อรุณ วัชระสวัสดิ์ นักเขียนการ์ตูนการเมืองอันดับต้นๆ ของประเทศไทยกับผมคุ้นเคยกันมาช้านาน อรุณเป็นศิลปิน เป็นนักอ่าน นักคิด และนักวิพากษ์ตัวยง
กว่า 40 ปีแล้วที่เราตั้งวงถกแถลงกับขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ เพื่อให้อรุณปรับเปลี่ยนสไตล์การเขียนการ์ตูนการเมือง
ส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนช่วงนั้นเป็นแรงบันดาลใจจากนักเขียนการ์ตูนของอเมริกา
ขณะนั้นเป็นช่วงร้อนแรงของสงครามเวียดนามและเรื่องอื้อฉาวการเมืองว่าด้วยวอเตอร์เกต
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา อรุณจัดงานวันเกิดครบ 72 ปี พร้อมกับแสดงนิทรรศการผลงานการ์ตูนตลอดชีวิตของการเป็นคนทำสื่อของเขา
ก่อนหน้านี้ประมาณ 5 เดือนอรุณหยุดเขียนการ์ตูน
ถามว่าทำไม? เขาตอบว่า "เรื่องมันซ้ำมาก จนผมอาย ไม่มีอะไรจะเขียน...แสดงว่ามันไม่พัฒนาเลย"
อรุณบอกว่าสภาพบ้านเมืองทุกวันนี้เหมือน "ดูมวยปล้ำที่เขาเขียนบทไว้แล้ว แค่เปลี่ยนนักชกเท่านั้น"
ก่อนหน้านั้นประมาณ 2 สัปดาห์ อรุณโทร.มาแจ้งว่า "จะหยุดเขียนการ์ตูนแล้ว" ผมฟังแล้วโกรธมาก เพราะผมเองยังไม่หยุดทำ อรุณมีสิทธิ์จะหยุดเขียนการ์ตูนได้อย่างไร
แต่ผมก็คิดขึ้นมาได้ว่านักข่าวนั้นเป็นกรรมกร แต่นักวาดการ์ตูนเป็นศิลปิน และศิลปินมีสิทธิ์หยุด แต่กรรมกรไม่มีสิทธิ์หยุด
ผมยังจำได้ไม่ลืม วันหนึ่งในระหว่างที่เรานั่งคุยกันอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติรายวัน" ก็มีเด็กเอาห่อหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์มาวางบนโต๊ะ
ผมดูการ์ตูนชุดล่าสุดจากอเมริกาว่าด้วยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันที่กำลังถูกสอบสวนเรื่องวอเตอร์เกต
ผมตะโกนเสียงดัง "เฮ้ย! อรุณดู สุดยอดเลยอะ"
อรุณเล่าให้คนฟังในการเสวนาที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ว่า
"ผมรู้สึกเหมือนมวยไทยได้ดูนักชกมวยสากลต่อย ดูแล้วออกหมัดสวยกว่า แฟร์กว่า ผมก็เลยเปลี่ยนสไตล์เขียน เพราะเวลาผมชอบใครผมก็ชอบลอกเลียนเขา ความสุขในการเขียนของผมคือการได้ค้นคว้าศึกษา เพราะถ้าเขียนสไตล์เดียว 40-50 ปีก็คงเบื่อ"
อรุณบอกว่าการ์ตูนของเขามีเมตตาต่อนักการเมืองที่ถูกเขียนถึงเสมอ และมั่นใจว่าสามารถมองหน้าทุกคนได้อย่างเต็มตา เพราะเมื่อเห็นตัวแสดงทางการเมืองทำอะไรไม่เหมาะควร เขาเลือกใช้วิธี "ติ" แต่ไม่เคย "ด่า" ขนาดบางคนถูก "ติอย่างหนัก" ก็ยังมีแก่ใจขอรับการ์ตูนของอรุณไปแปะฝาบ้านไว้เป็นที่ระลึก
"วันหนึ่งผมเขียนเรื่องนักการเมืองคนหนึ่ง เรียกว่าติเขาอย่างหนักเลย เขาโทร.หาผมทันทีเลย ขอเอารูปไปติดข้างฝาหน่อย ผมคิดว่าผมมีความเมตตาอยู่ ถึงเขาทำไม่ถูก ผมก็ไม่ไปหยาบคายใส่เขา" อรุณเล่า
ที่ควรแก่การเล่าให้คนเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ฟังคือ การที่อรุณโตมากับการเอาตัวเองฝังอยู่กับข่าวตลอดเวลา
อรุณเล่าว่าเขาเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศห้องข่าว
การศึกษารูปแบบและถอดวิธีเขียนจากการ์ตูนหัวนอกเป็นด้านหนึ่งของการทำงาน
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การได้ฟังและแลกเปลี่ยนกับนักข่าวภายในกองบรรณาธิการ ได้ยินเสียงนักข่าวคุยข่าว ได้เห็นการถกเถียงประเด็นในห้องประชุมข่าว
"สมัยก่อนการ์ตูนเป็นความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ ไม่ใช่ความคิดเห็นของนักวาดการ์ตูน เรียกว่า editorial cartoon (การ์ตูนบรรณาธิการ) ไม่ใช่ political cartoon (การ์ตูนการเมือง)" อรุณบอก
ผมถือว่าอรุณเป็น "การ์ตูนนิสต์การเมืองรุ่นสุดท้าย" ในความหมายที่ว่าเขาใช้ศิลปะแห่งการ satire (เสียดสี ประชดประชัน) ซึ่งเป็น "ศิลปะขั้นสูง" ที่ต้องฝึกฝน อ่านหนังสือ และรับฟังความเห็นรอบด้าน ในขณะที่นักเขียนการ์ตูนวันนี้มักแสดงความรู้สึกของตัวเอง เป็นมุมมองส่วนตัวต่อนักการเมืองคนนั้นๆ
การ์ตูนการเมืองยุคอรุณและก่อนหน้านี้จะสะท้อนภาพว่าสาธารณชนมองนักการเมืองคนนั้นอย่างไร มากกว่าจะยึดความเห็นส่วนตัวเป็นหลัก
วันนี้แม้อรุณจะ "เว้นวรรค" การเขียนการ์ตูน แต่เขาก็ยังติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใจจดใจจ่ออยู่ทุกวัน
ดังนั้นหากวันไหนตื่นเช้าขึ้นมา อรุณเกิดหยิบปากกาขึ้นมาบรรเลงการ์ตูนการเมืองอีก เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองให้แรงบันดาลใจอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่งก็อย่าได้แปลกใจ
เพราะการเมืองบ้านเราวันนี้เพี้ยนมากขึ้นทุกวัน...และหากเพี้ยนถึงจุดหนึ่ง อรุณก็ย่อมจะทนเป็นเพียง"ผู้สังเกตการณ์" ไม่ได้เช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |