มิ.ย.นัดทุกพรรค เคาะวันเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

    “บิ๊กป้อม” ลั่นคุมสถานการณ์อยู่หมัดจนถึง ก.พ.2562 แน่ วิษณุกางปฏิทิน เชื่อ ก.ย.กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ได้ใช้ “มิถุนายน” เตรียมเรียกทุกฝ่ายหารือวันหย่อนบัตรที่แน่ชัด รวมถึงเรื่องปล่อยผี กมธ.เคาะกฎหมายลูกเรื่อง ส.ว.แล้ว “วินวิน” ใช้แบบ สนช.แค่ 5 ปีแรกต่อไปใช้แนว กรธ. พรรคเล็กคึกคักเตรียมจดจองชื่อ
    เมื่อวันที่ 28 ก.พ. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศว่าจะเลือกตั้งเดือน ก.พ.2562 ว่าเราจะดูแลสถานการณ์ให้สงบเรียบร้อย เพื่อจะได้มีการเลือกตั้ง และยืนยันว่าจะไม่มีปัจจัยอะไรทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบอยากเลือกตั้งนั้น ก็ไม่รู้จะมาชุมนุมกันทำไม เพราะเราจะเลือกตั้งอยู่แล้ว
       เมื่อถามว่า กลุ่มอยากเลือกตั้งประกาศโรดแมปเคลื่อนไหวชัดเจนจะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ประวิตรตอบทันทีว่า ต้องไปถามพวกเขา มาถามอะไรตนเอง และไม่กังวลว่าจะมีมือที่สามมาสร้างสถานการณ์ ไม่มีหรอก อยู่ที่ผู้สื่อข่าวนั่นแหละ ขอให้ถามดีๆ
    ขณะที่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกฯ ที่ได้ให้ความชัดเจนเรื่องกำหนดระยะเวลาของการเลือกตั้งว่าไม่เกิน ก.พ.2562 ถือเป็นสัญญาณที่ดีกับประเทศทุกด้าน และเมื่อมีการเริ่มจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 2 มี.ค. รวมทั้งการผ่อนคลายให้เริ่มมีกิจกรรมทางการเมืองก็จะยิ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อบรรยากาศประชาธิปไตย 
    "พรรคอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดีๆ มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้ง และเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้" นพ.วรรณรัตน์กล่าว
นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเช่นกันว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศความชัดเจนต่อการเลือกตั้ง เพราะส่งผลต่อความชัดเจนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่อยู่ในขั้นตอนของกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย หลังจากที่ผ่านมามีข้อกังวลว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอาจถูกตีตก 
         “พรรคขอให้กำลังใจนายกฯ และรัฐบาลต่อการฝ่าฟันอุปสรรคและกระแสสังคม ที่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีกระแสแรงมากยิ่งขึ้น” นายวราวุธกล่าว
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณี กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายได้พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จแล้วว่า ร่างกฎหมายจะย้อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้ง เพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ โดยในวันที่ 8 มี.ค. หากที่ประชุม สนช.เห็นชอบ คาดว่าจะใช้เวลาตลอดเดือน มี.ค.ในการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเชื่อว่าทุกขั้นตอนจะเป็นไปด้วยความราบรื่น และประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือน มิ.ย. และมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย. เนื่องจากบทเฉพาะกาลได้กำหนดเวลาไปอีก 90 วัน
มิ.ย.จ่อนัดถกวันเลือกตั้ง
    “จากนั้นจะเข้าสู่โรดแมปใหญ่ โดยในเดือน มิ.ย.หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา คสช. ครม. กรธ. และ สนช. จะเชิญพรรคการเมืองทั้งหมดมาประชุมหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง จะเป็นวันใดก็ได้ในช่วงเดือน ก.ย.61-ก.พ.62 และจะหารือเพื่อกำหนดวันปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ ขอสื่ออย่าไปเขียนว่าจะมีการปลดล็อกพรรคการเมืองในวันที่เรียกประชุม เพราะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง”นายวิษณุกล่าว
    เมื่อถามว่า หาก สนช.ลงมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวจะกระทบโรดแมปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าถามเชิงวิชาการจะกระทบกับโรดแมปแน่ แต่อย่าจับเอาประโยคนี้ไปกระหึ่มว่าวิษณุเผยล้มกฎหมายกระทบแน่ ซึ่งเรื่องนี้นายกฯ ได้ประกาศไปเป็นครั้งที่ 2 และพูดในที่ประชุม ครม.เป็นครั้งที่ 7 แล้วว่าจะไม่ให้มีการล้ม ความจริงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายกฯ ที่จะบอกว่าล้มหรือไม่ล้ม แต่เมื่อนายกฯ แสดงเจตนารมณ์อย่างนั้น ท่านต้องการปิดปากไม่ให้ใครเอาท่านไปอ้างได้โดยเด็ดขาด
    วันเดียวกัน พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษก กมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จในทุกประเด็น และจะเสนอให้ที่ประชุม สนช.ลงมติในวันที่ 8 มี.ค.ต่อไป 
พล.ร.อ.ธราธรยังกล่าวว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น กรธ.ได้โต้แย้งใน 3 ประเด็น คือ 1.การกำหนดกลุ่มการสมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม 2.การแบ่งผู้สมัคร ส.ว.ในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท และ 3.การยกเลิกการเลือกไขว้ ซึ่งที่ประชุมมีมติสรุปในข้อ 1 ด้วยเสียง 9 ต่อ 2  คะแนน ให้ร่างเดิมของ กรธ.ทั้งในเรื่องการแบ่งกลุ่มการสมัครให้เป็น 20 กลุ่ม การกำหนดให้มีผู้สมัคร ส.ว.โดยอิสระ และการกำหนดกระบวนการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ด้วยการวิธีการเลือกกันเองและวิธีการเลือกไขว้ ไปอยู่ในบทหลักของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามเดิม 
ข้อ 2 เนื้อหาที่ สนช.ลงมติแก้ไขในวาระที่ 3 ก่อนหน้านี้ ให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยจะบังคับใช้ 5 ปีแรกเท่านั้น ตามวาระแรกเริ่มของ ส.ว.ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยที่ประชุมเห็นชอบให้แบ่งกลุ่มการสมัครเป็น 10 กลุ่ม กำหนดให้ผู้สมัครแบ่งเป็นสมัครโดยอิสระด้วยมติ 9 ต่อ 2 และเห็นชอบด้วยมติ 6 ต่อ 5 คะแนน ให้สมัคร ส.ว.โดยอิสระ และได้รับการเสนอชื่อจากองค์กร และมีมติ 9ต่อ 2 ให้เลือกกันเองโดยตรง
“ยังไม่สามารถตอบได้ว่า สนช.จะมีมติต่อผลของ กมธ.ร่วมอย่างไร เนื่องจากการลงมติเป็นสิทธิเฉพาะตัวของสมาชิก สนช.แต่ละคน” พล.ร.อ.ธราธรกล่าว 
    ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับการเปิดให้กลุ่มการเมืองยื่นขอการแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองตามประกาศ คสช.ที่ 53/2560 โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ชี้แจงถึงการจดชื่อพรรคใหม่ว่า อยากให้ศึกษา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในเรื่องชื่อ ชื่อย่อพรรค ต้องมีลักษณะอย่างไร ซึ่งชื่อทุกชื่อที่มาจดจอง กกต.จะรับไว้ก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าชื่อนั้นจะรับรองหรือใช้ได้ทันที  เพราะ กกต.จะมีคณะทำงานตรวจสอบข้อต้องห้าม หรือชื่อซ้ำกับพรรคอื่นหรือไม่ก่อนแจ้งกลับภายใน 30 วัน และหากซ้ำหรือมีลักษณะต้องห้าม จะให้แก้ไขภายใน 60 วัน ขณะนี้คาดว่าจะมีประมาณไม่เกิน 20 กลุ่มการเมืองเข้าจดจองชื่อพรรค
    “ผมมองในเชิงเทคนิคปัญหาในการพิมพ์ชื่อในบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ชื่อยาวจะทำให้ขนาดตัวอักษรเล็กกว่าพรรคอื่น อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะ กกต.ไม่สามารถพิมพ์ชื่อให้ขนาดตัวอักษรเท่ากันทุกพรรคได้ ขึ้นอยู่กับความสั้นยาวของชื่อพรรค” นายสมชัยแนะ
พรรคเล็กดี๊ด๊าจดจองชื่อ
    ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองนั้น นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ กกต.ด้านพรรคการเมือง เพื่อตรวจสอบเอกสารที่จะนำมาใช้ในการยื่นจดจองพรรคการเมืองในวันที่ 2 มี.ค.นี้ พร้อมตั้งใจมาลงชื่อเพื่อจองเวลาการยื่นเอกสารไว้ก่อน แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าจะไม่มีการเปิดให้ลงเวลาไว้ก่อน แต่ขอให้เดินทางมาในวันที่ 2 มี.ค. ซึ่งนายเยี่ยมยอดยืนยันว่าจะเดินทางมาตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อให้ทันเป็นคนแรกยื่นเอกสาร เพื่อจัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน  (สปป.) 
“พรรคเพื่อไทยยากที่จะได้เสียงข้างมาก ไม่น่าได้เกิน 230 เสียง ดังนั้นที่เหลืออีกกว่า 100 เสียงจะเป็นโอกาสของพรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชนที่เป็นพรรคการเมืองใหม่” นายยอดเยี่ยมกล่าว   
    นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ แกนนำกลุ่มพลังพลเมืองไทย เดินทางมาหารือกับเจ้าหน้าที่ด้านกิจการพรรคของกกต. เพื่อเตรียมเอกสารการจดจองตั้งพรรคเช่นกัน โดยจะจดแจ้งในนามพรรคพลังพลเมืองไทย 
    ขณะเดียวกัน นายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ว.ฉะเชิงเทรา หรือโหร ส.ว. แสดงความคิดเห็นในกลุ่มไลน์ ส.ส.พรรคกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะตั้งพรรคการเมืองว่า ถ้ามองโลกในแง่ดี ก็อาจเข้าใจได้ว่าแยกกันเพื่อโจมตีศัตรูแล้วมาจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลในภายหลัง แต่ก็ไม่กลมกลืนอย่างแท้จริง เพราะพรรคใหม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ 
“ผมสงสัยคุณสุเทพและคณะจัดตั้งพรรคมวลมหาประชาชนเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศต่อไป ยังไม่เข็ดอีกหรือ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจล้นฟ้าตามมาตรา 44 ยังปฏิรูปไม่สำเร็จสักอย่าง แล้วเมื่อไม่มีอำนาจดังเดิมยิ่งจะล้มเหลวตั้งแต่วันแรกที่เป็นนายกฯ อีกสมัย” นายบุญเลิศกล่าว
    ส่วนบรรยากาศการเปิดรับสมัครคัดเลือกเลขาธิการ กกต.ในวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครนั้น บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา ตลอดทั้งวันมีมายื่นสมัครเพียง 1 ราย คือ นายฉัตร์ชัย ยอดอุดม รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  (ป.ป.ท.) เท่านั้น ทำให้นับตั้งแต่เปิดรับสมัครวันที่ 1-28 ก.พ. มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก 6 คน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"