พรรคอนาคตใหม่ พยายามจะเป็นตัวของตัวเอง
แต่ไม่เป็นอะไรสักอย่าง
บางเรื่องพยายามกลางๆ
หลายเรื่องก็ตกขอบ
ใครจะไปคิด! เปิดสภาไปไม่กี่วัน พูดกันหนาหูว่า พี่เต้-มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ทำงานในฐานะ ส.ส.เป็นเรื่องเป็นราวกว่า ส.ส.อนาคตใหม่ทั้งพรรค
"พี่เต้" นี่....ต้นทุนแกต่ำเพราะก่อนนี้รั่วบ่อย ไม่มีใครคาดหวัง
ทำไปทำมาแกจะเป็นจอมยื่นกระทู้-ญัตติ ในสภาซะแล้ว
วันก่อนตั้งกระทู้ถามการจัดซื้อเครื่องบิน ๓๘ ลำ วงเงิน ๑.๕๖ แสนล้านบาท ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ไปพบชาวบ้านถึงนครพนม ติดตามก่อสร้างโครงการจัดซื้อเครื่องคัดแยกขยะของเทศบาลตำบลนาแก เรื่องขยะล้นไม่เจอกับตัวเองไม่รู้หรอกว่ามันเดือดร้อนแค่ไหน
สรุปคือ "พี่เต้" เข้าถึงปัญหาชาวบ้าน ดูแลผลประโยชน์ให้ประชาชน
หันไปดูพรรคอนาคตใหม่ มี ส.ส.ยื่นญัตติในสภาเช่นกัน
แต่ดูเหมือนว่า เอาไปปั่นในโซเชียลกันเกินจริง
จนกลายเป็น ส.ส.เทวดาไปหลายคน
"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ลูกชาย "ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์" ชายผมขาวข้างกายทักษิณ อภิปรายปัญหาพืชผลทางการเกษตร ไปตีปี๊บกันขั้นว่า สภาสะเทือน
เนื้อหาอภิปรายเหมือนเลกเชอร์ทางวิชาการ
เอาไปปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ มันก็คล้ายๆ ที่ "ธนาธร" ไปรับฟังปัญหาประมง แล้วมาคุยใหญ่โต แต่ไร้วิธีแก้ปัญหาจริง
แค่ยางพาราปัญหาคืออะไร...ก็ผิดแล้ว
นักรบห้องแอร์ ไม่ได้ไปดูถึงต้นตอว่าคืออะไร
รัฐบาลทักษิณส่งเสริมให้ปลูกทั่วประเทศ ๑ ล้านไร่ เอาเข้าจริงเกิน เพราะมีการสร้างปัญหาใหม่ บุกรุก หักร้างถางพง จาก ๑ ล้านไร่ เกินไปเท่าไหร่?
เอาหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ดีมานด์ ซัพพลาย มาจับก็รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร
มันเยอะเกินไป ไม่แบ่งโซน นั่นคือปัญหาหลัก
นักรบห้องแอร์ ไม่พูดถึง แต่ น้องฟ้ากดไลก์กดแชร์ ยกให้เป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย!
"กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ" เป็นอีกคนที่สร้างสีสันให้พูดถึง กับการเรียกร้องให้ใช้ภาษาถิ่นอภิปรายในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร
เหตุเพราะการใช้ภาษากลางเพียงภาษาเดียว เป็นการกดขี่เชิงอัตลักษณ์!
ขอโทษ...สังคมไทยอยู่ร่วมกันมาเป็นร้อยๆ ปี เราไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งทางภาษา
โรงเรียนทั่วประเทศใช้ภาษากลางเป็นหลัก เพราะเป็นภาษาราชการ มาช้านาน ยังไม่เห็นว่าใครเดือดร้อนถึงขนาดลุกขึ้นมาตะโกนว่า ต่อไปนี้จะเลิกใช้ภาษากลาง
วันนี้ ส.ส.ส้มหวานบอกว่า เป็นการกดขี่
เรื่องพวกนี้ถ้ามีปมในใจ ก็ควรเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัว
ไม่ควรจุดไฟให้เป็นเรื่องความขัดแย้ง
การอภิปรายในสภา ส.ส.พูดภาษาอีสาน ใต้ เหนือ ไทยใหญ่ เขมร มีให้เห็นมานานแล้ว
ไม่ใช่เรื่องแปลก
และไม่มีอะไรบ่งบอกว่าต้องพูดเนื่องจากถูกกดขี่เชิงอัตลักษณ์
การอ้างว่าประเทศอินเดีย ยุโรป แคนาดา กำหนดให้ใช้ได้หลายภาษา ก็ต้องกลับไปดูว่า ประเทศเหล่านั้นมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติด้วยใช่หรือไม่
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน แคนาดา กำหนดให้ใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส นั่นเพราะบรรพบุรุษของเขามา ๒ สาย
อังกฤษกับฝรั่งเศส
ทุกวันนี้ยังมีความขัดแย้งต้องการแยกประเทศกันอยู่เนืองๆ
รัฐควิเบก รัฐที่ใหญ่สุดทางตะวันออกของแคนาดา เป็นรัฐเดียวที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการในระดับรัฐ
แต่ใช้ภาษาฝรั่งเศส
ที่เขาใช้มากกว่า ๑ ภาษาเพราะเขาต้องหลอมรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว
หรืออย่างอินเดีย มีภาษาหลักไม่ต่ำกว่า ๓๐ ภาษา ภาษาย่อยอีกกว่า ๒,๐๐๐ ภาษา
อินเดียจึงต้องมีภาษาราชการ ๒๒ ภาษา ด้วยเหตุผลเดียวกันกับแคนาดา
หลอมรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว
เพราะในอดีตมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ใช้กันคนละภาษา
ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และต่างภาษาที่เดียวคือ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่สาเหตุหลักมาจากการอ้างความต่างด้านศาสนาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
ไม่ใช่ภาษา!
ไม่เคยมีความขัดแย้งเพราะการใช้ภาษายาวีและภาษากลาง
แล้วมีเหตุอะไรให้ต้องใช้หลายๆ ภาษาในห้องประชุมสภา ในเมื่อคนไทยส่วนใหญ่ล้วนฟังภาษากลางออก
ไม่มีความแตกต่างทางภาษาแต่อย่างใด
ก็น่าแปลก...ตอน "ลุงตู่" พูดภาษาไทยในเวทีผู้นำอาเซียน ทั้งส้มหวานทั้งติ่งด่ากันขรม ไร้ความสามารถ พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น
แบบนี้มันเข้าข่ายกดขี่เชิงอัตลักษณ์หรือเปล่า?
กดขี่ภาษาตัวเองหรือไม่?
ไปที่การเดินทางทัวร์ยุโรป-อเมริกาของ "ธนาธร-พรรณิการ์" ข้อมูลภายในของพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า กำหนดการส่วนใหญ่เป็นการ "ขอพบ"
ไม่ได้เป็นการ "เชิญ"
คนติดต่อจัดคิวทั้งหมดคือ "พรรณิการ์"
"ธนาธรออนทัวร์ยุโรป-อเมริกา" เริ่มป่าวประกาศกันเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคมที่ผ่านมา ตรงกับวันสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญยืดเวลาให้ "ธนาธร" ส่งหลักฐานคดีถือหุ้นสื่อ
กระทั่งถึงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ถึงจะมีความเคลื่อนไหวออกมาว่า ธนาธรและทีมอนาคตใหม่ไปขอพบสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
ไปคุยกับ "อลิน สมิธ" สมาชิกรัฐสภายุโรป หนึ่งในคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของรัฐสภายุโรป
ประเด็นพูดคุยมีเรื่องการเลือกตั้งในไทย
อ้างว่ามีรายงานความผิดปกติเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยสมาชิกรัฐสภายุโรปยืนยันว่าสหภาพยุโรปจะนำเรื่องความชอบธรรมและเสถียรภาพของรัฐบาลไทยหลังเลือกตั้ง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน มาพิจารณาก่อนที่จะเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างอียูกับไทย ซึ่งหยุดชะงักมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร ๒๕๕๗
พบกับลอตเทอร์ ลิชต์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำยุโรป แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยไม่ใช่การกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และไม่สามารถยอมรับได้ ประชาธิปไตยจะมีความหมายได้อย่างไรถ้าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
รวมถึงสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองและสิทธิในการชุมนุม ไม่ได้รับการปกป้อง
จากนั้นวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ไปเยอรมนี พบพรรคกรีน เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี พูดเรื่องเลือกตั้งในไทย แต่ไม่มีรายละเอียดว่าไปพูดเรื่องเลือกตั้งว่าอย่างไร
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การไปพูดเรื่องการเลือกตั้งกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลถึงการเจรจา FTA
อย่างที่รับรู้กันเป็นการทั่วไปว่า ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นพรรคอนาคตใหม่บอกว่าไม่พอใจในหลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
แต่พรรคอนาคตใหม่ไม่เคยพูดว่า ตัวเองได้ประโยชน์จากระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่โจมตีว่าเป็นมรดกเผด็จการมากที่สุด
ก็รู้เสียตั้งแต่วันนี้ว่า...หากอนาคตอันใกล้นี้อียูปฏิเสธที่จะเจรจา FTA กับไทย โดยอ้างเรื่องไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นฝีมือใคร
ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงกับทัศนคติของ คุณช่อ พรรณิการ์
คำให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย โดย บ.ก.ใหญ่ นพพร วงศ์อนันต์
ช่อ พูดถึงประเทศไทยเอาไว้แบบนี้
"...เราอยากอยู่ในสังคมที่เป็นแบบนี้กันจริงๆ หรือเปล่าคะ ช่อถามนิดหนึ่ง สังคมที่เป็นมาตลอด ที่จริงไม่ใช่ ๕ ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ ๘๗ ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย
เราลองถามตัวเองดูว่า เราพร้อมที่จะส่งต่อสังคมแบบนี้ให้ลูกหลานเราหรือเปล่า
คำถามง่ายๆ เลยนะคะ ที่เป็นรูปธรรมมาก ถ้าคุณมีตังค์พอ คุณจะเอาตัวเองไปอยู่ประเทศอื่นเช่น ยูเอสเอ ลอนดอน มั้ย
คุณจะเอาลูกไปเรียนในที่ที่ดีกว่าเช่น ที่ลอนดอน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์มั้ย
ช่อคิดว่าคนจำนวนมากที่คิดว่าเรากำลังพร่ำเพ้ออุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ ช่อคิดว่า ๙๐% จะตอบว่าถ้ามีตังค์ชั้นก็ส่ง ถ้ามีตังค์ชั้นก็ย้าย เพื่ออนาคตของลูกเพื่ออนาคตของตัวชั้นเอง
นั่นก็คือคำตอบในตัวว่าคุณเองก็ไม่พอใจกับสังคมที่เป็นอยู่นี้
แต่วิธีที่คุณเลือกแก้ปัญหาก็คือหนีออกไปจากสังคมนั้น
ข้อเท็จจริงก็คือใช่ว่าทุกคนในประเทศไทยมีเงินมากพอส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ เพื่อที่จะได้รับการศึกษาที่ดี ไม่ใช่ทุกคนในประเทศไทยมีเงินมากพอที่จะไปอยู่ต่างประเทศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
ถ้าเราพอใจกับสังคมที่เป็นอยู่แล้ว คงไม่มาทำพรรคการเมือง ใช้ชีวิตไปตามปกติ ที่เรามาทำพรรคการเมืองเพราะเห็นว่าสังคมแบบนี้ส่งต่อไปให้ลูกหลานเราไม่ได้
เพราะฉะนั้นทำให้มันดีขึ้น ทำอย่างไร วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ เราต้องสามารถมีเสียง มีมือ มีไม้ในการบริหารประเทศ ที่จะไปในทิศทางที่เราอยากให้มันเป็น และลูกหลานเราอยากใช้ชีวิตอยู่...."
น่าตกใจ! นี่มันทัศนคติชังชาติหรือเปล่า?
คนไทย ๙๐% เลยหรือที่คิดว่า หากมีเงินมากพอจะไปอยู่ต่างประเทศ
ไปเที่ยวคงจะใช่ แต่ไปอยู่จะมีสักกี่คน
ประเทศไทยอาจไม่น่าอยู่บ้างตรงที่ สังคมยังไม่พัฒนาเท่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่ไม่ได้ป่าเถื่อนถึงขนาดทิ้งประเทศตัวเองไปอยู่ที่อื่น
มีคนไทยเยอะแยะมากมายมีเงินมากพอ แต่เขาก็ภูมิใจที่มีประเทศของตนเอง แม้จะล้าหลังกว่ายุโรป-อเมริกาก็ตามที
ด้วยทัศนคติที่มองประเทศตัวเองเช่นนี้จึงน่ากังวลจริงๆ
ไม่รู้ธนาธรออนทัวร์เขาไปขายอะไรกันบ้าง.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |