกลุ่มซีพีโดยจะส่งมอบกันในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้กลุ่มซีพีไปจัดทำแผนรายละเอียด จากนั้นกลับมานำเสนอและร่วมหารือกันในวันที่ 18-19 กค.นี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้อมูลได้เห็นภาพชัดเจนในหลายจุดแล้วโดยมีพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด 3,571 ไร่ รวมพื้นที่เวนคืนอีก 850 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 4,300 ไร่ โดยมีติดปัญหาที่ดินมีผู้บุกรุกบางส่วน โดยในพื้นที่ก่อสร้างจะมีจำนวนผู้บุกรุก 513 ราย คิดเป็นพื้นที่ที่กีดขวางแนวการก่อสร้างประมาณ 210 ไร่ จากทั้งสิ้น 3,571 ไร่ อีกทั้งยังมีพื้นที่เช่าอีกจำนวน 83 สัญญา มีพื้นที่ประมาณ 210 ไร่เช่นเดียวกัน
“ยังยืนยันจะเร่งเคลียร์ผู้บุกรุกได้ภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญา โดยพื้นที่ในส่วนสัญญาเช่าจะเร่งเคลียร์ต่อเนื่องกันไป โดยนับตั้งแต่วันลงนามภายใน 1 ปีจะยกเลิกสัญญา หากสัญญาไหนครบกำหนดจะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย หากรายไหนจะครบกำหนดก็จะแจ้งยกเลิกโดยเร็วต่อไป ซึ่งจะต้องดูแผนการก่อสร้างของซีพีว่าจุดไหนเร่งด่วน มีความจำเป็นต้องเข้าพื้นที่ด่วนก็จะเร่งดำเนินการ โดยจะต้องพิจารณาจากแผนการก่อสร้างของซีพีต่อไป”นายสุจิตต์กล่าว
นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่พร้อมส่งมอบให้กับกลุ่มซีพีนั้นหากตัดในส่วนพื้นที่บุกรุกออกไป 210 ไร่ และพื้นที่เช่าอีก 210 ไร่จะส่งมอบได้จำนวน 3,151 ไร่ในช่วงแรกนี้ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนมากกว่า 80% ประการสำคัญจะมีพื้นที่เวนคืนอีก 850 ไร่
“คาดว่าในวันจันทร์นี้จะสามารถทำรายละเอียดให้ซีพีไปศึกษาเพื่อจัดทำแผนก่อสร้างให้สอดคล้องแล้วนำกลับมาประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งคาดว่าภายในวันที่ 18-19 กค.นี้ แต่พื้นที่ผู้บุกรุกจะเร่งเคลียร์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนี้ ส่วนพื้นที่ยังติดสัญญาเช่ากำหนดภายใน 1 ปี ส่วนไหนซีพีต้องการใช้พื้นที่ก่อสร้างเร่งด่วนจะเร่งดำเนินการให้ต่อไปโดยพื้นที่เวนคืนทั้ง 850 ไร่หรือประมาณ 12 แปลงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตจ.ฉะเชิงเทรานั้นคาดว่าจะมีประกาศพ.ร.ฎ.เวนคืนได้ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยกรอบวงเงินที่ได้จากอีอีซีจำนวน 200 ล้านบาทที่จะนำไปดำเนินการกับผู้บุกรุกนั้นจะต้องให้มีการลงนามสัญญาแล้วเสร็จก่อนคาดว่าภายใน 2 ปีกับการเร่งเคลียร์กว่า 500 รายนั้นจะมีทั้งค่าชดเชย ค่าดำเนินการจัดสร้างรั้วปิดกั้นแนวป้องกันพื้นที่ต่อไป คาดว่าภายในปลายเดือนนี้น่าจะสามารถลงนามสัญญากับกลุ่มซีพีได้ และคาดว่าการหารือร่วมกับซีพีเรื่องแผนการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้านี้””นายสุจิตต์ กล่าว
นายสุจิตต์กล่าวต่อว่าในส่วนแผนเข้าพื้นที่มักกะสันและศรีราชาเพื่อการก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น แปลงมักกะสัน 140 ไร่บางพื้นที่ติดพวงรางรถไฟประมาณ 9.3 ไร่ ซึ่งรัฐบาลจัดงบให้ 300 ล้านบาทให้ย้ายพวงรางหลบไปอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นพื้นที่มักกะสันจำนวน 132 ไร่จึงพร้อมส่งมอบให้ก่อน ในส่วนพื้นที่ศรีราชา 27.45 ไร่ กลุ่มซีพีจะต้องไปก่อสร้างบ้านพักรูปแบบแฟลตจำนวน 3 หลังในพื้นที่ใกล้เคียงให้กับรฟท.ก่อนแล้วจึงค่อยกลับมาพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนี้ เช่นเดียวกับการเข้าพื้นที่รับมอบโครงการของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ จะต้องเริ่มไปศึกษาระบบและส่งมอบงานต่อกันภายหลังการลงนามสัญญาไปแล้ว ทั้งระบบการบำรุงรักษา และการเดินรถ การจัดเก็บรายได้ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนี้ โดยกลุ่มซีพีจะต้องจ่ายเงินให้รฟท.ในส่วนนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ในส่วนพื้นที่คลองแห้งช่วงสามเสน-พญาไทนั้นจะต้องหารือเรื่องแผนก่อสร้างร่วมกัน เนื่องจากจะไปเกี่ยวข้องกับรถไฟสายสีแดงให้สอดคล้องกัน โดยซีพีจะก่อสร้างให้ก่อน
นายสุจิตต์ กล่าวถึงกรณีการรื้อย้ายเสาตอม่อโฮปเวลล์จำนวนประมาณ 200 ต้นนั้นยังจะต้องเจรจากับกลุ่มซีพีว่าใครจะรับผิดชอบในการรื้อย้ายและค่าใช้จ่ายมีค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายเฉลี่ยต้นละ 2 แสนบาทคาดว่าจะใช้งบราว 40 ล้านบาทไปดำเนินการ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |