ข่าวคราวจากกัมพูชาเรื่องสหรัฐฯ กับจีนกำลังแย่งอิทธิพลเรื่องฐานทัพเรือที่นั่นซึ่งตั้งอยู่ใกล้ประเทศไทย มีประเด็นน่าสนใจมากเพราะมีส่วนเกี่ยวโยงกับบ้านเราไม่ใช่น้อย
ข่าวบอกว่าเมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ ขอให้กัมพูชาอธิบายเหตุผลที่ปฏิเสธในลักษณะค่อนข้างจะฉับพลันกะทันหันต่อข้อเสนอที่อเมริกาจะช่วยซ่อมแซมฐานทัพเรือที่นั่น
เพียงแค่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธไม่ให้อเมริกาเข้าไปซ่อมฐานทัพเรือก็คงไม่เท่าไหร่
แต่ประเด็นที่วอชิงตันตั้งข้อสงสัยนี่ซิที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
เพราะสหรัฐฯ บอกว่าการตัดสินใจของกัมพูชาในกรณีนี้ ทำให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับแผนสำหรับการใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพของทหารจีน
พูดง่ายๆ คืออเมริกากำลังบอกว่าเขมรเอาใจออกห่างจากสหรัฐฯ เพื่อจะซบอกจีน
และไม่เพียงแต่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่กำลังจะคืบคลานเข้าสู่เรื่องทหารด้วย
จดหมายจากวอชิงตันถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ตอกย้ำความกังวลของสหรัฐฯ ที่เห็นทหารจีนมาปรากฏตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ค่อนข้างชัดเจนว่าปักกิ่งได้เพิ่มความแข็งกร้าวในการอ้างสิทธิอธิปไตยของประเทศในทะเลจีนใต้ และยิ่งเห็นทหารจีนมาเพ่นพ่านในประเทศแถบอาเซียนมากขึ้นและถี่ขึ้น ก็ย่อมจะทำให้อเมริกาเริ่มคิดหนักเหมือนกัน
จดหมายที่ว่านี้มาจากโจเซฟ เฟลเตอร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เนื้อหาของจดหมายคือการ "ขอข้อมูลเพิ่มเติมถึงการตัดสินใจของกัมพูชา" ที่ปฏิเสธความช่วยเหลือในการซ่อมแซมสถานที่ฝึกและคลังเก็บเรือที่ฐานทัพเรือเรียม (Ream)
ตอนหนึ่งของจดหมายบอกว่า
“จดหมายแจ้งเตือนลงวันที่ 6 มิ.ย.2019 เป็นที่รับทราบทั่วทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และกำลังก่อให้เกิดการคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกะทันหันนี้อาจบ่งชี้ถึงแผนการที่ใหญ่กว่าสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ฐานทัพเรือเรียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นที่ตั้งสินทรัพย์ทางทหารของจีน”
เป็นการใช้ภาษาตรงไปตรงมาเพื่อกดดันให้รัฐบาลกัมพูชาต้องตอบให้ชัดเจนไปทางใดทางหนึ่งค่อนข้างชัดเจน
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารในกรุงพนมเปญ ต่างยืนยันว่าจดหมายถึง พล.อ.เตีย บัญ ถูกส่งมอบในวันที่ 24 มิ.ย.ปีนี้นี่เอง
แต่โฆษกกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาชี้แจงว่า พนมเปญไม่ได้ปฏิเสธเงินช่วยเหลือของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นเพียงเพราะกัมพูชาต้องการนำไปใช้ที่อื่น
โฆษกทหารของเขมรยอมรับว่ามีอะไรกำลังจะเปลี่ยนในเร็วๆ นี้
“ที่ฐานทัพเรือเรียมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในอนาคต” พล.อ.ชุม สุชาติ โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชากล่าว
แต่บอกว่าไม่อาจให้รายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงได้
พอนักข่าวถามว่า "การเปลี่ยนแปลง" ที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับกองกำลังของจีนหรือไม่ แกตอบว่า "ไม่"
ซึ่งก็ไม่ให้ทำให้หายสงสัยแต่อย่างใด
ต้องยอมรับว่ากัมพูชาเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากจีนเป็นกอบเป็นกำ
อีกทั้งปักกิ่งยังให้การอุ้มชูทางการเมืองแก่นายกรัฐมนตรีฮุน เซนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการเผชิญต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและรัฐบาลตะวันตก
สำนักข่าวต่างประเทศสอบถามไปยังสถานทูตจีนในกรุงพนมเปญในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้คำตอบใดๆ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียบปฏิบัติทางการทูตของปักกิ่งอยู่แล้ว
ทุกวันนี้จีนมีฐานทัพนอกประเทศอยู่ที่ประเทศจิบูตี ทวีปแอฟริกา แต่ถ้าถามว่าเขามีแผนจะเพิ่มจำนวนฐานทัพในต่างประเทศหรือไม่ ก็จะไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด
ฐานทัพเรือเรียมที่ว่านี้มีขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสีหนุวิลล์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกาสิโนที่เฟื่องฟู
อีกทั้งยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่นักลงทุนจีนเข้ามาบริหารอย่างเกือบจะเต็มตัว
เมื่อปีก่อน นายกฯ ฮุน เซนประกาศว่าจะไม่ยินยอมให้มีฐานทัพทหารต่างชาติบนแผ่นดินของกัมพูชา
เป็นการแสดงความเห็นหลังจากมีรายงานข่าวว่า จีนกำลังพยายามหาทำเลเหมาะๆ ที่จะตั้งฐานทัพเรือใน จ.เกาะกง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสีหนุวิลล์
หากเป็นจริงก็แปลว่าจะมีฐานทัพที่เอื้อต่อจีนอยู่ติดกับชายแดนไทยทีเดียว
รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ของสหรัฐฯ เคยเขียนจดหมายถึงฮุน เซนเมื่อปีก่อน แสดงความวิตกกังวลถึง “การปรากฏตัวของทหารต่างชาติหรือฐานทัพต่างชาติในกัมพูชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชา”
เป็นข่าวที่คนไทยควรจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะการยื้อแย่งอิทธิพลของสองยักษ์ใหญ่ไม่จำกัดเฉพาะทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น
หากแต่ยังขยายวงไปทางทหาร ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยน "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" ในบริเวณบ้านเราด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |