ปราม‘ธนาธร’อย่าชักศึกเข้าบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ปราม "ธนาธร" ทัวร์ยุโรป อย่าใช้ประเทศเป็นเครื่องมือการเมือง "วิษณุ" แจงอำนาจ ม.44 ยังอยู่ หมดหลัง ครม.ประยุทธ์ 2 ถวายสัตย์ฯ "ลดาวัลลิ์" บี้เลิกคำสั่ง คสช.ให้คนเห็นต่างกลับไทย

    เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายธนาธร จึงรุงเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และคณะ เดินสายพบปะกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าน่าเป็นห่วงผลพวงที่จะเกิดขึ้นจากการเดินสายครั้งนี้จะส่งผลลบต่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ แม้จะอ้างว่าไปแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจการเมืองโลก และแสวงหาความร่วมมือในอนาคตระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป
    "เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มเทความพยายามอย่างรอบคอบในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ยึดถือหลักการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ จนทำให้ต่างประเทศเข้าใจและยอมรับประเทศไทยมากขึ้น และมิตรประเทศรวมถึงอียูก็มีท่าทีที่เป็นบวกต่อไทย สังเกตได้จากการประชุมผู้นำจี 20 ครั้งที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลหลายประเทศแสดงความมั่นใจ ความกระตือรือร้นและพร้อมจะร่วมมือกับประเทศไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน การมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ทุกอย่างกำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ดังนั้นจึงอยากขอร้องว่า การเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม อย่าใช้ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นเครื่องมือทางการเมือง" พล.ท.วีรชนระบุ
    ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลและข้าราชการทุกหน่วยงานต่างทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญาทำงานอย่างหนัก ในการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ กับอียู ซึ่งการเจรจาอยู่บนพื้นฐานหลักการสากลและกำลังมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติ ทำให้ประเทศไทยสามารถฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ ที่กำลังเป็นความท้าทายของโลกอยู่ในปัจจุบันไปได้ แต่ถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นในทางลบ โดยมีสาเหตุมาจากความเคลื่อนไหวข้างต้น บุคคลเหล่านั้นจะรับผิดชอบได้หรือไม่
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอำนาจตามมาตรา 44  ว่า จะหมดไปภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่สิ่งที่ออกไปแล้วก็ยังอยู่ต่อไปจนกว่า ครม.หรือสภาจะยกเลิก หรือแก้ไข แล้วแต่ว่าสถานภาพจะเป็นอะไร ถ้าเป็นคำสั่งบริหาร ครม.สามารถยกเลิกได้ แต่หากมีฐานะเท่ากับกฎหมายต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อยกเลิก 
    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ต้องดำเนินการในสภาเหลืออยู่เพียงประมาณกว่า 10 ฉบับ ส่วนการยกเลิกหรือแก้ไขโดยสภานั้น จะพิจารณา 3 วาระรวดหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา บางอย่างอาจต้องใช้เวลายาวเกินกว่าจะทำใน 3 วาระก็ได้ และยังต้องพึ่งวุฒิสภาด้วย เช่นเดียวกับการออก พ.ร.บ.
    ขณะที่ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เหตุใดหัวหน้า คสช.จึงไม่ยกเลิกคำสั่งและประกาศอีกหลายฉบับที่เรียกให้ผู้ที่เห็นต่างมารายงานตัวกับ คสช. หลังก่อรัฐประหารใหม่ๆ ใครไม่มาก็ถูกจับกุมดำเนินคดีมีโทษทั้งจำคุกและปรับ ขณะนี้มีผู้ที่หลบลี้หนีภัยการเมืองไปอยู่ในต่างประเทศอีกหลายคน คนเหล่านี้ต้องพลัดพรากครอบครัว พวกเขาอยากกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน แต่ยังกลับมาไม่ได้ เนื่องจากยังมีคำสั่ง คสช.อยู่ อยากถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังอาฆาตเคียดแค้นที่คนเหล่านี้ไม่ยอมสยบก้มหัวให้กับ คสช.ใช่หรือไม่ และรู้ไหมว่านี่คือการสร้างภาระให้กับสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องเสียเวลาไปกับการเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้ยกเลิกคําสั่ง คสช.ดังกล่าว เรื่องนี้จึงน่าจะเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ต้องการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"