“ประยุทธ์” เมินเสียงฝ่ายค้านให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หากศาลรัฐธรรมนูญรับตีความสถานะ “ประวิตร-วิษณุ” ตอกย้ำไม่กังวล ยก “ผู้ตรวจการแผ่นดิน-กกต.” รับรองมาแล้ว “พท.-อนค.” ไม่ยอม ลั่นต้องหยุดทำหน้าที่ "ลดาวัลลิ์" ไปไกลลากเหมืองทองคำมาเอี่ยว "เรืองไกร" ตามราวี “อุตตม” จี้บิ๊กตู่ใช้มาตรา 44 ลงดาบ อ้างศาลไม่เคยบอกว่าไม่ผิด “พปชร.” ผวาหนักเรื่อง ส.ส.นั่งเก้าอี้เทกระโถน เชื่อประชุม 9 ก.ค.น่าจะมีความชัดเจน ย้ำนโยบายเร่งด่วนแก้ปากท้อง ส่วนรัฐธรรมนูญเรื่องรอง นายกฯ จ่อประชุม ครม.นัดแรกทันทีหลังถวายสัตย์ปฏิญาณ เล็งจัด ครม.สัญจร-ตรวจราชการทุกเดือนต่อเนื่อง ส่วนฝ่ายค้านมุ่งชำเรา รธน.เป็นเป้าหลัก
เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่ามีความกังวลหรือไม่ กรณีการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ก่อนจะเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต โดยยิ้มให้ผู้สื่อข่าวเพียงเท่านั้น
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมกล่าวประเด็นนี้เช่นกันว่า ไม่มีความกังวลในเรื่องนี้และยังสามารถทำงานได้อยู่ เชื่อว่าไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้เคยตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว
ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ย้ำเรื่องนี้ว่าไม่ได้มีผลอะไร แล้วแต่ศาลจะว่าอย่างไร เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิดปกติ ส่วนที่มีความพยายามนำมาเปรียบเทียบกับกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ถูกยื่นให้ศาลพิจารณาเช่นกันนั้น ยืนยันว่าจะเปรียบเทียบได้อย่างไรในเมื่อศาลเป็นคนสั่ง และเรื่องนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยตรวจสอบมาก่อนแล้วเห็นว่าไม่ขัดจึงรับรายชื่อเอาไว้ได้ ขอให้ไปดูมาตรา 82 ที่ระบุว่าถ้ากรณีมีเหตุอันควรสงสัย ศาลจึงจะสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าไม่มีอะไรสงสัยก็รับเรื่องไว้แล้วดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันต่อไปหรือไม่ หากผลวินิจฉัยออกมาทางใดทางหนึ่ง นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ ไม่รู้จะไปถกเถียงอย่างไรเพราะในเมื่ออำนาจเขาให้ศาลไว้ ศาลวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น อย่างกรณี 41 ส.ส.ศาลวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าที่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะอะไร และกรณีของนายธนาธรที่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะอะไร มันไม่ใช่เรื่อง 2 มาตรฐาน แต่เพราะมันมีเกณฑ์ของเขา
ถามอีกว่านายกฯ ได้ปรึกษาทางออกในเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่าไม่มี ยังไม่เคยพูดกัน ไม่มีอะไรเลย ไม่มีปัญหาหรอก ไม่มีความเดือดร้อน การทำอะไรที่อยู่ในเกณฑ์ในกติกานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และดำเนินไปได้ แต่ที่ไม่ถูกต้องคือการไปดึงเกมลงสู่ท้องถนน ตรงนี้แหละสำคัญกว่า
เมื่อถามว่าคิดว่าจะมีการดึงเกมลงสู่ท้องถนนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่ายังไม่เห็น
โยง 'เหมืองทองคำ'
ด้านนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ปมปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อเป็นนายกฯ ในวันสมัครรับเลือกตั้งในขณะที่เป็นหัวหน้า คสช.ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยหลักแล้ว กกต.ไม่ควรตอบรับให้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ได้ปล่อยให้เหตุการณ์ล่วงเลยมาถึงวันที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นคำร้องของ ส.ส.ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้นำเสนอข้อเท็จจริงหลายประการมาแสดงต่อสังคม ยืนยันความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เช่น การที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาระบุว่าการที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุกฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หรือประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.หลายฉบับ ระบุชัดแจ้งว่า คสช.ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินหลังจากยึดอำนาจ รวมถึงคำสั่งปิดเหมืองทองคำอัคราไมนิ่งก็ทำในนามเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ นอกจากนี้หัวหน้า คสช.และ คสช.ยังได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนด้วย
“ข้อเท็จจริงเหล่านี้ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เข้าลักษณะมีเหตุอันควรสงสัยได้แล้ว จึงควรต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการที่นายวิษณุบอกว่าไม่ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป็นการตีความสถานะไม่เกี่ยวกับการทุจริตเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การออกคำสั่งปิดเหมืองทองอัคราไมนิ่งใช้อำนาจในสถานะใด หากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการส่วนตัวและ กกต.ก็ไม่มีสิทธิ์เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ มาตั้งแต่ต้น” นางลดาวัลลิ์ระบุ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.กล่าวเช่นกันว่า ที่นายวิษณุระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวนั้นผิด เพราะคนละมาตรากัน การส่งคำร้องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ 110 ส.ส.จาก 7 พรรคการเมืองนั้นใช้ช่องทางตามมาตรา 170 ที่กำหนดให้ใช้มาตรา 82 โดยอนุโลมด้วย ซึ่งศาลอาจสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าจะร้อง ส.ส., ส.ว., นายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกณฑ์การพิจารณาก็ต้องเหมือนกันหมด
สำหรับความเคลื่อนไหวในการจัดตั้ง ครม.นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวเพียงสั้นๆ ถึงตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ว่าไม่มีความชัดเจน ส่วนกรณีคุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรค พปชร.ที่มีรายชื่อนั่ง รมว.แรงงานนั้น ก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจสอบให้ชัดเจน
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษก พปชร.กล่าวเรื่องนี้ว่า วันนี้ยังเร็วไปที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะยังไม่ทราบเลยว่าใครจะได้เป็นรัฐมนตรีบ้าง แต่ส่วนตัวเชื่อว่านายกฯ จะตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ และยังเร็วไปที่จะตอบว่าท่านไหนมีคุณสมบัติครบหรือไม่ครบ
ขณะเดียวกัน ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์เพื่อทักท้วงกรณีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร.ที่มีกระแสข่าวจะเป็นรัฐมนตรีมีความไม่เหมาะสม โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า นายอุตตมมีส่วนในการปล่อยกู้ให้กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ซึ่งแม้นายอุตตมจะชี้แจงไม่ผิด แต่การพิจารณาเรื่องนี้ว่าถูกหรือผิดนั้นควรพิจารณาจากพยานหลักฐานและคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก และที่ผ่านมา คสช. เคยใช้มาตรา 44 ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกรณีเช่นนี้หลายครั้ง จึงควรนำมาพิจารณาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา
เมื่อถามถึงเจตนาการยื่นหนังสือครั้งนี้คืออะไร ในเมื่อคณะกรรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่ชี้มูลว่านายอุตตมมีความผิด และมีมติตีตกข้อกล่าวหาไปแล้ว นายเรืองไกรตอบว่าคำกล่าวหาที่ คตส.ตีตกนั้นไม่ใช่คำสั่งชี้ขาดทางคดี การไม่สั่งฟ้องทำให้ศาลลงโทษไม่ได้ แต่เมื่อศาลตัดสินเมื่อวันที่ 26 แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต้องดำเนินการเอาผิดต่อ แต่เหตุใดจึงไม่ทำ คำถามนี้ควรถูกถามมากกว่า
“เมื่อศาลฎีกาชี้แล้วว่ากรรมการบริหารทั้ง 5 คนมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศาลไม่ได้บอกตรงไหนเลยว่านายอุตตมไม่ผิด ดังนั้นไม่ว่า คตส.หรือแบงก์ชาติจะกล่าวหาหรือไม่กล่าวหา เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจาก 5 ท่าน ก็จำเป็นต้องดำเนินการ” นายเรืองไกรกล่าว
ด้านนายธนกรกล่าวเรื่องนี้ว่า นายอุตตมมีพยานหลักฐานที่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ และการที่ฝ่ายค้านหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเพราะต้องการดิสเครดิตนายอุตตม และที่สำคัญนายอุตตมพร้อมชี้แจงหากพรรค พท.ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ เนื่องจากที่ผ่านมานายอุตตมผ่านการสอบสวนทั้งจาก คตส., ป.ป.ช., คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ธปท.และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
“ในทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติที่นายอุตตมจะถูกตรวจสอบ และถือเป็นที่น่าดีใจที่ฝ่ายค้านนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในรัฐสภา ดีกว่าจะไปเคลื่อนไหวเรียกร้องบนถนน และเห็นว่าพรรคเพื่อไทยควรเอาเวลาไปติดตามจำเลยที่ 1 ให้กลับมารับโทษ ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นใคร” นายธนกรกล่าว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตสมาชิกพรรค ทษช.กล่าวว่า ความไม่โปร่งใสในคดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยที่มีลายเซ็นอนุมัติ แต่อ้างว่าคัดค้านโดยยังไม่ปรากฏหลักฐานการคัดค้าน แล้วจะอธิบายได้อย่างไร การที่ไม่โดนฟ้องไม่ได้แปลว่าไม่ผิด แต่อาจเกิดจากการช่วยเหลือกันเป็นการเฉพาะเหมือนที่นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต อสส.ตั้งข้อสังเกตก็เป็นได้
น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่าเมื่อปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์เคยตอบคำถามถึงการจัดการเลือกตั้งว่า ถ้าเลือกตั้งแล้วได้คนเฮงซวยกลับเข้ามาจะทำอย่างไร แต่จากนี้รายชื่อ ครม.ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายมีบุคคลที่มีประวัติที่ตามมาตรฐานของประชาชนส่วนใหญ่เรียกว่าคนเฮงซวยที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุไว้ รวมทั้งยังขัดมาตรฐานกฎหมาย จริยธรรม และรัฐธรรมนูญ ดังนั้นขอฝากถามว่าผู้ที่มีบุคคลสนับสนุนเป็นคนเฮงซวยในสายตาประชาชนส่วนใหญ่นี่เฮงซวยด้วยกันไหม พล.อ.ประยุทธ์ตอบได้หรือยังว่าการได้คนเฮงซวยในสายตาประชาชนส่วนใหญ่มาสนับสนุนสืบทอดอำนาจแล้วจะทำอย่างไร
ถกแนวทางเก้าอี้เทกระโถน
นายธนกรยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพื่อตัดสินใจว่าบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.หรือไม่ ว่าเรื่องนี้ที่ประชุม กก.บห.น่าจะมีการหารือกันจนได้ข้อสรุป ส่วนข้อกังวลหากรัฐมนตรีไม่ลาออกจากการเป็น ส.ส.จะกระทบการทำงานในสภาเนื่องมีเสียงปริ่มน้ำ เห็นว่ายังมีวิธีการอื่นที่สามารถบริหารจัดการได้ และขึ้นอยู่กับพรรค พปชร.แและพรรคร่วมรัฐบาลต้องหารือร่วมกัน และเชื่อว่าวันนี้ ส.ส.ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเองดี และทราบดีว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร เชื่อว่าทุกคนจะมีระเบียบวินัย พร้อมทำหน้าที่ทุกครั้งที่มีการประชุมสภา
รายงานข่าวจากพรรค พปชร.ถึงการประชุม ส.ส.ของพรรคในวันอังคารที่ 9 ก.ค.ระบุว่าจะมี ส.ส.บางส่วนหยิบยกและสอบถามถึงความชัดเจนว่า ส.ส.สามารถไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ได้แก่ เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีแนวทางหรือข้อสรุปเบื้องต้นหลังการประชุม ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในพรรคได้พิจารณาข้อกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว ถือว่าอันตรายที่ ส.ส.จะไปเป็นข้าราชการการเมือง เพราะอาจถูกตีความได้ว่าเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 และ 185 แม้ก่อนหน้านี้นายวิษณุจะระบุว่ารัฐธรรมนูญอนุญาตให้เป็นข้าราชการการเมืองได้ ไม่เกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องสถานะ และรัฐธรรมนูญส่งเสริมให้เป็นจึงเป็นคนละเรื่องกับผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตาม
วันเดียวกัน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เดินทางเข้าพบนายวิษณุโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และกล่าวหลังเข้าพบว่ามาหารือทั้งเรื่องกฎหมาย วิธีการดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่ง คสช.ที่จะยกเลิกว่ามีทั้งหมดกี่ฉบับ ที่กำลังหมดไปมีกี่ฉบับ ที่ยังมีผลอยู่กี่ฉบับ ที่ยังคงอยู่เพราะอะไร และที่ถูกยกเลิกไปแล้วเพราะอะไร และต้องทำอย่างไร จะแยกแยะอย่างไร เพราะถ้าให้สภาทำต้องใช้เวลาเยอะ และหากมันหลุดออกไปแล้วจะไปต้องใช้ 3 วาระและแก้ยาก เพราะใช้เสียงในสภาเยอะ และเรื่องนี้พรรค อนค.ก็ยื่นเข้ามาด้วย ดังนั้นเราไม่ต้องรอให้เขาขอแก้หรอก เราแก้ไปเลยเพราะดูแล้วไม่จำเป็น
"มีคำสั่ง คสช.บางส่วนที่ต้องใช้ขั้นตอนทางสภานิติบัญญัติยกเลิกด้วย จึงต้องมาปรึกษา ทั้งนี้คำสั่ง คสช.ทั้งหมดมีกว่า 450 ฉบับ สิ้นสุดไปแล้วจำนวนมาก และอีกไม่กี่วันนี้ก็ทราบว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งอีก ทั้งนี้จากการหารือในส่วนที่ต้องไปยกเลิกในสภาถือว่าแทบจะไม่มีเลย อาจมีไม่ถึง 10 ฉบับ ซึ่งจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมวิปรัฐบาลด้วย โดยได้กำหนดประชุมวิปรัฐบาลทุกวันจันทร์ที่ทำเนียบรัฐบาล" นายวิรัชกล่าว
ขณะที่นายธนกรกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำกรอบนโยบายของรัฐบาล ว่าพรรคได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จไปแล้วบางส่วน และอยู่ระหว่างเร่งหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป และเชื่อว่าทุกนโยบายที่พรรคนำไปใช้ในการหาเสียงจะถูกขับเคลื่อน ส่วนอะไรจะเป็นนโยบายเร่งด่วนก็ต้องพิจารณาร่วมกันต่อไป ซึ่งตอนนี้ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาปากท้องก่อน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ แต่คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องหารือร่วมกันในเวลานี้
มีรายงานข่าวจากจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 9 ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของรัฐบาล คสช. นอกจากนี้ในส่วนของการเตรียมการเพื่อต้อนรับรัฐบาลและ ครม.ชุดใหม่นั้น ล่าสุดฝ่ายกองการสถานที่ทำเนียบรัฐบาล ได้จัดเตรียมห้องรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรี และห้องโฆษกรัฐบาลที่จะเข้ามารับหน้าที่ใหม่ พร้อมกันนี้ได้เตรียมห้องในตึกภักดีบดินทร์ไว้สำหรับให้ ครม.ชุดใหม่ถ่ายรูปเพื่อทำบัตรประจำตัวรัฐมนตรีด้วย
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์มีความตั้งใจและมีดำริที่จะประชุม ครม.ชุดใหม่ทันทีหลังการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งจะเป็นช่วงค่ำในวันเดียวกันซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้มีดำริให้เจ้าหน้าที่และกระทรวงมหาดไทยเตรียมการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการทันที หลังการแถลงนโยบายต่อสภาที่จังหวัดยะลาในต้นเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) และการตรวจติดตามงานตามนโยบายรัฐบาลนั้น กำหนดให้มีเช่นเดิมเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ 1 คือ 1 เดือนจะมีประชุม ครม. 1 ครั้ง และการลงพื้นที่ของนายกฯ เพื่อตรวจติดตามงานตามนโยบายรัฐบาล 1 ครั้ง
พุ่งเป้าแก้รัฐธรรมนูญ
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยวิป 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ตัวแทนจากพรรค พท.กล่าวหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือกัน 3 กรอบใหญ่ คือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะสนับสนุนให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นรู้ จากนั้นให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าชื่อกันมากกว่า 50,000 ชื่อ ซึ่งจะแก้รัฐธรรมนูญตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จะไม่ใช้แนวทางอื่น 2.การทำงาน ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน โดยจะจัดงานเสวนา และผลิตคอนเทนต์ออกสื่อทางเลือกใหม่ช่องทางต่างๆ โดยจะได้เห็นหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคมาแสดงวิสัยทัศน์การทำงานของแต่ละพรรค ซึ่งกลางเดือนนี้น่าจะเริ่มได้ และจะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมด้วย รวมทั้งเวทีนักวิชาการให้ความรู้ประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีกิจกรรมให้ผู้นำฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคลงไปพบพี่น้องประชาชนด้วย เริ่มจากพื้นที่ตลาดสด และ 3.การตั้งคณะกรรมการวิสามัญติดตามการทำร้ายผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง
เมื่อถามว่ากระบวนการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมเข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเริ่มได้เมื่อไหร่ นายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรค อนค.กล่าวว่า ภาคประชาสังคมเริ่มแล้ว ส่วน 7 พรรคฝ่ายค้านเราเมื่อมีการล่ารายชื่อมาครบแล้วเราจะทำการสนับสนุนต่อในสภา ซึ่งเราจะผลักดันให้เกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่วมกัน
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี ทวีตข้อความโอกาสครบรอบวันเกิด 70 ปี ว่าจะทานข้าวกับลูกหลานในบ้านที่ดูไบ ไม่จัดนอกอาคารรองรับคนที่จะเดินทางไปอวยพรวันเกิดเหมือนทุกปี ว่าเป็นการส่งสัญญาณที่เป็นบวกสำหรับการเมืองไทยว่า นายทักษิณอาจคิดอย่างจริงจังเรื่องการตัดสินใจวางมือทางการเมืองในทางพฤตินัย เพราะที่ผ่านมากว่าสิบปีในต่างแดน แม้นายทักษิณไม่มีสิทธิ์ทำงานการเมืองในทางนิตินัยแล้ว แต่ยังคงมีบทบาทครอบงำพรรคการเมือง วางเกมทางการเมืองที่ส่งผลต่อระบบการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงคิดว่าถ้านายทักษิณตกลงปลงใจที่จะเลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมืองก็จะเป็นคุณูปการต่อประเทศไทยในการลดความขัดแย้งได้
“ในทางกลับกันเมื่อนายทักษิณเลิกเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองแล้ว พรรคการเมืองทุกพรรคควรดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามระบบ ไม่ยุยงปลุกปั่นหรือบิดเบือนข้อมูลใดๆ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองจนเพิ่มความขัดแย้งใหม่ในสังคม ขณะเดียวกันรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจต้องบริหารประเทศด้วยความถูกต้องชอบธรรม ยึดหลักธรรมาภิบาล ส่วนเรื่องไหนที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยรัฐบาลควรมีคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงตรวจสอบอย่างจริงจัง เพราะยิ่งรัฐบาลมีความชอบธรรมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีกำแพงพิงหลังจากประชาชนที่เข้มแข็งมากเท่านั้น” นพ.ระวีระบุ
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งเงื่อนไขกับนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ว่าต้องไม่ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหากจะให้ตำรวจเข้าไปคุ้มครองว่า ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานมาว่าจ่านิวได้กลับบ้านแล้ว ซึ่งความหมายของไม่ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น คือไม่ให้จ่านิวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |