'วินทร์' ปัดฝุ่นบทความเก่าสะท้อนข้อคิด 'เสรีภาพแต่งกาย' กระทุ้ง ส.ส.ต้องให้เกียรติสถานที่


เพิ่มเพื่อน    

11 ก.ค.62 - วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ได้โพสต์เรื่องสิทธิ เสรีภาพ กาลเทศะไปแล้ว ขอต่ออีกนิดเรื่องกฎ มารยาท รวมไปถึงเสรีภาพในการแต่งกายจะได้ครบความ บทความนี้เขียนเมื่อพฤษภาคม 2551 ช่วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกกฎห้ามนักศึกษาสวมชุดไม่เรียบร้อย

ภาพยนตร์โทรทัศน์แนวซิทคอมของฝรั่งที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่งราวยี่สิบปีก่อนคือ The Golden Girls เป็นการผจญภัยของหญิงวัยไม้ใกล้ฝั่งสี่นาง บลานช์, โรส, โดโรธี และโซเฟีย ที่อยู่ด้วยกันในบ้านเช่าหลังหนึ่งในไมอามี ฟลอริดา แม้จะเป็นหนังตลก แต่ก็แตะประเด็นร้อนของสังคมมากมาย

ในตอนหนึ่ง สาวไม่น้อยเหล่านี้ไปเยือนสมาคมเปลือยกายแบบรีสอร์ท กินเวลานานพอควรกว่าสตรีสูงวัยทั้งสี่จะทำใจได้จนกล้าถอดเสื้อผ้าและเดินเพ่นพ่านไปมาในนิคมคนเปลือยนั้น

ครั้นคุ้นเคยกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสมาคมโดยไม่สวมเสื้อผ้าดีแล้ว เย็นนั้นกลุ่มหญิงไม้ใกล้ฝั่งก็แวะไปกินอาหารเย็นในห้องอาหารของรีสอร์ทในสภาพเปลือยเปล่าอย่างสบายอารมณ์ เมื่อเปิดประตูเข้าไป ทั้งสี่ก็ตกตะลึงเมื่อพบว่าแขกทั้งหมดซึ่งกำลังกินอาหารในห้องนั้นสวมเสื้อผ้าเต็มยศกันทุกคน !

ถึงจะเป็นนิคมเปลือย แต่ไม่ใช่ทุกที่ทุกเวลาที่พวกเขาแก้ผ้ากัน !

ในปี 2551 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ผมเคยเป็นนักศึกษาออกกฎระเบียบห้ามนักศึกษาสวมชุด 'ไม่เรียบร้อย' โดยเฉพาะนักศึกษาหญิง ห้ามสวมมินิสเกิร์ต ชุดสายเดี่ยว และชุดล่อแหลมอื่น ๆ

ย่อมมีคนตั้งคำถามว่า การตั้งกฎระเบียบดังกล่าวผิดหลักเสรีภาพของมนุษย์หรือไม่ ? ลิดรอนสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ? ที่สำคัญที่สุดคือมันช่วยพัฒนานักศึกษาให้เป็นคนที่มีคุณภาพดีขึ้นหรือไม่ ?

ในชั่วโมงแรกของวิชาการแต่งกายในหลักสูตรพัฒนาบุคลิกภาพที่ผมเคยเข้าเรียนในสถาบันบุคลิกภาพชั้นนำแห่งหนึ่งนานปีมาแล้ว อาจารย์ชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างการแต่งตัวเรียบร้อยกับการแต่งตัวดี

การแต่งตัวเรียบร้อยเป็นคนละเรื่องกับการแต่งตัวดี

ถามว่าไม่เหมือนกันหรือ? คำตอบคือไม่เหมือนกัน ! การแต่งตัวเรียบร้อยอาจไม่ใช่การแต่งตัวดี

การแต่งตัวเรียบร้อยในมาตรฐานของสังคมคือการแต่งตัวแบบปกปิดร่างกายโดยมีจุดหมายไม่ให้อุจาดตา ไม่ผิดวัฒนธรรมประเพณี ไม่สวนทางกับศีลธรรม ความเป็นสุภาพบุรุษและกุลสตรี และอีกสารพัด 'ความเหมาะสม' ที่สังคมกำหนด แต่อาจไร้รสนิยมในเชิงศิลปะ

มาตรวัดของความเรียบร้อยมักมาจากค่านิยมของสังคม กล่าวคืออะไรที่สังคมรับไม่ได้ก็แปลว่าไม่เรียบร้อย ยกตัวอย่างเช่น สวมชุดโชว์เนื้อหนังมังสาไปตักบาตรถือว่าไม่เรียบร้อย สวมชุดมินิสเกิร์ตไปโรงเรียนถือว่าไม่เรียบร้อย เป็นต้น

ความเรียบร้อยยังมีสองมาตรฐาน ซึ่งอาจวัดได้จากสถานะอาชีพ เช่น นักศึกษาสาวสวมชุดโนบราถือว่าไม่เรียบร้อย ขณะที่นักร้องราตรีที่ทำอย่างเดียวกันถือว่ารับได้

ส่วนการแต่งตัวดีคือการแต่งตัวที่มีจุดหมายเพื่อให้ดูดี มีรสนิยมดีและให้เกียรติแก่สถานที่

อาจารย์ผู้สอนเน้นคำนี้มาก : ให้เกียรติแก่สถานที่ และหรือคนที่เราไปหา เราไม่สวมชุดเปิดเผยแนบเนื้อไปฟังเทศน์ในวัดเพราะให้เกียรติพระและคนอื่น ๆ ไม่สวมชุดสีสดใสไปงานศพ เป็นต้น

การแต่งตัวดีกินพื้นที่กว้างกว่าการแต่งตัวเรียบร้อย มันแสดงถึงรสนิยมของผู้แต่งกาย ผสานการแต่งกายเข้ากับมารยาท ความเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือทำให้คนคนนั้นดูมีราคา

นี่ก็คือ "คนงามเพราะแต่ง" ที่แท้จริง

เสรีภาพกับอิสรภาพเป็นสองวิถีทางสำคัญในการดำเนินชีวิต มนุษย์ควรมีอิสรภาพในการดำเนินชีวิตของเขาเอง ในการเลือกคู่ครอง ในการศึกษาสายที่ต้องการ ฯลฯ นี่คืออุดมคติของชีวิตที่เป็นจริงได้

ทว่าการใช้ชีวิตในสังคมก็มีราคาของมันอย่างหนึ่ง นั่นคือ เสรีภาพมีขอบเขตของมัน การใช้ชีวิตแบบสัตว์สังคมหมายถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย

ย่อมมีคนบอกว่า "ทำไมยุ่งนัก ? ก็แค่การแต่งตัว ทำไมต้องมีกฎอะไรมากมายวุ่นวาย"

ความจริงคือ 'กฎ' กับ 'มารยาท' ก็เป็นคนละเรื่องกัน

กฎมาจากภายนอก มารยาทมาจากภายใน

โลกเรามีกฎการเสพไวน์แดงกับเนื้อ, ไวน์ขาวกับปลา กฎแบบนี้เกิดมาจากความนิยมที่คนกลุ่มหนึ่งตั้งขึ้นมาจากประสบการณ์ แต่การเสพไวน์แดงกับปลาก็ไม่ทำให้ท้องเสียแต่อย่างไร

มารยาทคือสิ่งที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่นเพราะเราเชื่อว่าเรามีคุณค่าพอที่จะให้และรับความรู้สึกดี ๆ ได้

การไปลามาไหว้ การค้อมหัวเล็กน้อยขณะเดินผ่านผู้ใหญ่ การยิ้มให้คนแปลกหน้า ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ทำให้ทุกคนรู้สึกดี มันมาจากภายในตัวตนของเรา

จนเมื่อเราต้องเสแสร้ง เช่นไหว้คนที่ไม่อยากไหว้ มันจะพ้นสภาพจากมารยาทเป็นกฎและโซ่ตรวนไปในทันที

คนไม่น้อยเห็นว่าการเป็นอิสระจากกรอบ การมีเสรีภาพที่จะเลือกคือการต้องแสดง-ป่าวประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าตนมีสิ่งเหล่านี้ แต่ทว่าการคิดนอกกรอบก็ไม่ได้หมายถึงต้องนอกกรอบไปหมดทุกเรื่อง หรือนอกกรอบเพียงเพื่อให้ชาวโลกรู้ว่าตนนอกกรอบ เสรีภาพในการแต่งกายก็มิได้มาจากการแต่งกายแบบตามใจฉันเสมอไป เสรีภาพในการพูดก็ไม่ได้หมายถึงการเอาแต่พูด ๆ ๆ

อิสรภาพที่แท้จริงก็คือความสามารถที่จะยืดหยุ่นได้ ไม่ใช่คิดแต่จะกบฏอยู่ทุกเรื่องทุกวัน เพราะการใช้ชีวิตในสังคมใด ๆ ในโลกมีปัจจัยและตัวแปรมากกว่าตัวเราเอง

เราต้องมีความรับผิดชอบด้วย

ความรับผิดชอบต่อตัวเองคือรู้จักเติมความรู้ ดูแลสุขภาพให้ดี ไม่เสพสารเสพติดจนร่างกายเสียหาย ความรับผิดชอบต่อครอบครัวคือดูแลลูก สามี ภรรยา พ่อ แม่ ความรับผิดชอบต่อสังคมคือช่วยทำให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้น และภูมิใจที่ได้อยู่ในสังคมนั้น และอยากให้ลูกหลานของตนอยู่ในสังคมนั้น

นี่คือเสรีภาพกับอิสรภาพซึ่งเมื่อเราเข้าใจมันจริง ๆ ข้อห้ามต่าง ๆ ก็ไม่จำเป็น และนี่ก็คือความงามของการใช้ชีวิตที่ดีหรือมิใช่ ?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"