โวล่าคนบงการ โกงเงินผู้ยากไร้ บิ๊กอู๋แฉปลัดพม.


เพิ่มเพื่อน    

     “ประยุทธ์” ย้ำฟันไม่เลี้ยงทั้ง “วินัย-อาญา” ทุจริตงบประมาณคนจน “บิ๊กอู๋” แฉรู้ตั้งแต่นั่ง รมว.พม.แล้ว ปลัด พม.มีเอี่ยว ส่วน “อนันตพร” มาแปลก พร้อมกันเป็นพยานเพื่อหาคนสั่งการ  “ขอนแก่น” มอบเกียรติบัตร 2 เยาวชนผู้กล้าหาญเปิดโปง
      เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าคดีทุจริตเงินผู้ยากไร้ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าได้สอบถามทาง พม. เขาบอกกฎหมายกฎระเบียบตรงนี้มีอยู่ ซึ่งงบประมาณสำหรับผู้ยากไร้มีมาหลายรัฐบาลแล้ว โดยกำหนดว่าให้เป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มก็ได้เพื่อนำไปดูแลผู้ยากไร้ แต่มีคนเข้ามาแสวงโอกาสด้วยการไปหาคนที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ หรือคนที่เดือดร้อนแต่ไม่รู้เรื่องเงินผู้ยากไร้ เอามารวมกลุ่มแล้วเบิกเงินออกไป ทำให้คนที่ต้องได้เงินกลับไม่ได้เงิน ตรงนี้เป็นเรื่องของกระบวนการภายในที่จะต้องตรวจสอบ 
“ผมได้สั่งการไปแล้วให้ลงโทษโดยเด็ดขาดทั้งทางวินัยและอาญา ส่วนคำสั่งให้นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวง พม. และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. ให้มาปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกฯ นั้น ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม หากตรวจสอบพบว่าไม่ผิด ก็กลับไปทำงานได้เหมือนเดิม ขอให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นความผิดปกติของการใช้งบประมาณของราชการ ให้แยกเป็นกรณีไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการทุจริตครั้งนี้เชื่อมโยงกับการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการระดับสูงใน พม. นายกฯ กล่าวว่า ต้องไปหาหลักฐานมา เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนเซ็นแต่งตั้งก็คือตนเอง เพราะกระทรวงเสนอขึ้นมา ถ้าจะตั้งใครเมื่อผ่าน ครม.แล้วก็ต้องแต่งตั้ง แต่ถ้าได้มาด้วยการทุจริต ก็ต้องไปตั้งกระบวนการสอบสวนและลงโทษ เป็นเรื่องความรับผิดชอบตามลำดับชั้นขึ้นมา
ทั้งนี้ ก่อนประชุม ครม.มีรายงานว่านายพุฒิพัฒน์ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อรายงานตัวต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแล พม.แล้ว ซึ่งนายพุฒิพัฒน์ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ขออนุญาตให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการสอบสวน ว่ากันตามหลักฐาน ส่วนนายณรงค์นั้น ได้รายงานตัวมาตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.แล้ว
      ส่วน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวยอมรับว่า ในช่วงดำรงตำแหน่ง รมว.พม.มีเรื่องร้องเรียนเช่นกัน โดยมีการส่งบัตรสนเท่ห์ไปที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประมาณต้นเดือน ส.ค.2560 จึงได้สั่งให้มีการสอบสวน โดยผลรายงานเบื้องต้นชี้ว่ามีมูล จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขั้นต้นขึ้นมา โดยรองปลัด พม.เป็นประธาน และจากรายงานระบุมีผู้บริหารระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งคือปลัดกระทรวงคนปัจจุบัน และหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งมา รมว.พม.คนปัจจุบันก็มาดำเนินการต่อ 
       “เรื่องนี้ไม่ต้องห่วง รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอยู่แล้ว เรื่องทุจริตใครก็ช่วยไม่ได้ เมื่อเจอก็ต้องดำเนินการ สำหรับผม ถ้าเจอต้องดำเนินการเด็ดขาด และการที่นายกฯ ใช้คำสั่งสำนักนายกฯ โยกย้ายปลัด และรองปลัด พม.มาประจำสำนักนายกฯ ก่อนนั้น ผมเห็นด้วย” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว 
ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่ามีโครงการอื่นๆ อีกหรือไม่ แต่ขณะนี้เราปูพรมตรวจทั้งประเทศ ซึ่งก็มีสิทธิ์เจอได้เป็นรายบุคคลเหมือนที่บอกท่อน้ำรั่ว แต่ไม่ได้รั่วทั้งท่อ ซึ่งขณะนี้เราตรวจสอบพบการทุจริตเพียงแค่กรณีทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเท่านั้น โครงการอื่นๆ ยังไม่ได้รับรายงาน ทำให้จะเปลี่ยนระบบจ่ายเงินทั้งหมด โดยอยากให้เงินเข้าระบบอีเพย์เมนต์ ถ้าเข้าระบบทุกอย่างจะจบเลย 
“ในที่ประชุม ครม. นายกฯ กำชับถ้ามีผู้บริหารระดับสูงกระทำผิดอย่าละเลย ต้องสอบสวนและลงโทษ นายกฯ ไม่ได้ระบุว่าใคร แต่ผู้บริหารระดับสูงต้องเป็นตัวอย่างที่ดี” พล.อ.อนันตพรระบุ
เมื่อถามว่า ถ้าสอบแล้วพบว่าเจอข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จะถือเป็นการเจอตอหรือไม่ พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ไม่มีตอ ไม่กลัวตออยู่แล้ว ขอให้เจอ แต่ปัญหาผู้ปฏิบัติมี 2 อย่าง คือ ทุจริตด้วยตัวเอง หรือมีคนสั่งให้ทุจริต ซึ่งถ้ามีคนสั่งให้ทุจริต ก็ขอให้บอกมาว่าใครสั่ง ซึ่งยังหาหลักฐานไม่ได้ จึงไม่ใช่เจอตอ แต่ไปไม่ถึง
ถามอีกว่า พล.ต.อ.อดุลย์ระบุว่ามีข้อมูลโยงถึง ปลัด พม.ด้วย พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า มีข้อกล่าวหา แต่หลักฐานที่แท้จริงอยู่คนบังคับให้ทำให้ส่งเงิน จะบอกเราหรือจะสารภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยานบุคคล เพราะสำคัญมาก ขอให้มาบอก เราจะกันเป็นพยานและดูแลอย่างดี จากโทษหนักจะเป็นเบา จากไล่ออกเหลือเพียงชดใช้หนี้ในส่วนที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ
พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวหลังเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เพื่อรายงานความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวว่า ได้รายงานผลการตรวจสอบโครงการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย 76 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมทั้งวางกรอบเวลาตรวจสอบ 90 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 31 พ.ค. ซึ่งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว 20 จังหวัด ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้วใน จ.ขอนแก่น, เชียงใหม่, บึงกาฬ และหนองคาย ส่วน 8 จังหวัดอยู่ระหว่างจัดทำผลว่าควรตั้งอนุกรรมการหรือไม่ อาทิ น่าน และพระนครศรีอยุธยา 
“นายวิษณุเน้นย้ำให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ส่วนจะเกี่ยวข้องกับส่วนกลางหรือไม่ เราตรวจสอบทุกประเด็น เพียงแต่ขณะนี้ข้อมูลยังไปไม่ถึง” พ.ท.กรทิพย์ระบุ
เมื่อถามถึงมูลค่าความเสียหาย พ.ท.กรทิพย์กล่าวว่า ยังประเมินความเสียหายไม่ได้ ต้องตรวจสอบจากพยานหลักฐาน นำข้อมูลเชื่อมโยงระดับพื้นที่ ซึ่งต้องขอขอบคุณนักศึกษาฝึกงานและเจ้าหน้าที่ที่มีความกล้าหาญออกมาเปิดเผยข้อมูล ทำให้มีการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ 
วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมขวัญเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้มอบเกียรติบัตรยกย่องคุณงามความดีและเป็นแบบอย่างของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ประพฤติดี ให้ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือน้องแบม นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล หรือน้องเกมส์ อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น จนมีการขยายผลตรวจสอบไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
นายสมศักดิ์กล่าวว่า น้องแบมและน้องเกมส์เป็นเยาวชนคนขอนแก่นที่กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง สมควรอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการยกย่องความดี โดยจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว และได้สั่งการให้ตรวจสอบในทุกกรณี เงินทุกบาทที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นจ่ายออกไป ต้องมีคำตอบว่าจ่ายให้ใคร บริจาคให้กับหน่วยงานใด หรือองค์กรใด 
ขณะที่น้องแบมและน้องเกมส์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ภูมิใจที่ผู้ใหญ่มองเห็นในสิ่งที่ทำ เพียงเพราะต้องการความถูกต้อง ซึ่งเมื่อเรื่องราวเดินมาถึงจุดนี้ ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ตัวเองอย่างเต็มที่และดีที่สุดแล้ว
มีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 4 ได้เข้าพบผู้ว่าฯ ขอนแก่น เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลการสืบสวนกรณีดังกล่าว และในวันที่ 28 ก.พ. รักษาเลขาธิการ ป.ป.ท.จะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อพบปะพูดคุยในเรื่องดังกล่าวด้วย 
ส่วนที่ จ.ตรัง หลัง ป.ป.ท.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในกรณีนี้เช่นกัน รวมทั้งได้นำผู้เสียหาย 2 รายเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.หาดสำราญด้วย โดยนางปาริชาติ เพทาย อายุ 63 ปี ประธาน อพม.อำเภอ ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่มีรายชื่อเป็นคนยากไร้ กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาให้เซ็นชื่อโดยไม่ให้ระบุวันที่และยอดเงิน และที่ผ่านมาไม่เคยได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว
         ขณะที่ น.ส.กัญญาณัฐ ชุมสกุล อายุ 34 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ กล่าวว่า ได้มีการเซ็นเอกสารจริง แต่ไม่ได้รับเงินเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะมันนานมากแล้ว และเป็นแค่เพียงอาสาสมัครเท่านั้นเอง พอมีปัญหาแบบนี้ไม่น่าทำเลย  
          ทั้งนี้ ก่อน ป.ป.ท.ลงพื้นที่ตรวจสอบรับทราบข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ อ.ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ ได้เข้าพบและหารือกับนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าฯ ตรังแล้ว แต่ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"