อดีตรองโฆษกปชป.จัดหนักจัดเต็มโฉมหน้าครม.ประยุทธ์2/1


เพิ่มเพื่อน    

12 ก.ค.62 - นายเชาว์ มีขวด ทนายอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chao Meekhuad  โดยมีเนื้อหาดังนี้

ปฏิรูปประเทศอย่างไร ถึงได้คนมีมลทินคดียาเสพติดมาเป็นรัฐมนตรี...

ได้เห็นโฉมหน้าครม.ใหม่ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกันไปแล้ว พอจะจำแนกประเด็นน่าสนใจได้ว่ารัฐมนตรีทั้งหมด 36 คน มี 10 คนที่เป็นรัฐมนตรีเดิมในรัฐบาล คสช. และมี 13 คนที่ได้เป็นรัฐมนตรีป้ายแดง โดยหนึ่งในนั้นคือร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเคยถูกถอดยศราชการทหารขณะดำรงตำแหน่งร.ท.ในยุครัฐบาลชวน 2 ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อพชร ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีใต้ปีกพล.อ.ประยุทธ์

เรื่องของข้อเท็จจริงในคดีรวมถึงการถูกถอดยศไม่ขอพูดถึง เพราะถือว่ายุติแล้ว แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ กรณีที่มีการเปิดข้อมูลว่าร.อ.ธรรมนัส เคยถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุกในคดียาเสพติด ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาปกป้องว่า ไม่ขาดคุณสมบัติเพราะไม่ได้ถูกตัดสินจำคุกโดยศาลไทย ซึ่งเป็นความจริงในแง่กฎหมาย แต่เราจะปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง โดยพูดถึงแต่ข้อห้ามทางกฎหมายโดยละทิ้งคุณธรรม จริยธรรมไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่าภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ กำลังทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีที่นายทักษิณขายหุ้นไม่เสียภาษีแล้วนายสุวรรณ วลัยเสถียร ออกมาอธิบายว่า ไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ขออธิบายเรื่องจริยธรรม

รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) บัญญัติถึงคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครสส.ซึ่งใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า...แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปราบโกงที่ตีปี๊บให้ประชาชนช่วยกันลงประชามติ ต้องการได้คนสุจริตที่ไม่เคยมีมลทินเข้ามาทำงานการเมืองบริหารประเทศ มีการกำหนดการกระทำผิดเป็นการเฉพาะหลายกรณีที่ไม่ควรเข้ามาอยู่ในแวดวงการเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคดียาเสพติดรวมอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่าความผิดเกี่ยวกับยาเสพติเป็นคดีสำคัญที่ไม่อาจยอมให้คนที่เคยมีประวัติด่างพร้อยเรื่องนี้เข้ามาสู่เส้นทางการเมืองได้

ร.อ.ธรรมนัส ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด แต่ที่ถูกพิพากษาจำคุกเพราะไม่แจ้งเบาะแส โดยติดคุกอยู่ 8 เดือนเป็นความผิดลหุโทษ และได้รับอานิสงส์จากพรบ.ล้างมลทินแล้ว ซึ่งไม่จริงตามป.อาญามาตรา102 ได้ให้คำนิยามความผิดลหุโทษ คือ ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษจำคุก 8 เดือนของร.อ.ธรรมนัส จึงไม่ใช่ความผิดลหุโทษอย่างที่ออกมาชี้แจง ยิ่งความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่ใช่ความผิดลหุโทษอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องข้ออ้างได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ขอย้ำว่าพ.ร.บ.ล้างมลทินมีผลเป็นเพียงการล้างโทษทางวินัยที่ผู้กระทำผิดได้รับเท่านั้น หาได้มีการลบล้างพฤติกรรมการกระทำความผิดอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกลงโทษไปด้วยไม่ ส่วนข้อเท็จจริงในคดีจะไม่ขอก้าวล่วง เนื่องจากไม่มีข้อมูล

สิ่งที่สังคมควรช่วยกันตั้งคำถามไปถึงผู้นำประเทศคือ เหตุใดจึงตั้งคนที่มีมลทินเช่นนี้เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ ต่อไปเราจะตอบคำถามประชาชนได้อย่างไรว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติด ในเมื่อคนที่พัวพันกับคดียาเสพติดยังได้ดีเป็นถึงรัฐมนตรี...และถ้านี่คือมาตรฐานของคนที่ประชาชนคิดว่า "ดี" ใช้ในการคัดสรรคนเป็นรัฐมนตรี ผมคิดว่าประเทศไทยไร้ความหวังที่จะปฏิรูปการเมือง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"