การเมืองในสภาฯ วันนี้ทำให้คนไทยต้องจับตาตรวจสอบการทำงานของบรรดา ส.ส.และ ส.ว.กันอย่างใกล้ชิด เพราะในยุคประชาธิปไตย เราในฐานะเจ้าของประเทศและผู้เสียภาษีย่อมต้องการรู้ว่าเขากินเงินเดือนเราแล้ว ทำงานคุ้มกับที่เราไว้วางใจหรือไม่
วันก่อนผมอ่านเจอบทความของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต เขียนเล่ารายละเอียดว่าเหล่าบรรดา “ตัวแทนของปวงชน” ได้รับเงินเดือนและสิทธิพิเศษอะไรบ้าง
เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ คนไทยทั่วไปอาจจะไม่รู้ลึกซึ้งนัก ผมจึงขอนำเอาบางตอนของข้อเขียนของอาจารย์เจิมศักดิ์มาให้ได้อ่านกัน อาจารย์เจิมศักดิ์บอกว่า ขณะนี้ ส.ส.จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน รวม 750 คน กำลังจะจัดสรร แต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยฯ ผู้ชำนาญการ และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว
คำถามมีอยู่ว่า ประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนบุคคลเหล่านี้ เป็นเงินเดือนละเท่าไหร่ ควรแต่งตั้งใครมาทำงาน และควรใช้งานคุ้มค่าหรือไม่ ในเรื่องอะไร?
1.ส.ส.และ ส.ว. รวม 750 คน ได้ค่าตอบแทนคนหนึ่ง เดือนละ 113,560 บาท
ดังนั้น ทุกเดือนประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนรวมกัน 85 ล้านเศษต่อเดือน
2.ส.ส. หรือ ส.ว.แต่ละคน มีผู้ช่วย 5 คน ผู้ชำนาญการ 2 คน และผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนเดือนละ 129,000 บาท
ดังนั้น ทุกเดือนประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนรวมประมาณ 92 ล้านบาทต่อเดือน
3.เท่ากับว่าประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงผู้ช่วยงาน ส.ส. และ ส.ว.อีก 8 คน ต่อ ส.ส.หรือ ส.ว. 1 คน รวมกันเดือนละ 177 ล้านบาท หรือปีละ 2,124 ล้านบาท
โดยที่ยังมีค่าเบี้ยประชุมกรรมาธิการ ค่าเดินทาง รวมถึงการใช้เครื่องบินในประเทศที่ไม่จำกัดจำนวน และจุดหมายปลายทาง โดยสายการบินเรียกเก็บเงินจากรัฐสภา (ที่ประชาชนต้องจ่าย) นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการเงินบำนาญเมื่อต้องพ้นจากตำแหน่งต่อไปอีก
4.ประชาชนยังต้องจ่ายค่าศึกษาดูงานอีกปีละหลายร้อยล้านบาท ที่จัดสรรให้แก่กรรมาธิการแต่ละคณะ รวมถึงเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐสภาอีกหลายพันคน ค่าใช้จ่ายด้านสถานที่อีกจำนวนมหาศาล
ที่เขียนมาข้างต้น มิได้ต้องการบอกว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรมี
แต่กำลังจะบอกว่า ประชาชนโดยตัวแทน และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีต้นทุนที่สูงและแพง ดังนั้นต้องใช้เงินของประชาชนให้คุ้มค่า
1.การแต่งตั้งผู้ช่วยงาน ส.ส./ส.ว. จำนวน 8 คน ต่อ ส.ส./สว. 1 คน ต้องไม่แต่งตั้งบุคคลในครอบครัว สามี ภรรยา ลูกสาว ลูกเขย ลูกสะใภ้ และน้อง หรือญาติสนิทเข้ามาดำรงตำแหน่ง
แต่ควรแต่งตั้งคนที่สามารถทำงานได้จริง มีประสิทธิภาพตรงกับงานในหน้าที่
จริงอยู่บางคนอ้างว่า ภรรยา สามี ลูก รู้ใจ ทำงานมีประสิทธิภาพ ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และหลักของการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ไม่ควรเอาคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 9 คน ที่สรรหาแล้วได้คนในกรรมการสรรหาไปเป็น ส.ว. 5 คน และมีญาติพี่น้องอีกจำนวนหนึ่ง เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้อง
ต้องไม่เอาอย่างกรณี คสช.เลือกสรร ส.ว. 250 คน ที่มีอำนาจหน้าที่มาเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี
การขัดกันแห่งผลประโยชน์ และความโปร่งใส ธรรมาภิบาลในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นข้อเตือนใจให้เกิดความละอาย และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ทางการปกครองได้
2.ค่าตอบแทนผู้ช่วยงาน ส.ส./ส.ว. ทั้งหมด 92 ล้านบาท หรือปีละ 1,100 ล้านบาท รัฐสภาโดยความพร้อมใจของ ส.ส.และ ส.ว.ยุคใหม่ ควรผันเงินดังกล่าวไปจ้างทีมผู้ทำงานศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล รับฟังข้อคิดความเห็น ข้อเท็จจริงจากประชาชน เปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทำเป็นข้อเสนอ ทางเลือกให้แก่กรรมาธิการ ส.ส./ส.ว.
อาจต้องจ้างคนมีประสบการณ์ความรู้สูงด้วยเงินเดือนสูงได้อย่างสบาย เพราะไม่ต้องแจกจ่ายผู้ช่วยเป็นเบี้ยหัวแตกอย่างในปัจจุบัน
อาจจะจัดทีมวิชาการแยกเป็นคณะตามกรรมาธิการที่ศึกษาเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละเรื่อง
เมื่อปี 2543 ขณะที่ได้เข้าไปเป็น ส.ว.จากการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ได้เสนอเรื่องนี้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะกฎเกณฑ์ ผลประโยชน์ ได้เข้าสู่สมาชิกรัฐสภาแล้ว จึงมีคนที่ยอมคายออกไม่กี่คน
3.รัฐสภาไทยได้จัดตั้งสถาบันพระปกเกล้าขึ้นให้เป็นหน่วยวิชาการ ศึกษาค้นคว้า วิจัยเสนอแนะเรื่องสำคัญๆ ให้แก่รัฐสภา เหมือนเช่นรัฐสภาในประเทศประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่สถาบันพระปกเกล้าก็ไม่ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิชาการให้กับรัฐสภา และการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาในการออกกฎหมาย เสนอญัตติ และกำหนดทิศทางของประเทศอย่างเต็มความสามารถ
สถาบันพระปกเกล้าที่ประชาชนรู้จัก จึงเป็นสถาบันจัดฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูง ที่ให้เอกชนอยากเข้ามาสร้างคอนเน็กชั่นกับข้าราชการระดับสูง
สถาบันพระปกเกล้ามีประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานรัฐสภา) เป็นประธานกรรมการ มีประธานวุฒิสภาและผู้นำฝ่ายค้านเป็นรองประธานกรรมการ น่าจะพัฒนาให้ทำงานในหน้าที่ศึกษาวิจัยค้นคว้าทางออกให้สังคมไทย โดยมีความยึดโยงกับประชาชนเจ้าของประเทศให้มากขึ้นกว่านี้
ขอเปิดเผยความจริงให้ได้รับรู้กันว่า ครั้งหนึ่ง ในอดีต... รัฐสภาแคนาดาและหน่วยงานศึกษาวิจัยลักษณะเดียวกับสถาบันพระปกเกล้า ได้เชิญสมาชิกรัฐสภาของไทยและสถาบันพระปกเกล้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูงานของแคนาดา โดยออกค่าใช้จ่ายให้ เพราะเห็นว่าสถาบันศึกษาวิจัยของเขาได้ทำงานร่วมกับรัฐสภาแคนาดา โดยมีกระบวนการให้ประชาชนทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมภายใต้ชื่อ “Citizen Dialogue” ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ ที่รัฐสภาแคนาดาได้ดำเนินการอย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว
คณะผู้แทนจากไทย มีประธานรัฐสภาเป็นหัวหน้าคณะ มี ส.ส.จำนวนหนึ่ง ผมในฐานะประธานกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถาบันพระปกเกล้าอีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปแคนาดา
เมื่อไปถึงสถานที่ศึกษาดูงาน ปรากฏว่า หัวหน้าคณะของเราพร้อม ส.ส.จำนวนหนึ่งได้แยกตัวบินต่อไปที่ไหนไม่มีใครรู้ ปล่อยให้ผมต้องรักษาหน้า ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ ทั้งในงานที่ประธานสภาของแคนาดาจัดเลี้ยงต้อนรับ และการศึกษาดูงานที่ตั้งใจไว้ และมาพบกับคณะที่หายตัวไปที่สนามบินลอสแองเจลิสเมื่อมาต่อเครื่องบินกลับประเทศไทย
อาจารย์เจิมศักดิ์ย้ำว่า
ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน ชวน หลีกภัย คงจะต้องปฏิรูปฝ่ายนิติบัญญัติ ปรับโครงสร้างและระบบการทำงานของรัฐสภาให้ได้
“ประชาชนต้องไม่ปล่อยให้สมาชิกรัฐสภาผลาญงบประมาณ ผลาญเงินของประชาชน โดยไม่ได้ประโยชน์เต็มเท่าที่ควรจะเป็น”
พวกเราเจ้าของประเทศต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบและตั้งคำถามอย่างไม่ละลดต่อเนื่องครับ!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |