ยกฟ้อง'สุเทพ'หมิ่นนปช. ศาลชี้'เผาเมือง'รู้ทั่วโลก


เพิ่มเพื่อน    

     ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง "สุเทพ” คดีหมิ่น  "จตุพร-ณัฐวุฒิ-เหวง" เผาเมือง ระบุเรื่องที่จำเลยพูดมีการแพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งคำปราศรัย เช่น "รวมกันที่ศาลากลาง, เผาไปเลยพี่น้อง และพกขวดแก้วคนละใบมาเติมน้ำมันเอาข้างหน้า กทม.เป็นทะเลเพลิง" ชี้พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักมั่นคง ไม่มีการเสริมแต่ง  
     เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ห้องพิจารณาคดี 712 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ อ.1878/2558 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. อายุ 69 ปี เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53
     กรณีเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2554 นายสุเทพให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 พาดพิง นพ.เหวง โตจิราการ, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ทำนองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง เชื่อว่าลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เพื่อให้ได้เอกสิทธิ์คุ้มกันตนเองจากคดี และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย แบ่งแยกไม่ได้ เป็นการหมิ่นประมาทด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้เสียหายและพรรคเพื่อไทยได้รับความเสียหาย ซึ่งกระทำในระหว่างช่วงหาเสียงทำให้เสื่อมเสียคะแนนนิยมทางการเมือง ทำให้จำเลยและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับประโยชน์
     โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการลงเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนั้น พรรคเพื่อไทยก็จัดแกนนำ นปช.ไว้ในกลุ่มรายชื่อลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ไว้ในลำดับต้นๆ และได้รับเลือกตั้ง ส่วนที่นายสุเทพ จำเลย กล่าวถึงเหตุการณ์ชุมนุมที่มีการเผาศาลากลางจังหวัดและห้างสรรพสินค้าเมื่อปี 2553 ก็เป็นไปตามรายงานการสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยขณะที่นายสุเทพกล่าวก็อยู่ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รายงานสถานการณ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ การกระทำของจำเลยจึงไม่ได้เป็นการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
     วันนี้นายสุเทพเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ
     ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ว่าจำเลยทำให้ผู้เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยผู้เสียหายทั้งหมดเป็นพยานเบิกความทำนองว่า การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ทำให้คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นคู่แข่งกับพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น ส่วนการกล่าวหาว่าเผาเมืองนั้น ผู้เสียหายไม่ได้ถูกดำเนินคดีฐานวางเพลิง แต่โดนข้อหาก่อการร้าย ขณะที่จำเลยต่อสู้ยืนยันข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ได้ศึกษาความเป็นมาของ นปช. และอดีตนายกฯ ที่มีการสั่งสมาชิกพรรคไปจัดตั้งมวลชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนการเงินจากอดีตนายกฯ ชี้ชัดว่าผู้เสียหายเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ มีการก่อการร้าย ทำร้ายทหารและประชาชน ภายหลังแกนนำยุติการชุมนุมมีการเผาสถานที่ต่างๆ อัยการจึงมีคำสั่งฟ้องข้อหาก่อการร้าย
     เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบคำเบิกความ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการให้สัมภาษณ์ของจำเลยในฐานะรองนายกฯ, เลขาธิการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่อัยการยื่นฟ้องผู้เสียหายกับพวกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาก่อการร้าย มีการปราศรัยของผู้เสียหายให้ไปรวมกันที่ศาลากลาง, เผาไปเลยพี่น้อง และที่นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช. ปราศรัยระบุว่าพกขวดแก้วคนละใบมาเติมน้ำมันเอาข้างหน้า กทม.เป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน ประกอบคำเบิกความของพนักงานสอบสวนดีเอสไอว่าแกนนำ นปช. เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ระดมมวลชนเข้ามาเป็นขบวนการ ซึ่งได้สอบสวนเสร็จสิ้นและสั่งฟ้อง ข้อเท็จจริงที่จำเลยให้สัมภาษณ์จึงเป็นไปตามที่รับรู้รับทราบ มีสื่อมวลชนแพร่หลายไปทั่วโลก พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักมั่นคง จำเลยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสุจริต ไม่มีการเสริมแต่ง ไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายด้วยความเท็จและจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเอง, พรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่เลือกผู้เสียหาย จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
     ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสุเทพกล่าวว่า คดีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน พ.ค.2554 ตอนนั้นตนเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และมีการจัดสัมมนาของพรรคที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์เรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะปรองดอง ไม่แก้แค้น แต่ขณะเดียวกันก็ได้ส่งแกนนำ นปช.ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ตนก็ให้ความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับรู้รับทราบในฐานะที่เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้นว่าคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย กองกำลังติดอาวุธเป็นพวกเดียวกัน แยกกันไม่ออก มีวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติการและแบ่งแยกหน้าที่กันทำ ซึ่งมีส่วนในการก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง การที่เอาแกนนำคนเสื้อแดงมาลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ก็เพื่อมุ่งหวังที่จะให้ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการเมือง
     นายสุเทพกล่าวต่อไปว่า นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ, นพ.เหวง และพรรคเพื่อไทย ก็ได้มาฟ้องว่าตนหมิ่นประมาท ซึ่งเราได้ต่อสู้คดีกันมานาน โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้เหตุผลว่าผมพูดไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐบาล และเป็นการให้ความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ได้ใส่ร้ายหรือพูดนอกเหนือข้อเท็จจริง จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท รวมทั้งความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่อ้างว่าเป็นการทำลายคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย คิดว่าคงจะต้องสู้คดีกันอีกในชั้นศาลฎีกา เพราะคาดว่าทางฝ่ายโจทก์ก็คงจะไม่ลดละหรือยกเลิกกับตนง่ายๆ ก็คงต้องพัวพันอยู่กับคดีความเช่นนี้ ตนทำใจมาตั้งแต่อยู่ที่บ้านแล้ว ไม่ว่าศาลจะพิพากษาอย่างไร ก็พร้อมน้อมรับคำพิพากษาของศาล ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานข้อเท็จจริง ขอเรียนว่าในช่วงนี้ตนมีคดีความเยอะมาก โดยวันที่ 12 มี.ค.นี้ ก็จะต้องมาศาลในคดีแพ่ง ที่ กกต.ฟ้องแพ่งกล่าวหาว่าตนและแกนนำ กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้เสียงบประมาณ เรียกค่าเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท อีกคดีเป็นคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สมัยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี สรุปสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องข้อหาเป็นกบฏ ก่อการร้าย ซึ่งจะต้องสู้คดีกันอีกนาน
     “ขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้ฝากไปถึงพี่น้องมวลมหาประชาชนชาว กปปส.ทั้งหลายว่า อย่าได้เป็นห่วงเป็นกังวลพวกผม ขอบคุณในความห่วงใย แต่ว่าพวกผมก็จะสู้คดีให้ดีที่สุด เรามีเจตนาดีต่อบ้านเมือง เรามั่นใจในสิ่งที่เราได้ทำไป และก่อนที่เราจะลงมือตัดสินใจออกมาเดินขบวนกันปี 2556-2557 เราก็ทำใจแล้วว่าเราอาจจะต้องถูกดำเนินคดีขึ้นโรงขึ้นศาล เราอาจจะเสียเลือดเนื้อ เสียชีวิต เรื่องเหล่านี้ก็ตั้งใจมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นไงเป็นกัน แต่ว่าไม่หนีคดี จะขึ้นศาลสู้ทุกคดี” นายสุเทพกล่าว
     วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) เดินทางมายื่นหนังสือต่ออธิบดีอัยการคดีพิเศษ เพื่อขอให้มีการติดตามตัวผู้ต้องหาในคดีหมายเลขดำ อ.247/2561 หรือคดีกบฏ กปปส. ที่เหลืออีกจำนวน 34 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ซึ่งพนักงานอัยการได้นำตัวส่งฟ้องศาลไปก่อนหน้านี้แล้วรวม 9 คน ต่อศาลอาญา โดยมี น.ส.ลักขณา เมฆทอง ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานคดีพิเศษ เป็นผู้แทนรับหนังสือ
    นายวิญญัติกล่าวว่า คดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 58 คน ซึ่งรวมถึงผู้ต้องหาที่เหลืออีกจำนวน 34 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ทั้งหมดมีพฤติการณ์สมคบร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะแบ่งแยกหน้าที่กันทำ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ต่อรูปคดีในการพิจารณาคดีในศาลไม่ให้ล่าช้า จึงควรรีบนำตัวไปฟ้องโดยเร็ว อีกทั้งตนทราบว่าพนักงานอัยการได้นัดหมายผู้ต้องหาที่เหลืออีกจำนวน 34 คน เป็นครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 14 มี.ค.2561 ซึ่งหากนับระยะเวลาจากวันที่ 24 ม.ค.2561 ซึ่งผู้ต้องหาที่เหลือรับทราบการนัดหมายครั้งที่ 2 ล่วงหน้าถึง 1 เดือนเศษ เมื่อคำนึงถึงสถานะ อาชีพ และการปฏิบัติที่ผ่านมาของผู้ต้องหาที่เหลือหลายรายที่ไปปรากฏตัวในที่ต่างๆ ทั้งที่ทราบกำหนดนัดของพนักงานอัยการแล้ว อีกทั้งผู้ต้องหาที่เหลือบางรายก็รับรู้การนัดหมายของพนักงานอัยการแล้ว
     “ด้วยเหตุนี้ หากภายในวันที่ 14 มี.ค.2561 ผู้ต้องหาที่เหลือจำนวน 34 คนดังกล่าวไม่มาพบพนักงานอัยการ ผมในฐานะผู้กล่าวหา ขอเรียกร้องให้อธิบดีอัยการคดีพิเศษและคณะทำงานยื่นคำร้องต่อศาลตามกฎหมายในการที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาที่เหลือ 34 คน มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่าบ้านเมืองนี้ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ บังคับใช้กับทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใด และจะดูว่าองค์กรอัยการจะรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรมหรือไม่ สุดท้ายนี้ ผมก็ขอเรียกร้องให้ผู้ต้องหาที่เหลือทั้ง 34 คน เคารพกฎหมาย มีความกล้าหาญที่จะเข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนตามกระบวนการยุติธรรม เพราะในอดีตที่ผ่านมาผู้ต้องหากลุ่มนี้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายและปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นที่ตนเองก่อน ไม่ต้องหาวิธีการหรือแสดงพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อไปในทางที่จะประวิงคดีให้ล่าช้าต่อไปอีก” นายวิญญัติกล่าว
     นายวิญญัติกล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้า ตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดอีกครั้ง การยื่นหนังสือในวันนี้เพื่อให้นำตัวผู้ต้องหา 34 คน ที่อัยการสั่งฟ้องเป็นจำเลยแล้วมาฟ้องศาลให้เร็วที่สุดในวันที่ 14 มี.ค.นี้ เพราะถือเป็นหน้าที่ของอัยการที่จะต้องติดตามตัวมา ไม่เช่นนั้นจะต้องเป็นเหตุในการขอออกหมายจับในทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"