นับถอยหลังคดี 'ธนาธร' เปิดห้องไต่สวนหรือตัดสินเลย?


เพิ่มเพื่อน    

    เส้นทาง-อนาคตการเมืองของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน แล้วว่า จะวางหลักเกณฑ์การวินิจฉัยคดีไว้อย่างไร หลังจากฝ่ายกฎหมายพรรคอนาคตใหม่ ที่นำทีมโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ได้ไปยื่นเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามที่ศาล รธน.กำหนดให้ธนาธรยื่นเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหา

                โดยทีมกฎหมายพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นเอกสารชี้แจง 70 หน้า เอกสารประกอบการชี้แจง 50 รายการ 200 หน้า เพื่อหวังให้ธนาธรรอดพ้นข้อกล่าวหาถือครองหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง

                แนวทางการสู้คดีของธนาธร หลักๆ ก็คือ

                1.ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี ก่อนลงมติวินิจฉัย 2.ยื่นคำร้องขอให้ศาลนัดไต่สวนพยานบุคคลเพิ่มเติม ตามบัญชีพยานที่ธนาธรยื่นต่อศาลที่ฝายกฎหมายพรรคยื่นไป 5 ชื่อ 3.ขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งที่ให้ธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เป็นการชั่วคราว

                ซึ่งทั้งหมดอยู่บนข้อต่อสู้หลักที่ปิยบุตรดักคอศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า “อย่าเร่งรัดการวินิจฉัยเพื่อปิดสำนวน”โดยยกเคสคำร้องคดี ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ที่เคยถูก กกต.ยื่นคำร้องกรณีภรรยาปกปิดบัญชีทรัพย์สินฯ ที่ปิยบุตรดักทางไว้ว่า คดีดอน ศาล รธน.ยังใช้เวลาร่วมสามเดือนถึงจะมีคำวินิจฉัยออกมา อีกทั้งมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี ดังนั้น ศาล รธน.ก็ควรใช้บรรทัดฐานเดียวกัน กับการพิจารณาคำร้องคดีธนาธร

                “อย่างน้อยที่สุด คดีธนาธรอ่านคำวินิจฉัยช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้” ปิยบุตรระบุไว้ ในการแถลงข่าวเมื่อ 8 ก.ค.

                ต้องรอดูว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะมีการพิจารณาคำร้องคดีธนาธรอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นหลังจากนี้ คาดว่าคณะตุลาการศาล รธน. คณะย่อย ที่มีด้วยกัน 3  คน ที่รับผิดชอบสำนวนคดีธนาธร จะนำข้อสู้คดีของธนาธรทั้งหมด โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ศาล รธน.เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดีโดยเปิดเผย ทาง องค์คณะย่อย ก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมตุลาการศาล รธน.เพื่อให้ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.วินิจฉัยว่าจะวางแนวทางการวินิจฉัยคดีไว้อย่างไร?

                โดยหากเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการศาล รธน.เห็นควรให้มีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี–เรียกฝ่าย กกต. และธนาธรมาชี้แจง เบิกความสู้คดีกันต่อหน้าองค์คณะฯ ถ้าออกมาแบบนี้ เรื่องก็ยาว กว่าศาลจะนัดอ่านคำวินิจฉัย  แต่หากตุลาการศาล รธน.เห็นว่าพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งคำร้องของ กกต.–คำชี้แจงข้อกล่าวหาของธนาธร ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว โดยมองว่าคำร้องดังกล่าวพิจารณาเพียงแค่พยานเอกสารที่สำคัญในคดี

                เช่น “สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5” ที่เป็นแบบแสดงรายละเอียดบัญชีของผู้ถือหุ้นที่แสดงข้อมูลสำคัญๆ เช่น ชื่อและข้อมูลของผู้ถือหุ้นจำนวนหุ้นที่ถือและชำระแล้ว จนทำให้พอรู้ได้ว่าธนาธรถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ ก่อนลงเลือกตั้งหรือไม่ หลังนำเอกสารดังกล่าวเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42 (3) ที่กำหนดคุณสมบัติมิให้ผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ในวันรับสมัครเลือกตั้ง

                ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในองค์คณะฯ ชุดใหญ่เห็นว่าทุกอย่างชัดเจนเพียงพอ โดยไม่ต้องเปิดห้องไต่สวนคดี ตุลาการศาล รธน.ก็สามารถนัดประชุมตุลาการศาล รธน.เพื่อลงมติตัดสินคดีได้เลย ซึ่งหากออกมาแบบนี้ เส้นทางคดีก็จะรู้ผลเร็วกว่าการเปิดห้องไต่สวนคดีร่วมเดือนเลยทีเดียว เพราะตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาล รธน. มาตรา 58 บัญญัติไว้ว่า “หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย โดยไม่ทําการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้”

                สุดท้าย “ธนาธร” จะได้กลับมาเป็น ส.ส.เดินเข้าห้องประชุมสภาฯ หากศาลยกคำร้อง หรือจะต้องพ้นจากถนนการเมืองไป 20 ปีจากผลคำวินิจฉัยของศาล รธน. ผลแห่งคดีจะออกมาแบบไหน มีให้ได้ลุ้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"