ถ้าเป็นไปตามข่าวที่ผมได้รับล่าสุด การเจรจารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนืออาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ช่วงต้นเดือนหน้านี้
ถือเป็นจังหวะเหมาะเจาะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนในช่วงปลายเดือนนี้ หลังจากการประชุมสุดยอดระดับผู้นำที่เพิ่งผ่านพ้นไป...และก่อนการประชุมสุดยอดใหญ่ประจำปีในเดือนพฤศจิกายนนี้
ข่าวที่ว่านี้มาจากหลายกระแสที่บอกตรงกันว่า ในการพบปะระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จองอึน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาตรงเส้น "เขตปลอดทหาร" หรือ Demilitarized Zone (DMZ) ระหว่างชายแดนเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือนั้น ทั้งสองตกลงกันว่าจะกลับสู่โต๊ะการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง
ทรัมป์บอกคิมระหว่างการพูดคุยกันประมาณ 50 นาทีตรงนั้นว่า เขาเสียใจที่ไม่อาจจะหาข้อตกลงกันได้ในการประชุมสุดยอดของพวกเขาที่ฮานอยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
คิมตอบว่าก็คงจะต้องพยายามหาข้อยุติกันต่อไป
ข่าวบอกว่าทั้งสองตกลงกันว่าจะให้รัฐมนตรีทั้งสองประเทศคุยกันใหม่ เพื่อจะได้เริ่มต้นรอบการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง
และบังเอิญทั้งสองรัฐมนตรีได้รับเชิญจากประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพอาเซียนให้มาร่วมการสนทนากับรัฐมนตรีอาเซียนทั้ง 10 คนที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้
เป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับพันธมิตรที่เรียกว่า ASEAN Regional Forum ที่จัดกันประจำทุกปีอยู่แล้ว
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมก์ ปอมเอโอ ประกาศแล้วว่าจะมาเมืองไทยในช่วงนั้น
และรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ รี ยองโฮ ก็ตกปากรับคำว่าจะมาเหมือนกัน
ยิ่งเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้นำว่าทั้งสองหาโอกาสนั่งคุยกันเพื่อนำไปสู่การเจรจารายละเอียดของข้อตกลงให้ได้ ก็ยิ่งมีเหตุผลที่จะต้องมาเจอกันที่กรุงเทพฯ
จะเป็นการพบกันนอกรอบเพื่อกรุยทางสู่การบรรลุข้อตกลงให้ได้
ก่อนที่ทรัมป์กับคิมจะเจอกันเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งจะเป็นที่ไหนหรือเมื่อไหร่ย่อมขึ้นอยู่กับผลการต่อรองระหว่างคนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย
ผมเชียร์ให้ทรัมป์กับคิมมาเจอกันที่กรุงเทพฯ ในรอบหน้าครับ เพราะประเทศไทยจะได้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์โลกด้วย
จุดยืนของทั้งสองประเทศยังไม่อาจเรียกได้ว่าสามารถบรรจบกันได้อย่างเรียบร้อย
เพราะแม้ว่าทรัมป์กับคิมจะจับมือกันครั้งล่าสุด มือขวาของทรัมป์ก็ยังบอกนักข่าวสหรัฐฯ ว่าอเมริกาต้องการจะให้เกาหลีเหนือ "แช่แข็ง" หรือ freeze โครงการนิวเคลียร์ไว้ทั้งหมด ก่อนจะเดินหน้าคุยเรื่องให้วอชิงตันยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเปียงยาง
ทรัมป์เสนอคิมว่าอเมริกาอาจจะตั้งสำนักงานประสานงาน หรือที่เรียกว่า Liaison Office ที่เกาหลีเหนือ เพื่อเป็นการเปิดทางให้มีการติดต่อกันอย่างเป็นทางการได้
และอเมริกาอาจจะเริ่มแสดงท่าทีเป็นมิตร ด้วยการเสนอความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและอาหารต่อเกาหลีเหนือก่อน
แต่เรื่องจะให้เลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนั้น ทรัมป์ยังไม่ทำ เพราะถือว่าเป็นไพ่ต่อรองใบสำคัญ
คิมก็ยังจะไม่เลิกโครงการนิวเคลียร์อย่างที่ทรัมป์เรียกร้อง เพราะนั่นก็เป็นอาวุธแห่งการต่อรองที่สำคัญที่สุดของโสมแดงเช่นกัน
คิมต้องการให้ทรัมป์ยอมตกลงให้มีการ "ถอยคนละก้าว" ซึ่งหมายความว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมผ่อนปรนต่อกันทีละขั้นตอน มิใช่ให้เกาหลีเหนือยอมเลิกนิวเคลียร์ทั้งหมดก่อนแล้วอเมริกาจึงจะยอมยกเลิกการคว่ำบาตร
ตรงนี้แหละที่จะเป็นประเด็นต่อรองที่เข้มข้นในการเจรจาระดับรัฐมนตรีและระดับทำงานของทั้งสองฝ่าย
เพราะต่างคนต่างคิดว่าตนถือ "ไพ่ตาย" เอาไว้ หากปล่อยไปก่อนก็จะเสียอำนาจต่อรองได้
ดังนั้น แม้เราจะเห็นภาพการยิ้มแย้มต่อกันระหว่างทรัมป์กับคิม และมีการหยอดคำหวานให้กันและกัน แต่พอลงถึงเนื้อหาสาระของการ "ยื่นหมูยื่นแมว" แล้ว ต่างฝ่ายก็ไม่ได้ยอมลดละให้กันง่ายๆ เหมือนกัน
เพียงผ่านไปได้ไม่กี่วัน ผู้แทนเกาหลีเหนือในสหประชาชาติก็ออกแถลงการณ์ต่อว่าต่อขานอเมริกาและโลกตะวันตก ว่ายังเดินหน้ากดดันเกาหลีเหนือด้วยมาตรการคว่ำบาตรต่อเนื่อง ไม่มีความจริงใจที่จะแสวงหาสันติภาพอย่างที่พูดปาวๆ ตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเกาะติดความเคลื่อนไหวจาก คิม จองอึน อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
เพราะวันนี้คิมได้กลายเป็นนักการทูตฝีมือฉมังระดับสากลที่ใครๆ ก็อยากจะมาจับมือแล้ว
แต่เขาจะเป็นวีรบุรุษระดับสากลได้ก็ต่อเมื่อสามารถโน้มน้าวทรัมป์ให้ยอมเลิกคว่ำบาตรอย่างจริงจังเสียก่อน!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |