“ปตท.คาดหวังให้ประเทศไทยมีการสร้างนวัตกรรมและมีโซลูชั่นใหม่ๆ ให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าคนไทยมีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินการเองได้ แต่อาจขาดความพร้อมในบางเรื่องเท่านั้น จึงต้องร่วมมือกันสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้ไปสู่เป้าหมาย”
ประเทศไทยในยุคที่กำลังเร่งตัวเองให้พัฒนาทันกระแสของโลกนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดโครงการขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าเมกะโปรเจ็กต์ ในหลายพื้นที่ รวมถึงโครงการย่อยๆ ที่มุ่งเน้นการผลักดันให้จุดนั้นเกิดการพัฒนาในรูปแบบที่เป็นสมัยใหม่ ซึ่งโครงการที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยตอนนี้คงหนีไม่พ้นพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่เป็นโครงการพัฒนา 3 จังหวัดภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางในหลายๆ เรื่อง
และการดำเนินงานของอีอีซีเอง ก็ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือการพัฒนา เขตนวัตกรรมระเบียงศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีไอ ซึ่งเป็นการส่งเสริมพื้นที่นั้นผลักดันงานวิจัยและพัฒนาที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ป้อนเข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรมของไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกหลักของการพัฒนาชาติ
ทั้งนี้ จึงมีหลายหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอีอีซีไอ แต่กลุ่มที่เห็นความสำคัญและริเริ่มที่จะดำเนินงานไปก่อนนั้นคงหนีไม่พ้นเอกชนอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้ไปดำเนินการสร้างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
และเมื่อรัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีหลังจากที่ริเริ่มจะดำเนินการโครงการอีอีซีแล้วนั้น จึงผนึกกำลังกับ ปตท. ที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นอีอีซีไอ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ร่วมเป็นผู้ดูแลและดำเนินการพัฒนาพื้นที่
ซึ่งเน้นการพัฒนากลุ่มนวัตกรรมขนาดใหญ่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ไบโอโพลิส อริโพลิส และสเปซ อินโนโพลิส ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อให้คนในพื้นที่ได้เกิดการร่วมพัฒนาเทคโนโลยี มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างลงตัว รองรับการวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง พร้อมทั้งเปิดให้เช่าพื้นที่ระยะยาวเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมของบริษัทได้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไออย่างสูงสุด
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งแนวคิดที่จะสร้างพื้นที่อีอีซีไอให้เกิดความลงตัวมากขึ้น คือการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ ที่ผนึกกำลังของคนในชุมชน ภาครัฐ และเอกชนอย่างแท้จริง ผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่พักอาศัย หรือการเดินทาง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันของคนในพื้นที่ ผ่านโครงข่ายการเชื่อมโยงหลักและระบบอย่างอินทอร์เน็ต ออฟ ติงส์ ที่จะช่วยให้เกิดความสะดวกสบายและเป็นต้นแบบที่จะนำไปพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
โดยเริ่มจากการกำหนดแผนงานว่าพื้นที่อีอีซีไอนั้นจะต้องมีอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดเป็นสมาร์ทซิตี้ แบ่งเป็นสมาร์ทเอนเนอร์ยี่ สมาร์ทพีเพิล สมาร์ทอีโคโนมี สมาร์ทโมบิลิตี้ สมาร์ทลีฟวิ่ง ซึ่งจะครอบคลุมในหลายๆ ส่วน ทั้งการออกแบบพื้นที่ใช้สอย และระบบคมนาคม การจัดสรรพื้นที่แบบแบ่งสัดส่วนพื้นที่สันทนาการ และพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการสร้างศูนย์ควบคุมดูแลระบบ เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมระหว่างกัน
โดยบริษัท ปตท. ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในหลายพื้นที่ ซึ่งล่าสุดได้เดินทางไปดูงานที่ Aspern Smart City (แอสเพิน สมาร์ทซิตี้) ที่ประเทศออสเตรีย และ GIANT Grenoble (ไจแอนต์ เกรอโนเบิล) ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยการดำเนินงานสมาร์ทซิตี้ในประเทศฝั่งยุโรปนั้น เป็นผลมาจากข้อกำหนดของสหภาพ (อียู) กำหนดให้แต่ละเมืองใหญ่ ควรจะต้องมีสมาร์ทซิตี้ โดยเน้นไปในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะเรือนกระจก
ทั้งนี้ เมืองแอสเพินเป็นสมาร์ทซิตี้ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 โดยสามารถรองรับประชากรได้มากกว่า 30,000 ครัวเรือน และมีการก่อสร้างสำนักงานการให้บริการทางธุรกิจ วิทยาศาสตร์ การวิจัย การศึกษาและพื้นที่สาธารณะประโยชน์และสันทนาการครบครัน โดยเป็นการดำเนินงานของภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐบาล แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ในเมือง ได้แก่ สมาร์ทซิตี้ เอเยนซี ที่มีหน้าที่วางแผนและอำนวยการ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแบบแผน รวมถึงเน้นการดึงดูดคนให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผ่านสิทธิพิเศษต่างๆ รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกที่ดีในเรื่องของการมีส่วนร่วมที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ฟิวเจอร์ซิตี้ มอนิเตอร์ เป็นหน่วยงานที่จะตรวจสอบว่าสมาร์ทซิตี้ในเมืองอื่นๆ นั้นกำลังจะดำเนินการไปในทิศทางไหนและหน่วยสุดท้ายคือเอนเนอร์ยี่เซ็นเตอร์ ที่จะควบคุมและดูแลด้านพลังงานในเมือง ซึ่งมีระบบสำคัญอย่าง รีไซเคิล เวท เมเนจเมนท์ หรือการแปรรูปขยะเป็นพลังงานในที่พักอาศัย โดยกำหนดชัดเจนว่าจะต้องเน้นการใช้พลังงานทางเลือก ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) หรือพลังงานอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อง่ายต่อการนำไปแปรรูปต่อไป
รวมถึงการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยในเมืองจะมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งที่พักอาศัย โรงพยาบาล โรงเรียน ร้านสะดวกซื้อ และกำลังเตรียมก่อสร้างมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้คนในเมืองจำเป็นที่จะต้องเดินทางไกลเนื่องจากมองว่าการเดินทางจะทำให้เกิดมลภาวะ ขณะเดียวกันยังมีการสร้างรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับเมืองหลักอย่างเวียนนา โดยอุดหนุนทางด้านราคาให้ถูกลงเพื่อเป็นหนึ่งในสิ่งจูงใจให้คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น
ขณะที่ไจแอนต์ ในเมืองเกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศสนั้น เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรมในสาขาไมโครและนาโนเทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพในด้านของชีวศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยได้รับความร่วมมือกับภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนในการจัดตั้งสถาบัน และมีการร่วมมือกับภาคเอกชนในเมืองในการร่วมลงทุนและพัฒนาบุคลากร นวัตกรรมเทคโนโลยี
โดยจุดเด่นพื้นที่เมืองไจแอนต์ ได้แก่ เป็นแหล่งรวมศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคอุตสาหกรรม สิ่งอำนวยความสะดวก และที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นการร่วมมือของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ได้เน้นการคมนาคมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น รถไฟ รถลาง จักรยาน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) รวมทั้งสร้างแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน
ทั้งนี้ ไจแอนต์ได้ตั้งเป้าให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ปีละ 4.1 ล้านยูโร ถือเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีเมืองเกรโนเบิล รวมถึงมีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 10,000 ครัวเรือน สร้างนักวิจัยกว่า 10,000 คน และผลิตนักศึกษาที่จบในสถาบันมากกว่า 10,000 คน สร้างงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวน 10,000 คน รวมถึงมีผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม หรือท่องเที่ยว 10,000 คนต่อปี
(ชาญศิลป์ ตรีนุชกร)
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่เดินทางไปศึกษาดูงานสมาร์ทซิตี้จากเมืองดังกล่าว และ ปตท.เห็นภาพอย่างชัดเจนที่จะทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซีไอ โดยจะมีการปรับเปลี่ยนบางส่วนให้เข้ากับประเทศไทยมากที่สุด และจะอาศัยการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านสิทธิพิเศษต่างๆ ทั้งทางภาษีและบีโอไอ เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ แต่ก็ต้องอาศัยเวลาในการดำเนินงาน เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่จะทำในประเทศไทย
ทั้งนี้ เบื้องต้น ปตท.ก็มุ่งเน้นไปในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีไออย่างเต็มที่ ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการชักชวนการลงทุนจากเอกชนรายอื่นๆ เพื่อสร้างสังคมที่มีความพร้อมจะพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยเตรียมจัดโรดโชว์เพื่อเปิดให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศเข้ามาเช่าใช้พื้นที่สำหรับตั้งโรงงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท ในพื้นที่อีอีซีไอ เพื่อสร้างให้เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระดับประเทศ รองรับกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของทุกภาคส่วนในพื้นที่
ซึ่งปัจจุบันนอกจากกลุ่ม ปตท.ที่เริ่มเข้าไปเช่าพื้นที่อย่าง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.แล้ว ก็มีความร่วมมือกับนักลงทุนรายใหญ่หลายราย เช่น กลุ่มจีอี จากสหรัฐ การลงนามความร่วมมือกับหัวเว่ย และความร่วมมือกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี เป็นต้น ส่วนบริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ก็เป็นคู่ค้าทำเรื่องของการพัฒนาระบบ ซึ่งมีฐานผลิตอยู่แล้ว ก็จะได้เปรียบ รวมถึงการกำลังรวบรวมรายชื่อคู่ค้าในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมกว่า 300-400 บริษัท เพื่อเชิญชวนเข้ามาร่วมลงทุนงานวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ด้วย
โดยคาดว่าการจัดโรดโชว์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หรือไตรมาส 1 ปีหน้า ทั้งนี้หากจัดฐานคนไทยเสร็จแล้ว ถ้ามีโอกาสจะไปเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศที่เป็นกลุ่มมีนวัตกรรม เช่น ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ รวมถึงฝั่งยุโรปด้วย ขณะเดียวกันก็จะจัดทีมเดินทางไปกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น บีโอไอ ที่ปกติก็จะมีแผนโรดโชว์ต่างประเทศอยู่แล้ว
“ปตท.คาดหวังให้ประเทศไทยมีการสร้างนวัตกรรมและมีโซลูชั่นใหม่ๆ ให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าคนไทยมีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินการเองได้ แต่อาจขาดความพร้อมในบางเรื่องเท่านั้น จึงต้องร่วมมือกันสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้ไปสู่เป้าหมาย” นายชาญศิลป์กล่าว
นางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงสร้างการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เปิดเผยว่า ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 นี้ ปตท.จะดำเนินการเปิดเผยร่างแผนจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) เพื่อให้เช่าพื้นที่ในส่วนของอีอีซีไอ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง 3 ส่วน ได้แก่ 1.การพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ 2.การพัฒนาโรงแรม และอพาร์ตเมนต์หรือส่วนพักอาศัยในพื้นที่ และ 3.การพัฒนาก่อสร้างโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติ ในพื้นที่รวม 100 ไร่ และคาดว่าจะเปิดให้เช่าในระยะเวลา 30 ปี
"ตอนนี้มีเอกชนที่เตรียมเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีไอ ได้เสนอความต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวมีสิ่งอำนวยความสะดวก เราจึงเตรียมเปิดทีโออาร์เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยคาดว่าในปี 2564-2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ในช่วงปีดังกล่าวเราจะเห็นการลงทุนของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ และระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และอาคารของ สวทช. ซึ่งพื้นที่อีอีซีไอเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาไปยังอุตสาหกรรม 4.0 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในหลายๆ เรื่อง ถ้าไม่ทำส่วนนี้การจะไปถึง 4.0 นั้นคงเป็นไปได้ยาก" นางหงษ์ศรีกล่าว
ด้าน นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่แล้ว จึงเกิดการพัฒนาอีอีซีไออย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ได้ให้การสนับสนุนในส่วนอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อพัฒนางานวิจัยของไทย โดยเฉพาะงานวิจัยตามมหาวิทยาลัย สถาบันต่างๆ ไปสู่เชิงพาณิชย์
เบื้องต้นอาจใช้ชื่อ พีทีที แอคเซลเออะเรเทอ (accelerator) ทีมคนรุ่นใหม่ของ ปตท. จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อคัดเลือกงานวิจัยที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เนื่องจากที่ผ่านมา ปตท.ได้หารือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยถึงอุปสรรคของการพัฒนางานวิจัยของไทย พบว่า ติดปัญหา 2 เรื่อง คือ 1.ยังไม่มีบุคลากรในการขับเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมาย 2.ผู้มีเงินทุนพร้อมรับความเสี่ยง โดยหน่วยงานดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในปีนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |