ในหลวงเสด็จฯประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์


เพิ่มเพื่อน    

 “ในหลวง” เสด็จฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 24 ต.ค. ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นำขบวนเรือ 51 ลำ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย ทัพเรือจัดแผนซ้อม 10 ครั้ง กำลังพล 2,200 นาย พร้อมฝึกในแม่น้ำเจ้าพระยา เผยจัดขบวนเรือ 5 ริ้ว 3 สาย เตรียมบวงสรวงเรือพระที่นั่ง 11 ก.ค.นี้

     เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.ค. มีการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 โดย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้แถลงข่าวการเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธีในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562
          พล.ร.อ.ลือชัยกล่าวว่า รัฐบาลได้มอบภารกิจในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานอนุกรรมการ และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เช่น กรมศิลปากร, กรมเจ้าท่า, กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการในพระองค์เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการคอยให้คําปรึกษาและข้อแนะนําการปฏิบัติต่างๆ ให้แก่คณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ
“การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้จัดเตรียมเรือพระราชพิธีรวมทั้งสิ้นจํานวน 52 ลํา โดยมีเรือที่สําคัญเป็นเรือพระที่นั่ง ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วย เช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น” พล.ร.อ.ลือชัยกล่าว 
        พล.ร.อ.ลือชัยแถลงอีกว่า ในการนี้ กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการซ่อมทําบูรณะเรือพระราชพิธี โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ การซ่อมตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ ส่วนการตกแต่งตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากรปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมบูรณะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำอยู่ในสภาพพร้อมที่เข้าร่วมพระราชพิธีในครั้งนี้ ซึ่งในวันที่ 11 ก.ค.2562 จะได้ประกอบพิธีบวงสรวงเรือพระที่นั่ง และเรือรูปสัตว์ จำนวน 14 ลำ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี และโรงเรือพระราชพิธี ท่าวาสุกรี จากนั้นวันที่ 12-23 ก.ค. จะเชิญเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ลงน้ำ และลากจูงเรือเข้าเก็บที่อู่ทหารเรือ ธนบุรี เพื่อเตรียมงานพระราชพิธี โดยใช้กำลังพลประจำเรือพระราชพิธีจำนวน 2,200 นาย ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลที่ไม่เคยเป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธีมาก่อน แต่ได้ฝึกซ้อมต่อเนื่อง ปัจจุบันได้รับการฝึกความคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปเป็นการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. เป็นต้นไป
     “กำหนดการซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยาตามแผนการซ้อมจํานวน 10 ครั้ง แบ่งเป็นการซ้อมย่อย 8 ครั้งและซ้อมใหญ่ 2 ครั้ง เป็นการซ้อมเสมือนวันพระราชพิธี เพื่อให้มีความพร้อมที่ปฏิบัติงานในวันพระราชพิธี   โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารควันที่ 24 ต.ค. ทั้งนี้เส้นทางเสด็จพระราชดําเนินที่ได้เตรียมไว้เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือเส้นทางจากท่าวาสุกรีถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” ผบ.ทร.ระบุ 
          ผบ.ทร.กล่าวด้วยว่า การจัดรูปขบวนเรือแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้ ริ้วสายกลางซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอกและเรือตำรวจในริ้วสายในขนาบข้างสาย เรือพระที่นั่งมีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก ริ้วสายนอกประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซงสายละ14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ
สำหรับบทเห่เรือได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ จำนวน 3 องก์ โดยนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ ส่วนนาวาเอกณัฏ วัฒน์อร่ามเกลื้อ เป็นผู้เห่เรือ สำหรับเครื่องแต่งกายฝีพายตัดเย็บโดยสำนักพระราชวัง ยึดถือรูปแบบเดิมตามโบราณราชประเพณี ในการนี้ เป็นเครื่องแบบที่มีในคลังและตัดเย็บเพิ่มเติมให้กำลังพลด้วย สำหรับเครื่องแต่งกายฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จัดสร้างใหม่ทั้งหมด 
         พล.ร.อ.ลือชัยกล่าวอีกว่า ในการจัดริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ ได้ยึดรูปแบบตามโบราณราชประเพณี แต่จะปรับริ้วขบวนเรือเล็กน้อย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคถวายผ้าพระกฐินล่าสุดประทับเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ จึงใช้เรือดังกล่าวนำขบวน ขณะที่พระราชพิธีครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นำขบวนเรือ
      “นับเป็นบุญของเหล่าทหารเรือที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้จัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคถวายพระเกียรติในครั้งนี้ และต้องขอบคุณรัฐบาลที่ได้มอบภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ให้แก่กองทัพเรือ ผมขอพูดแทนกำลังพลทุกนายของกองทัพเรือด้วยเลยว่า ทุกคนมีความภาคภูมิใจ จะทำให้ดีที่สุด ให้ความเรียบร้อยสง่างามสมพระเกียรติ เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพและเทิดทูนยิ่งของประชาชน ที่สำคัญคือจะเหน็ดเหนื่อยยาก กำลังพลทุกคนไม่เคยท้อแท้ มีอย่างเดียวคือต้องทำเพื่อสถาบันที่รักยิ่งของเราที่ทุกคนเทิดไว้เหนือเกล้า สุดท้ายคืออยากเชิญชวนประชาชนอีกครั้งหนึ่ง มาร่วมกันชื่นชมพระบารมีชื่นชมความสวยงามชื่น ชมอารยธรรมอันเก่าแก่ของประเทศไทยตลอดสองหากฝั่งเจ้าพระยา ตั้งแต่ท่าวาสุกรีถึงวัดอรุณฯ รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร ขอย้ำว่าโบราณราชประเพณีเป็นหนึ่งเดียวในโลก” พล.ร.อ.ลือชัยกล่าวทิ้งท้าย
        ภายในงานแถลงข่าว ทร.ยังได้นำกำลังพลประจำเรือพระราชพิธีสวมเครื่องแต่งกายกำลังพลประจำเรือต่างๆ ในขบวนเรือพระราชพิธีมาแสดงให้ชม อาทิ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, คู่ฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือรูปสัตว์, เรือพิฆาต, เรือแซง เป็นต้น ซึ่งการแต่งกายมีความงดงามและแตกต่างกันตามแบบโบราณราชประเพณี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"