“ธ.ก.ส.” เข็น 3 มาตรการรับมือภัยแล้ง


เพิ่มเพื่อน    

8 ก.ค. 2562 นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ และโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง สำหรับช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งหมด 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสนับสนุนทางการเงิน ได้แก่ สินเชื่อเงินด่วนให้กู้ได้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย MRR 7% เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตเพาะปลูกพืชระยะสั้น และทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ วงเงินให้สินเชื่อรวม 5 พันล้านบาท ให้กู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับ 5%ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 15 ปี และสุดท้ายเป็นสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน กู้ได้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท สำหรับนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ป้องกันไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า มาตรการถัดมาเป็นการช่วยเหลือปรับโครงสร้างและตารางชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยส่วนแรกหากได้เข้าโครงการขยายเวลาชำระหนี้ตามแนวทางเกษตรประชารัฐ ซึ่งได้มีการพักชำระเงินต้นให้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561-31 ก.ค.2564 ไปแล้ว ก็จะได้รับการช่วยเหลือไปตามนั้น แต่เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการขยายเวลาชำระหนี้ตามแนวทางเกษตรประชารัฐ สามารถขอขยายเวลาปรับตารางชำระ พักหนี้ได้ 1 รอบปีการผลิต

ส่วนมาตรการสุดท้าย ธ.ก.ส.จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว และพืชไร่อื่น ๆ เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวนา ชาวไร่ที่หว่านเมล็ดรอบแรกไปแล้ว แต่ประสบปัญหาต้นกล้าแห้งตายเพราะขาดแคลนน้ำ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการสำรวจร่วมกันว่ามีพื้นที่ใดได้รับความเสียหายบ้าง เพื่อนำมาพิจารณาจัดทำงบประมาณจัดหาเมล็ดพันธุ์สำหรับนำไปช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

“ขอให้เกษตรกรทั้งชาวนา ชาวไร่ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเข้ามาแสดงความจำนงขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน การปรับตารางการชำระหนี้ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และนอกจาก 3 มาตรการดังกล่าวแล้ว ธนาคารยังได้ร่วมมือกับ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการสร้างฝายมีชีวิต เพื่อจัดทำแหล่งน้ำสนับสนุนการประกอบอาชีพภาคการเกษตรอีก 6.1พันฝายด้วย” นายสมเกียรติ กล่าว

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้พบว่าค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่นาในภาคอีสานเริ่มมีต้นข้าวที่แห้งตายเพราะฝนทิ้งช่วง และประเมินว่าจะมีที่นาได้รับผลกระทบนับแสนไร่ ขณะที่เกษตรกรภาคเหนือผู้ปลูกข้าวโพดก็เริ่มได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแล เช่น การจัดหาชุดเมล็ดพันธุ์ให้ใหม่ทดแทนชุดเดิมที่เสียหาย รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กู้

“หากภาคเกษตรมีปัญหาเกรงว่าจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไปด้วย เพราะเกษตรกรถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าหลายคนที่มีการกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพาะปลูก อาจเจอปัญหาไม่สามารถส่งเงินได้ พราะผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นอาจเห็นเกษตรกรต้องถูกนายทุนยึดที่นา ที่ทำกินไปอีก” นายประพัฒน์ กล่าว
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"