เครื่องแต่งกายประจำชาติจาก 'ปิญญ่า-เซดา' เส้นใยสับปะรดแท้ผสมไหม
เป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมงานฝีมือโบราณจากประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อมิวเซียมสยาม ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ และสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย จัดแสดงนิทรรศการ “ปิญญ่า-เซดา ผ้าใยสับปะรดและใยไหมจากเขตร้อน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ชักชวนช่างฝีมือที่ยังสืบทอดการทอผ้าเส้นใยสับปะรดด้วยมือมาสาธิตการทอผ้า ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีขั้นตอนการขูดใยสับปะรดด้วยมือ ใช้คมของเศษจานกระเบื้องค่อยๆ ขูดบนผิวของใบสับปะรด เพื่อดึงแยกใบชั้นนอกที่เป็นเส้นใยหยาบออกมา ก่อนจะใช้ขอบกะลาแยกชั้นที่สอง จนได้เส้นใยที่ดีและนุ่มที่สุด ซึ่งต้องใช้เส้นใยสับปะรดกว่า 1,260 เส้นเพื่อทอผ้าที่กว้าง 30 นิ้ว
ขั้นตอนตั้งแต่การเพาะปลูก ผลิตเส้นใยจากใบสับปะรด การออกแบบและการสร้างลวดลายปักบนผืนผ้า เทคนิคการทอผ้าอันซับซ้อนในแบบต่างๆ นั้นใช้เวลาและขั้นตอนจำนวนมาก เมื่อผสมผสานเส้นใยสับปะรดเข้ากับผ้าไหมก็ยิ่งเผยความสวยงาม ทำให้ “ปิญญ่า” ภาษาสเปนแปลว่า สับปะรด และ “เซดา” ภาษาสเปนแปลว่า ผ้าไหม เป็นเนื้อผ้าที่ได้รับการยกย่องว่าละเอียดที่สุดและเป็นราชินีแห่งสิ่งทอของฟิลิปปินส์ กลายเป็นชุดประจำชาติฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน
ชมวิธีการขูดใยสับปะรดด้วยมือจากใบของต้นสับปะรดพันธุ์สเปนสีแดง
“ปิญญ่า-เซดา” ถูกสวมใส่ในงานของชนชั้นสูงในเมืองช่วงระหว่างที่สเปนปกครองฟิลิปปินส์ และสับปะรดถูกนำเข้ามาในฟิลิปปินส์โดยผู้ปกครองชาวสเปนเพื่อเป็นอาหาร และปลูกให้ผลดีบนเกาะปานัย ผลงานเครื่องแต่งกายจากเส้นใยสับปะรดแท้ผสมไหมซึ่งเป็นชุดประจำชาติ ทั้งบาโรง ชุดผู้ชาย คอลเลคชั่นของอัลเบิร์ต แอนโตนิโอ และบาโร ชุดผู้หญิง คอลเลคชั่นของวุฒิสมาชิกลอเรน ลีการ์ดา ได้ตั้งตระหง่านอยู่ในนิทรรศการนี้
ราเควล อาร์ ช่างฝีมือทอผ้าปิญญ่า-เซดาจากจังหวัดอัคลัน วัย 48 ปี กล่าวว่า ในชีวิตช่างทอ ทำงานกับเส้นใยมาหลากหลายชนิด ทั้งเส้นไหม คอตตอน แต่การทอผ้าใยสับปะรดนั้นท้าทายที่สุด เพราะต้องการทักษะการทอ การออกแบบ การเตรียมเส้นด้ายยืน กระบวนการทอยังต้องการความอ่อนโยนและความรัก เพราะเส้นใยสับปะรดต้องทอด้วยมือเท่านั้น ใช้เครื่องจักรไม่ได้ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา
“ นอกจากเป็นช่างทอแล้ว ตัวเองยังเป็นดีไซเนอร์และเป็นครูสอนทอผ้าปิญญ่า-เซดามากว่า 18 ปี จะสอนให้คนในหมู่บ้าน เป็นวิทยากรรับเชิญให้กับสถาบันด้านสิ่งทอมากมาย ปัจจุบันมีผู้ชายเข้ามาเรียนทอผ้าด้วยเศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น แต่มากกว่ารายได้เราภาคภูมิใจไม่ละทิ้งวัฒนธรรมของบ้านเกิด ดีใจเมื่อได้รับคำชื่นชมและชาวต่างประเทศเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมงานฝีมือชาวฟิลิปปินส์” ราเควล ยืนยันภูมิปัญญาปิญญ่า-เซดาได้รับการสานต่อจากคนรุ่นใหม่
ราเควล อาร์ ช่างฝีมือทอผ้าปิญญ่า-เซดา สาธิตบนกี่ทอผ้าแบบอัคลัน
ส่วน ดร.แอนนา มาเรีย ทีเรซา พี. ลาบราดอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ปิญญ่า-เซดาขึ้นชื่อว่าเป็นราชินีสิ่งทอของฟิลิปปินส์ ความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์อยู่ที่เส้นใยสับปะรดถูกสกัดจากใบของต้นสับปะรดพันธุ์สเปนสีแดง ใบของพันธุ์นี้ให้เส้นใยที่ดีมากๆ สำหรับการทอด้วยมือ ต้นสับปะรดมีการปลูกในหลายพื้นที่ เส้นใยจะถูกขูดและลอกออกด้วยมือจนได้เส้นใยที่ดีที่สุด คนขูดใยสับปะรดทำได้ 500-1,000 ใบต่อวัน ความรู้ในการผลิตและการทอถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น
การทอผ้าปิญญ่า-เซดานี้ ดร.แอนนา บอกว่า อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ “ตันฮาก้า” เป็นกี่ทอผ้าแบบอัคลัน นิยมใช้กันในบ้าน เดิมตันฮาก้าจะมีขนาดใหญ่ แต่เมื่อพิพิธภัณฑ์ฯ ฟิลิปปินส์เข้าไปทำงานวิจัย อนุรักษ์และพัฒนาร่วมกับท้องถิ่น ได้ช่วยกันพัฒนากี่ทอผ้าให้มีขนาดเล็กลง สามารถถอดประกอบได้ภายใน 30 นาที ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ช่างทอผ้าจากอัคลันและบาเลเต้ก็สาธิตการทอผ้าด้วยกี่ตันฮาก้าซึ่งหาชมได้ยาก แล้วยังมีช่างปักลายผ้าจากลัมบันและลากูน่าร่วมเวิร์กช็อปงานปักลายผ้า
ปิญญ่า เส้นใยที่ดีมากสำหรับการทอมือ
“ นิทรรศการปิญญ่าฯ จะส่งเสริมค่านิยมและตระหนักคุณค่าของงานที่ทำด้วยมือ จนถึงการนำสิ่งของจากธรรมชาติเข้ามาสร้างสรรค์จัดแสดงมาแล้วหลายประเทศในแถบอเมริกาและยุโรป เช่น อังกฤษ โปรตุเกส สเปน เยอรมนี สหรัฐ ผลตอบรับดีมาก ในปีนี้มีแผนที่จะขยายเส้นทางจัดนิทรรศการในเมืองต่างๆ อาทิ เบอร์ลิน ปราก เจนีวา เวียนนา โทรอนโต บัวโนสไอเรส เม็กซิโกซิตี โตเกียว และไทย จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม ” ดร.แอนนา กล่าว
นิทรรศการ “ปิญญ่า-เซดา” สอดรับปีวัฒนธรรมอาเซียน แมรี โจ เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย บอกว่า เวลานี้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมกันขนานใหญ่ในกลุ่มประเทศอาเซียน นิทรรศการสัญจรนี้จะทำให้คนไทยได้รู้จักและเข้าใจสิ่งทอประจำชาติที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์อย่างปิญญ่า-เซดา เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ประสบความสำเร็จ ใช้ทุนทางวัฒนธรรมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน มีการพัฒนาต่อยอดจากทักษะที่สืบต่อมา เราเน้นชาวฟิลิปปินส์ที่แข็งแรงต้องรู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง
ผ้าใยสับปะรดแท้ผสมใยไหม สิ่งทอเลื่องชื่อ สร้างเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์
ด้านราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยามเน้นสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ รวมถึงมุ่งยกระดับและพัฒนาศักยภาพพิพิธภัณฑ์ให้เกิดความแตกต่างด้วยการทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ผ่านโครงการวิชาการต่างๆ มองว่าพิพิธภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องของวัฒนธรรม ดังนั้นมิวเซียมสยามจึงเริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์ในอาเซียนขึ้นเมื่อปี 2559 เพื่อเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมทั้งของตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้จากพิพิธภัณฑ์ไปสู่สาธารณชน พร้อมเสริมสร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นพลเมืองอาเซียนให้เกิดความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์อันหลากหลายในแต่ละวัฒนธรรมให้เกิดความเข้าใจ เกิดการยอมรับสู่การพัฒนาประเทศร่วมกันในอนาคต
“ นิทรรศการนี้น่าสนใจและมีความแปลกใหม่ นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งทอที่ไทยสามารถนำมาต่อยอดได้ สิ่งที่เพื่อนบ้านทำทั้งเทคนิคการทอผ้าปิญญ่า-เซดา การผลิตเส้นใยคุณภาพดีเราอาจไม่ต้องใช้ใยสับปะรด แต่ความที่เป็นประเทศเขตร้อน ไทยมีชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย หากรัฐบาล นักวิชาการ และท้องถิ่น ร่วมมือกันในการค้นหาวัตถุดิบในการทอผ้าจากเส้นใยใหม่ๆ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ จะเกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ราเมศกล่าว
การออกแบบและสร้างลวดลายปักบนผืนผ้า
ชวนไปทำความรู้จักราชินีสิ่งทอของฟิลิปปินส์ผ่านนิทรรศการ “ปิญญ่า-เซดา ผ้าใยสับปะรดและใยไหมจากเขตร้อน" จะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 27 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ณ อาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน ชมฟรี แล้วยังมีซีรส์การบรรยายและสาธิตทอผ้า วันที่ 9-10 ก.ค. เวลา 10.00-12.00 น. จากนั้นเวลา 14.00-17.00 น. จัดบรรยายและเวิร์กช็อปปักลายผ้าโดยช่างฝีมือปิญญ่า-เซดา ร่วมสอนและแนะนำเทคนิคอย่างเป็นกันเอง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |