"ทะเลไทย" น่าห่วง 4 กิจกรรมถลุงใช้ทรัพยากร


เพิ่มเพื่อน    

 

 การท่องเที่ยว 1 ใน 4 กิจกรรมหลักใช้ประโยชน์ทะเล แนวโน้มเพิ่มขึ้น  

              

      ในอดีตทะเลไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของโลก เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ทว่า ปัจจุบันสัตว์น้ำลดลงไปมากอย่างน่าใจหาย การหาปลาไม่ได้ง่ายแล้ว เพราะประมงไทยต้องแล่นเรือจากฝั่งไปไกลมากขึ้น แล้วยังหนีไปทำสัมปทานจับปลาจากประเทศอื่น หรือล่าสุดกรณีมีการนำเสนอข่าวในโซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกต "ปลาทูในทะเลไทยหายไป" นำมาสู่คำถามมากมาย

      นี่ยังไม่พูดถึงประเด็นร้อนแรง "ขยะทะเล" ที่ไทยปล่อยลงสู่ทะเลติดอันดับ 6 ของโลก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ส่งผลขยะตกค้างชายหาด ป่าชายเลน เต่าทะเลกินขยะพลาสติกตายก็มีให้เห็นเป็นระยะ แล้วยังมีปัญหาไมโครพลาสติกในทะเลที่องค์การอนามัยโลกกำลังจับตา เพราะกระทบต่อสุขภาวะประชาชน ตลอดจนกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามันที่บูมสุดขีด สร้างความเสื่อมโทรมของทะเลไทย

 

 ขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก สร้างความเสื่อมโทรมทะเลไทย

 

      จากสถานการณ์ทะเลไทยปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดโครงการ "สถานการณ์ทะเลไทยและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ขึ้น เมื่อวันก่อน ณ เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีผู้แทนมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม ผู้ประกอบการเกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท และชาวประมงที่คร่ำหวอดจับปลาในอ่าวไทย ตัว ก ร่วมตีแผ่วิกฤติทะเลไทยและแนะทางรอดทะเลไทย

      ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีกิจกรรมการใช้ทะเลที่หลากหลาย ย้อนไปสิบปีก่อนตัวเลขมูลค่าเศรษฐกิจภาคทะเลของไทย 7.5 ล้านล้านบาท แต่จากข้อมูลสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปี 2557 เพิ่มสูงถึง 24 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และมีแนวโน้มมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต แต่ผลประโยชน์ทางทะเลกลับไม่ได้ตกอยู่ในมือคนไทยในสัดส่วนที่ควรจะเป็น และไทยไม่เคยคิดถึงต้นทุนของกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทะเลและชายฝั่งที่แท้จริง ขณะที่ทรัพยากรที่เป็นฐานของกิจกรรมเกิดความเสื่อมโทรมทั้งปริมาณและคุณภาพ เพราะแยกส่วนกิจกรรมใช้ประโยชน์กับการอนุรักษ์

      ประเด็นผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยจาก "การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย" ที่ ศ.ดร.เผดิมศักดิ์เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. หรือ สกสว. ในปัจจุบัน ให้ภาพชัดกิจกรรมที่ถลุงใช้ทะเลไทย 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ การขนส่งและพาณิชยนาวี การผลิตพลังงาน การท่องเที่ยว และการประมง จากข้อมูลสรุปว่า ไทยมีแนวโน้มของกิจกรรมการใช้ทะเลเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและรูปแบบ ถ้ายังปล่อยให้ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้น่าเป็นห่วง

 

ปะการัง ฐานทรัพยากรสำคัญ หากเสียหายกระทบนิระบบเวศและการท่องเที่ยว

 

      ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า การประมงของไทยยิ่งจับปลา จำนวนปลาก็ลดลงเรื่อยๆ รวมถึงขนาดก็เล็กลง ซึ่งเกิดจากการจับปลามากเกินศักยภาพในการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำและเครื่องมือประมงพาณิชย์ที่มีความก้าวหน้า กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามไม่ทัน ขณะที่ประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการก็มากขึ้น เรื่องนี้จะแก้ได้ต้องทำประมงเอาคุณภาพมากกว่าปริมาณหรือทำมากได้น้อย   เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว คนมาดำน้ำดูปะการัง ถ้าไม่ดูแลรักษา เหยียบย่ำปะการังพังเสียหาย เที่ยวแล้วทำลายฐานทรัพยากรจนเกินขีดความสามารถในการฟื้นตัว จะทำให้ปะการังหมดไป ปลาก็หายไป เพราะปะการังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ดี ผู้ประกอบการก็ต้องพยายามพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสม และรักษาศักยภาพของพื้นที่

      ทะเลไทยยังเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูมให้เป็นตลาดการขนส่งทะเลร่วมอาเซียน กองเรือพาณิชย์ทั้งไทยและต่างชาติ ท่าเทียบเรือที่เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมทะเลไทย นักวิชาการจุฬาฯ ระบุว่า จำนวนท่าเทียบเรือที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชายฝั่ง อีกปัญหาที่ไทยละเลยการจัดการน้ำอับเฉาเรือ น้ำอับเฉาเป็นน้ำที่ใช้ปรับจุดศูนย์ถ่วงเรือให้ทรงตัวได้ดี การสูบถ่ายน้ำสร้างปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานสู่ทะเลไทย เราอ้างไม่ได้จัดการ เพราะขาดเทคโนโลยี กระทบนิเวศท้องถิ่น ประมง นี่คือต้นทุนทรัพยากรความหลากหลายทางธรรมชาติที่ไทยสูญเสียไป  ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาน้ำอับเฉาเรือ ต้องควบคุมและบังคับใช้จริงจัง อันตรายมากมาย ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะทุกวันนี้การขนส่งไทยยังต้องพึ่งเรือต่างชาติเป็นหลัก เสียรายได้มหาศาล

 

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ เยี่ยมชมโครงการปกป้องเต่าทะเลที่เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

 

      ส่วนการผลิตพลังงาน ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ บอกว่า ต้องมีแผนใช้พลังงานทดแทนเชื่อมโยงไปถึงมีทิศทางบริหารจัดการนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ต้องวางแผนรองรับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมในทะเล ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 400 แท่น และอยู่ในทะเลไทยมากกว่า 20-30 ปี เนื่องจากเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ มีสิ่งมีชีวิตเกาะติดจำนวนมาก มีปลาว่ายน้ำตามชั้นต่างๆ อาจมีผลประโยชน์ในทะเล จะต้องหาองค์ความรู้ก่อนรื้อถอนเป็นเศษเหล็กเฉยๆ และหาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับมือในอนาคต มีรายงานการศึกษาต่างประเทศระบุว่า แท่นเป็นตัวเชื่อมต่อระบบนิเวศชายฝั่งและนอกชายฝั่ง

      " ปัจจุบันไทยยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารจัดการ จะต้องปิดรูรั่วทั้ง 4 กิจกรรมใช้ประโยชน์ทางทะเลไทย วางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มขนส่งพาณิชยนาวีวางจุดยืนของประเทศ พัฒนาระบบขนส่งชายฝั่งให้ดีแทนที่จะยกตัวเองเป็นจุดเชื่อม 2 มหาสมุทร ส่วนการท่องเที่ยวลดกิจกรรมกระทบทรัพยากรโดยตรง ส่วนขยะทะเลทางรอดเสนอแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นเงิน และจัดการขยะตั้งแต่บนบก" วันนี้ต้องสร้างดัชนีชี้วัดที่ยากขึ้น รายงานความสำเร็จฟื้นฟูทะเลไทยต้องไม่ขึ้นกับปริมาณลูกปลาที่ปล่อย ปะการังที่ปลูก วางปะการังเทียมกี่ก้อน ปลูกป่าชายเลนกี่ต้น หรือสร้างเขื่อนกันแนวชายฝั่งความยาวกี่เมตร จะต้องมองผลลัพธ์คือ ระบบนิเวศที่ฟื้นคืนมา สัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น ชาวประมงมีอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ขณะนี้เริ่มพูดถึงดัชนีมหาสมุทรในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ที่ 5 ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วัดตั้งแต่ทะเลกักเก็บคาร์บอน ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำที่สะอาด การดูแลชายฝั่ง โอกาสของประมงพื้นบ้าน และมีส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยว ต้องรอดูจะนำมาปฏิบัติอย่างไร" ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวทางรอดทะเลไทย

 

ฟื้นคืนนิเวศทางทะเล โดยการขยายพันธุ์ปะการังโดยท่อพีวีซีที่เกาะทะลุ

 

       เผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เจ้าของเกาะทะลุไอส์แลนด์ รีสอร์ท ผู้สืบต่อปณิธานของพ่อ ปรีดา เจริญพักตร์ ในการอนุรักษ์ทะเลไทย และดูแลมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม กล่าวว่า เกาะทะลุเคยมีปะการังที่สมบูรณ์ หลังเจอพายุเกย์ปี 2532 ปะการังถูกพายุหอบขึ้นบก กลายเป็นสุสานปะการังทุกวันนี้ จากนั้นปะการังเสียหายจากการประมง เมื่อเข้าสู่ยุคท่องเที่ยวบูมมาก มีการดำน้ำตื้นดูปะการัง ส่งผลให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ทั้งจากนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ บวกกับเรือขนส่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้า-ออก ระบบนิเวศเสียหาย ที่เกาะทะลุมีรีสอร์ตแห่งเดียว เราทำมาหากินกับธรรมชาติ ก็ต้องพยายามรักษาทรัพยากรทางทะเลเอาไว้ อย่างเรื่องโครงการขยายพันธุ์ปะการังโดยใช้ท่อพีวีซี ทำร่วมกับวีนิไทย เกาะทะลุร่วมปลูก 10,000 กิ่ง จากทั้งหมด 80,000 กิ่งในพื้นที่อ่าวไทย อัตราเติบโตปีละ 10 เซนติเมตร ถือว่าน่าพอใจ ปีนี้จะขยายความร่วมมือต่อไป เพราะฟื้นฟูได้จริง เราปลูกปะการังรอบเกาะ 

      " ทางรีสอร์ตยังมีกิจกรรม Skin Dive เพื่อฝึกทักษะการทำน้ำเบื้องต้น เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ดำน้ำตื้นให้ถูกวิธี ฝึกการลอยตัว มีสติและเอาตัวรอด เมื่อมีทักษะแล้วกลุ่มคนเหล่านี้จะช่วยแนะนำเพื่อนได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากระบวนการท่องเที่ยวดำน้ำอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายปะการังใต้น้ำ ปัจจุบันตลาด Skin Dive ขยายตัวมากขึ้นด้วย" เผ่าพิพัธกล่าว

 

เผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เจ้าของเกาะทะลุไอส์แลนด์ รีสอร์ท และเลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม

 

      หนุ่มเจ้าของเกาะทะลุยังบอกด้วยว่า เมื่อฟื้นฟูระบบนิเวศปะการัง มีการจัดการขยะและรักษาชายหาด เต่ากลับมา เดิมไม่มีรายงาน โดยพบแม่เต่ากระขึ้นทำรังวางไข่บนชายหาดเกาะทะลุปี 2552 เต่ากระเป็นสัตว์ทะเลหายาก เราช่วยดูแลให้รอด อนุบาลเลี้ยงลูกเต่าให้โตแข็งแรง โดยปล่อยกลับสู่ทะเลสำเร็จปี 2554 จนถึงปัจจุบันปล่อยเต่าทะเลไปแล้ว 6,000 ตัว จากแม่เต่า 10 แม่ ซึ่ง จนท.ฝังไมโครชิปที่แม่เต่า ภายใต้โครงการปกป้องอนุรักษ์เต่าทะเล ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปีนี้ก็พบแม่เต่าขึ้นวางไข่ จะมีการเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เต่า ปัจจุบันที่เกาะทะลุเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญในพื้นที่อ่าวไทย เราพยายามขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เพราะนี่คือความยั่งยืน

 

แม่เต่ากลับมาวางไข่ที่อ่าวเทียน เกาะทะลุ เมื่อวันที่  22 มิ.ย.2562 

 

       เรื่องราวของเกาะทะลุไม่ได้พิเศษกว่าโครงการไหนๆ   แค่สะท้อนเรื่องการใช้ประโยชน์ทางทะเลและการอนุรักษ์เชื่อมโยงกัน และเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเกิดปัญหาสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเห็นเป็นรูปธรรมว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน คนในพื้นที่ ทำให้สถานการณ์ทะเลไทยดีขึ้น. 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"