สังฆราชมอบ คติธรรมมาฆะ


เพิ่มเพื่อน    

    สมเด็จพระสังฆราชประทานพระคติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา ให้แต่ละคนตั้งตนอยู่ในคติธรรม มีความอดทนอดกลั้นในการดำเนินชีวิต ด้านอธิการบดี มจล.ชี้พุทธศาสนายุค 4.0 ควรเผยแพร่ข่าวสารเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2561 ใจความว่า
    ดิถีมาฆบูชา เป็นโอกาสให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ ซึ่งบังเกิดขึ้นพร้อมกัน เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” กล่าวคือ มีพระภิกษุ 1,250 รูป ที่พระพุทธองค์ได้ทรงส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา กลับมาเฝ้าพระศาสดาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย ทุกรูปล้วนเป็นเอหิภิกขุ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอุปสมบทประทานให้ พระสงฆ์ทั้งนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ และการประชุมกันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ
    ในโอกาสดังกล่าว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานอุดมการณ์เผยแผ่พระพุทธศาสนา มีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ ข้อแรก ได้แก่ “ขันติ” คือ ความอดทนอดกลั้น อันนักบวชในศาสนานี้จำเป็นต้องอบรมสั่งสมให้เจริญขึ้น ข้อสอง ได้แก่ การมุ่ง “พระนิพพาน” เป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช ไม่มุ่งแสวงสิ่งอื่นใดนอกจากการหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ด้วยวิธีการตามหลักพระพุทธศาสนา ข้อสาม ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการเบียดเบียนไม่ว่าจะในกรณีใดๆ และข้อสี่ เป็นผู้มีจิตใจสงบจากอกุศลวิตก มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น 
    ด้วยเหตุนี้ นอกจากการประกอบศาสนพิธีเพื่อบูชาพระรัตนตรัยเป็นพิเศษแล้ว พุทธบริษัทจึงควรศึกษาทบทวนถึงอุดมการณ์ดังกล่าวให้ถ่องแท้ ไม่จำกัดเฉพาะเพียงแต่ในหมู่บรรพชิต หากยังรวมถึงฆราวาสด้วย ถ้าแต่ละคนตั้งตนไว้ด้วยขันติธรรม มีความอดทนอดกลั้นในการดำเนินชีวิต มุ่งประพฤติสุจริตธรรมจรรยาเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ ไม่ริก่อความเบียดเบียนกันและกัน ในขณะเดียวกันก็พยายามลดละความชั่วทุกชนิดให้เบาบางจนหมดสิ้นไป ความเจริญสุข ความเกษมปราศจากภัยในชีวิตของแต่ละคนย่อมจักบังเกิดขึ้นได้อย่างแน่แท้
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริริเริ่มให้มีประเพณีมาฆบูชาบนแผ่นดินไทย สมควรที่ชาวไทยจะได้สืบสานพระราชศรัทธา น้อมนำคุณค่าของวันสำคัญนี้มาสู่ตน ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ และโลก ให้ไพบูลย์ยิ่งขึ้น ขอสาธุชนทั้งหลายจงตั้งมั่นอยู่ในพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความผาสุกสิริสวัสดิ์จักได้บังเกิดแก่ท่านผู้ปฏิบัติธรรม ตามสมควรแก่ธรรมนั้นๆ ทุกประการ 
    เมื่อวันพุธ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) บรรยายพิเศษสถานการณ์พระพุทธศาสนาในยุค 4.0 ในงานพิธีประทานรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม จัดโดยสมาคมผู้ทำประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ คัดเลือกบุคคลที่มีผลงานดีเด่นในการส่งเสริม เผยแผ่ อุปถัมภ์ คุ้มครอง พิทักษ์และปกป้องพระพุทธศาสนา รวมทั้งกิจการสาธารณะสงเคราะห์ตามแนวทางวิถีพุทธ เป็นบุคคลต้นแบบทางพระพุทธศาสนาจากทุกสาขาอาชีพ เข้ารับประทานรางวัล เสาอโศกผู้นำศีลธรรม จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ที่หอประชุมพุทธมณฑล 
    พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่า การจัดงานวันนี้เป็นการนำแนวทางของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาเป็นต้นแบบของพระมหากษัตริย์ชาวพุทธทั่วโลก และถือเป็นบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนา ครั้นสมัยอดีตการออกป่าล่าสัตว์เป็นเกมกีฬาของผู้มีอำนาจ พระเจ้าอโศกเคยตรัสว่าไม่ให้ออกไปเข้าป่าล่าสัตว์ แต่ให้จาริกแสวงบุญปฏิบัติธรรมไปยังสถานที่ต่างๆ มีสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนให้ไปที่นั่น พระเจ้าอโศกทรงให้ปักเสาไว้ในสถานที่สำคัญของพระพุทธเจ้า คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ผ่านมากว่า 2,500 ปี หากไม่มีการปักเสาแสดงหลักฐานไว้ให้จะไม่มีใครรู้ว่าสถานที่สำคัญของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใด พระเจ้าอโศกถือเป็นต้นแบบของธรรมราชาในการทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างแท้จริง 
    "ยุคนี้ศาสตร์พระราชาในรัชกาลที่ 9 นำธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราชาวไทยต้องสานต่อ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามที่ทรงวางไว้ และในรัชกาลปัจจุบัน ทรงส่งเสริมให้คนออกมาทำจิตอาสา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สู่คนอื่น ท้ายที่สุดในยุคสังคมออนไลน์ ต้องออกมาร่วมกันเผยแผ่มากกว่ากระจายข่าวสารทางลบ" พระพรหมบัณฑิตกล่าว  
    สำหรับผู้ที่ได้รับประทานรางวัล เสาอโศกผู้นำศีลธรรมปีนี้ มีจำนวน 150 คน รวมถึงนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ‘ตูน บอดี้สแลม’ ผู้ทำโครงการก้าวคนละก้าว หาเงินสมทบ 11 โรงพยาบาลด้วย
    นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ว่า จากการที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และรับสั่งถึงวิธีการดูแลพลานามัยของพระองค์ด้วยการลดหวาน มัน เค็ม ไม่เติมเครื่องปรุงแต่ง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้น้อมนำแนวทางดังกล่าวมารณรงค์ให้ประชาชนในการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์เพื่อสุขภาพที่ดี เนื่องด้วยพระภิกษุมีข้อจำกัดหลายเรื่อง ทั้งการออกกำลังกายต้องสำรวม อาหารที่นำมาถวาย พระสงฆ์ไม่สามารถเลือกได้ ฉะนั้น ประชาชนต้องช่วยในการคัดสรรมากกว่าถวายตามความชอบของผู้ล่วงลับ หรือความชอบส่วนบุคคล โดยควรถวายอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี 
    ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข เครือข่าย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระสงฆ์นักพัฒนา จัดหลักสูตร พระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ให้ความรู้พระภิกษุในการดูแลสุขภาพ ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ 2560 ขณะเดียวกันเตรียมส่งเสริมประชาชนถวายสังฆทานยาสมุนไพรพระสงฆ์ นอกจากยาสามัญทั่วไป มีทั้งสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแก้หวัด เจ็บคอ ยาอมมะแว้งขับเสมหะ ยาหอมแก้เวียนศีรษะ ตะไคร้หอมป้องกันยุงกัด
    ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า 10 ปีให้หลัง พระสงฆ์ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น มีพระสงฆ์อาพาธถึงร้อยละ 28.5 โรคที่พบมาก ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ข้อเข่าเสื่อม
    ผู้สื่อข่าวจากจังหวัดต่างๆ รายงานด้วยว่า มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชากันอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่อ่างทอง วัดบ้านแก ต.ศรีพราน อ.แสวงหา ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนจัดประเพณีเผาข้าวหลาม จำนวน 10,000 กระบอก พระครูสุตานุยุต เจ้าอาวาสวัดบ้านแก เปิดเผยว่า ประเพณีการเผาข้าวหลามที่วัดแห่งนี้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเนิ่นนานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งนอกจากเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องในวันมาฆบูชา ยังเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งเป็นการเชื่อมความสามัคคีในชุมชนด้วย
    นครราชสีมา ที่วัดแจ้งนอก เขตเทศบาลนครนครราชสีมา สถานศึกษาหลายโรงเรียนได้พาเด็กนักเรียนเข้าวัดฟังธรรมเทศนา ทำบุญเวียนเทียนรอบอุโบสถ ปลูกฝังให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดกับธรรมะเป็นประจำทุกปี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"