ปรับตัวฝ่า “บาทแข็ง”


เพิ่มเพื่อน    

                 เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็นข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทย ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี ที่ระดับ 30.52 บาทต่อดอลลาร์ โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”  ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดของตารางกำหนดการประมูลตราสารหนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 28 มิ.ย.2562 พบว่า ธปท.มีการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นอีกครั้ง ซึ่งแม้จะไม่มีการประกาศโดยตรงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการดูแลค่าเงินบาท

                แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ (ปี 2560) ธปท. เคยใช้การลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นมาเป็นเครื่องมือช่วยชะลอกระแสเงินทุนไหลเข้า และ/หรือลดแรงจูงใจไม่ให้นักลงทุนต่างชาติใช้พันธบัตรระยะสั้นของไทยเป็นที่พักเงินในช่วงเวลาที่ตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกมีความผันผวน เพราะเงินบาทมักถูกมองว่า เป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ประกอบกับไทยมีการบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

                ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท.ดังกล่าว อยู่ในช่วงจังหวะเดียวกันกับที่มีแรงหนุนให้เงินบาทแตะระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี ครั้งใหม่ ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้ตลาดมีความระมัดระวัง และรอติดตามสัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่า ธปท.เตรียมจะออกมาตรการมาดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ยิ่งเมื่อการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา กนง.ได้มีการแสดงท่าทีกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว และเริ่มไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ

                “การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตร ธปท.ระยะสั้น อาจเป็นหนึ่งในการดำเนินการในชั้นแรกเพื่อดูแลประเด็นเรื่องค่าเงินบาท ขณะที่คาดว่า ธปท.น่าจะติดตามทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น และผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความจำเป็นของการออกมาตรการที่มีความเหมาะสมในระยะต่อไป” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

                โดยจากการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมา ได้ระบุว่า ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าเร็ว และไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ซึ่ง ธปท.จะมีการบริหารจัดการที่เข้มข้นมากขึ้น ส่วนมาตรการที่จะออกมาดูแลนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและนำมาใช้เมื่อมีความจำเป็น

                และแน่นอนว่า “ปัจจัยเสี่ยง” เรื่องค่าเงินนั้น ถือเป็นแรงกดดันโดยตรงกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มส่งออก ที่แต่เดิมก็ได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกลุ่มที่ถูกจับตาว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ “กลุ่มส่งออกสินค้าเกษตรและสิ่งทอ” ซึ่งในส่วนนี้จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่มายังภาคการบริโภคภายในประเทศให้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย พร้อมมองว่าระดับค่าเงินบาทที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของไทยควรอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์

                โดย “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย” มองว่า ธุรกิจที่เสียประโยชน์จากเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และเครื่องประดับ รายได้หายไปกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท กำไรขั้นต้นลดลงจากปกติ 0.3-3.2% ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ ได้แก่ เครื่องจักร/ชิ้นส่วน เหล็ก/โลหะ เวชภัณฑ์/เครื่องมือการแพทย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งทอ โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัตถุดิบลดลง 6.2 หมื่นล้านบาท กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากปกติ 0.3-4.9% ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์

                ขณะที่ “กระทรวงการคลัง” เอง ก็ยอมรับว่า ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งนั้น เป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยด้วย นอกเหนือจากปัญหาส่งครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว จนอาจทำให้ต้องมีการพิจารณาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง

                อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เข้ามากดดันอยู่เหนือการควบคุม ก็เป็นเรื่องที่ “ผู้ประกอบการ” ต้องปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ โดยเน้นการเปิดตลาดใหม่ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรักษาทิศทางการเติบโตของธุรกิจในภาวะที่ค่าเงินยังไม่เป็นใจ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"