ปปช.ถามนาฬิกาป้อมรอบ4!


เพิ่มเพื่อน    

    ป.ป.ช.ร่อนหนังสือถามนาฬิกาหรู "บิ๊กป้อม" รอบ 4 ปัดยื้อเวลาอ้างอยากได้ข้อมูลทั้ง 25 เรือน พร้อมเรียกพยานให้ถ้อยคำเพิ่ม 2 ปาก จ่อสรุปสำนวนปาล์มอินโดฯ ภายในปีนี้  "ศรีสุวรรณ" ร้อง ปปง.สอบเส้นทางเงินแก๊งโกงคนจน พม.เผยพบอีก 3 จ.เบิกจ่ายงบผิดปกติ
    เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม​การ​ทุจริต​แห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์​สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า ล่าสุดได้ลงนามในหนังสือเพื่อส่งถึง พล.อ.ประวิตรให้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมแล้ว โดยจะครบกำหนดภายในเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากกรณีดังกล่าวมีรายละเอียดของนาฬิกาถึง 25 เรือน จึงอยากให้ พล.อ.ประวิตรตอบถึงรายละเอียดให้ชัดเจน ทั้งนี้ รายละเอียดในหนังสือครั้งล่าสุดนี้เป็นคนละประเด็น​คำถาม​กับหนังสือที่เคยส่งให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจง ครั้งที่ 3 
    ส่วน พล.อ.ประวิตร​จะขอขยายเวลาได้หรือไม่นั้น  ต้องดูเหตุผลของ พล.อ.ประวิตรก่อนว่าตอบมาเรียบร้อยหรือไม่ หรือติดปัญหาอะไร แต่โดยปกติจะให้ความเป็นธรรม​ เพราะในแต่ละเรื่องจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างกรณีนี้มีประเด็นจำนวนมาก และเรื่องย้อนหลังจึงต้องให้เวลาพอสมควร นอกจากนี้ ในส่วนพยานบุคคลที่ ป.ป.ช.ได้เชิญมาให้ถ้อยคำก่อนหน้านี้จำนวน 4 คน ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว พบว่าในเบื้องต้นจำเป็นต้องเชิญพยานบุคคลอีก 2 คนเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาทั้งสิ้น ขณะนี้ได้ส่งหนังสือเชิญบุคคลดังกล่าวไปแล้ว คาดว่าจะดำเนินการสอบถ้อยคำภายในสัปดาห์หน้า  
    เมื่อถามว่า การส่งหนังสือถึงให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจงเรื่องนาฬิกาถึง 3 ครั้งที่ผ่านมา มีความชัดเจนหรือน่าพอใจมากน้อยแค่ไหน นายวรวิทย์กล่าวว่า หนังสือ 2 ฉบับแรกที่ถามไป ข้อมูลที่เรารวบรวมได้ยังไม่มากพอ  แต่เมื่อได้รวบรวมจนมากเพียงพอแล้วจึงถามไปในหนังสือครั้งที่ 3 และครั้งล่าสุดนี้ ลงรายละเอียดนาฬิกาแต่ละเรือน อย่างไรก็ตาม ต้องดูรายละเอียดที่ พล.อ.ประวิตรชี้แจงเพิ่มเติมมาก่อนว่ามีกรณีจำเป็นที่ต้องเชิญ พล.อ.ประวิตรมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ ถ้ามีกรณีจำเป็นที่จะต้องเชิญก็ต้องเชิญ
    "การทำหนังสือให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจงเพิ่มอีก ไม่ใช่เรื่องการประวิงเวลา เพราะเรื่องการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน แต่เดิมมีข้อมูลนาฬิกาเพียงเรือนเดียว แต่พอมีประเด็นหลายๆ ประเด็นพยานหลักฐานมากขึ้น ดังนั้นต้องให้ พล.อ.ประวิตร​ชี้แจง ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ต้องรวบรวมแต่ละประเด็น ยืนยันไม่ได้ประวิงเวลา เมื่อมีนาฬิกาจำนวนหลายเรือน ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องปกติของการรวบรวมพยานหลักฐาน" เลขาธิการ ป.ป.ช.ระบุ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า นาฬิกาทั้ง 25 เรือน ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนใช่หรือไม่ว่าที่ไปที่มาเป็นอย่างไร นายวรวิทย์​กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในสำนวน รวมถึงข้อมูลจากนายเรืองไกร ลีกิจ​วัฒนะ​ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่ ป.ป.ช.เชิญมายืนยันข้อมูล หาก ป.ป.ช.ดำเนินการแล้วเสร็จจะมีการแถลงรายละเอียด​ 
    อย่างไรก็ตาม เมื่อถามย้ำว่าคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตรเกี่ยวกับนาฬิกา​ทั้ง 25 เรือน ระบุว่าเป็นของเพื่อนทั้งหมดใช่หรือไม่ ปรากฏว่านายวรวิทย์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว
สรุปคดีปาล์มอินโดฯ ปีนี้
    พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ของบริษัท พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ว่ามีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อสั่งไต่สวนเพิ่มเติมบุคคลที่เกี่ยวข้องในแต่ละโครงการ เพราะเดิมทีมีการไต่สวนเฉพาะกรรมการผู้จัดการ แต่หลังจากเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนได้ไต่สวน พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานและขอความร่วมมือทางอาญากับต่างประเทศ จึงมีข้อมูลเพียงพอที่จะสั่งไต่สวนเพิ่มเติมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 โครงการ ซึ่งต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาต่อไป จากนั้นจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คาดว่าในปีนี้จะสามารถสรุปสำนวนได้
    ส่วนกรณีนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว ได้ขอให้เปลี่ยนตัว น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ออกจากการเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนนั้น เรื่องดังกล่าวได้ร้องเรียนมาถึง 16 ครั้งแล้ว และเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาคำร้องดังกล่าว และยกคำร้อง เพราะกระบวนการที่ร้องมานั้น ป.ป.ช.สามารถชี้แจงได้ ขณะที่การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไม่มีพยานหลักฐานส่อไปในทางนั้น ดังนั้น น.ส.สุภาจึงยังทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนต่อไป
    พล.ต.อ.วัชรพลยังกล่าวถึงกรณีการพบการทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่ามีการส่งบัตรสนเท่ห์มาที่สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการตรวจสอบอยู่ แต่หากคนที่ถูกกล่าวหามีตำแหน่งสูง ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ท. จะมีการแจ้งมาที่ ป.ป.ช.  อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของบัตรสนเท่ห์  ไม่มีการพาดพิงถึงปลัดกระทรวง พม. เพียงแต่เป็นการแจ้งข้อมูลว่าอาจจะมีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม และยังไม่ได้รับการประสานจาก ป.ป.ท.ในการส่งเรื่องนี้มาที่ ป.ป.ช. 
    ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ลงไปทำจะเกิดความซ้ำซ้อน และจะเป็นการทำงานที่ไม่คุ้มค่า เพราะขณะนี้ ป.ป.ท.ทำได้อยู่แล้ว ป.ป.ท.มีพนักงานไต่สวนและกระบวนการไต่สวนที่คล้าย ป.ป.ช. อีกทั้งโดยกฎหมายเราเป็นภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่หากมีอะไรที่สนับสนุนได้ก็พร้อมสนับสนุน 
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพบปะกับ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า  ได้รับรายงานความคืบหน้าการลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งจากการสุ่มลงพื้นที่ในบางจังหวัดพบว่ามีมูลการกระทำความผิดเกือบทุกแห่ง หลับหูหลับตาไปที่ไหนก็พบ และต่อไปคงลืมตากว้างๆ แล้วไปในทุกจังหวัด อย่างไรก็ตามได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อทำการตรวจสอบผู้กระทำผิด โดยหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ท.ที่จะทำการตรวจสอบต่อไป ซึ่งต้องสุ่มตรวจสอบในอีกหลายจังหวัดเพิ่มเติมอีกด้วย
    ด้านนางไพรวรรณ พลวัน รองปลัด พม. ในฐานะรักษากาการปลัด พม. กล่าวถึงการตั้งกรรมการสอบสวนนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. กรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จำนวน 4 คน โดยมี พ.ต.ท.เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะเริ่มประชุมในสัปดาห์หน้าเพื่อให้การสอบข้อเท็จจริงได้ข้อสรุปรวดเร็วที่สุด หากไม่พบผิดจะมีคำสั่งให้สองผู้บริหารดังกล่าวกลับมาปฏิบัติหน้าที่เช่นเดิม
พบ 3 จ.เบิกจ่ายผิดปกติ
    นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวว่า นอกเหนือจาก จ.ขอนแก่นและเชียงใหม่แล้วที่พบว่ามีมูล เบื้องต้นพบความไม่ปกติในการเบิกจ่ายอีก 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ และพัทลุง ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียด
    ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พ.ท.กรทิพย์ประชุมร่วมกับนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, พล.ต.กาจน์บดินทร์ ยิ่งดอน รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ขอนแก่น และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปแนวทางการคุ้มครองพยานในคดีทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากและผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น 
    โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า การคุ้มครองพยานนั้น ได้ให้ความมั่นใจกับ ป.ป.ท.และพยานทั้ง 2 คนที่กล้าออกมาเปิดเผยความจริง ซึ่งกำลังทหารจาก กอ.รมน.และมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ได้ประสานการทำงานร่วมกัน สภ.บ้านเป็ด, มทบ.27 (ร้อยเอ็ด) และฝ่ายปกครองของ จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม เพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่และตลอด 24 ชั่วโมง ให้กับน.ส.ปณิดา ยศปัญญา และ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล ซึ่งออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตดังกล่าว จนกว่าคดีดังกล่าวจะสิ้นสุด
    พ.ท.กรทิพย์กล่าวว่า คดีนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องเฉพาะของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นทั้งหมด 6 คน แยกเป็นข้าราชการ 2 คน เจ้าหน้าที่ที่เป็นลูกจ้าง 3 คน และคนนอก 1 คน ซึ่งการสอบสวนของ ป.ป.ท.นั้นเป็นไปอย่างรัดกุมรอบคอบ นอกจากตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ขอนแก่นแล้ว ยังคงมีการขยายวงกว้างเข้าสู่การไต่สวนที่ศูนย์คุ้มครองฯ เชียงใหม่ บึงกาฬ และหนองคาย โดยทุกศูนย์มีความผิดที่คล้ายกันกับขอนแก่น อีกทั้งจะมีการขยายผลการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มเติมอีก 8 จังหวัดต่อจากนี้
    วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เรื่อง “ขอเรียกร้องให้ ปปง.สอบเส้นทางการเงินผู้บริหาร พม. กรณี “โกงคนจน” ระบุว่า ตามที่ปรากฏกรณี ป.ป.ท. ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นขบวนการใหญ่ระดับประเทศที่มีการสมคบคิดกันอย่างเป็นกระบวนการดำเนินการกันเกือบทุกจังหวัด ดังนั้นการที่กระทรวง พม.ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่ข้อยุติในการหาผู้กระทำความผิดในครั้งนี้ได้ทั้งหมด เพราะไม่สามารถสอบไปถึงผู้บริหารในระดับนโยบายได้
       นอกจากนี้ พม.ยังอีกหลายโครงการที่ใช้เงินงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะโครงการบ้านมั่นคงที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตอย่างมหาศาลอีกด้วย
    "ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้ “คณะกรรมการธุรกรรม” ภายใต้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เร่งรับเข้ามาใช้อำนาจตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินและเส้นทางทางการเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตั้งแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัดทุกจังหวัด ไปจนถึงระดับนโยบาย ระดับรัฐมนตรี และระดับรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวง พม.ด้วย เพื่อจะสามารถยับยั้งการโยกย้ายถ่ายโอนเงินที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดในหลายๆ โครงการได้ทันการณ์ เพื่อเสนอผลการตรวจสอบให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป" นายศรีสุวรรณระบุ
       ทั้งนี้ สมาคมฯ จะใช้สิทธิตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบ พ.ร.บ.ปปง.2542 มาตรา 25(4) ในการเดินทางไปยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ ปปง.ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ปปง. เพื่อปกป้องเงินจากภาษีประชาชนและนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริงทั้งกระบวนการมารับโทษได้ต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"