เลือกตั้งไม่เกินกุมภา62


เพิ่มเพื่อน    

    “ประยุทธ์” ประกาศชัดอีกแล้วเลือกตั้งไม่เกิน ก.พ.62 หลัง 1 มี.ค.นี้เปิดให้จัดตั้งพรรคใหม่ได้   ส่วนกิจกรรมการเมืองต้องขออนุญาต คสช.เป็นครั้งคราว ยัน กกต.ไม่มีวันเกิดสุญญากาศ "ศุภชัย" รับหาก กกต.เหลือ 3 คนจะมีปัญหาการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ "มีชัย" แนะศาลต้องมีใจเป็นธรรม ไม่โกรธหากลงคะแนนเปิดเผย เลขาฯ ศาลปัดขัดแย้ง สนช. พร้อมเลือกตัวแทนรอบใหม่ ขณะที่ สนช.เตรียมโหวต 2กฎหมายลูก 8 มี.ค.นี้ มั่นใจไร้ปัญหา "เทพเทือก" ยังอุบไต๋ตั้งพรรค อ้างขึ้นกับ ปชช. ย้ำหนุนบิ๊กตู่เป็นนายกฯ หนังยังไม่จบอย่าหมดหวังปฏิรูป
     ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 มี.ค.นี้ เป็นวันเริ่มต้นให้กลุ่มการเมืองจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถือว่าพรรคการเมืองใหม่ยังไม่มีความพร้อมอะไรเลย ต้องให้ความเป็นธรรมตรงนี้บ้าง ต้องให้เขาจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ส่วนการประชุมพรรค สามารถให้จัดประชุมได้ในกิจกรรมที่จำเป็น เพราะเขายังไม่มีอะไรเลย ทั้งระเบียบทางการต่างๆ ของพรรค ขณะที่การจัดกิจกรรมทางการเมือง ต้องขออนุญาต คสช.เป็นครั้งคราว เป็นเรื่องเป็นราวไป เฉพาะกิจกรรมที่จำเป็น เพราะเขายังไม่มีอะไรเลย ทั้งระเบียบทางการต่างๆ ของพรรค บางอย่างอาจอนุมัติ แต่บางอย่างอาจไม่อนุมัติ ในส่วนนี้ให้สำหรับพรรคการเมืองใหม่เท่านั้น
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า วันนี้พอจดทะเบียนแล้ว เพียงแต่ให้มีการประชุม 250 คน ในการจัดตั้งพรรค และเตรียมระเบียบต่างๆ รองรับไว้ก่อนให้ได้แค่นั้น อะไรอื่นๆ ต้องขออนุญาต คสช. ส่วนพรรคการเมืองเก่า วันที่ 1 เม.ย.นี้ ให้เริ่มสำรวจสมาชิก เพราะมีรายชื่ออยู่แล้ว แต่ยังประชุมพรรคไม่ได้ แต่หลังจากพ.ร.ป.ส.ส.-ส.ว. ซึ่งจะเสร็จราวเดือน มี.ค. ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพิจารณาประมาณ 3 เดือน ก็จะออกมาประมาณ มิ.ย. เมื่อถึงเวลานั้นแล้วก็จะมีการประชุมหารือกันทั้งในส่วนแม่น้ำ 4 สาย 5 สายที่ว่ารวมถึงพรรคการเมืองด้วย เพื่อหารือกันว่าตามกติกาควรกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ อย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด คือไม่เกินเดือน ก.พ.62 เพราะได้มีการเลื่อนไปจากเดิม 90 วัน หรือ 3 เดือน ตาม พ.ร.ป.ที่มีผลบังคับใช้ ก็แค่นั้น
    “ตอนนี้ผมตอบชัดเจนแล้วนะ การเลือกตั้งไม่เกินเดือนกุมภา.ปี 62 จะเอาอะไรกันอีก แต่จะวันเวลาไหน ก็อยู่ในห้วงเวลาดังกล่าวนั่นแหละ ประมาณ 150 วัน แต่ใน 150 วันนี้ก็ต้องพิจารณาดูว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร ผมไม่ได้ขู่นะ แต่ถ้าทุกคนยังออกมา เดี๋ยวคอยดูแล้วกัน พอเวลาปลดล็อกทางการเมืองมันจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ผมก็หวังให้มันเกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมาหาเสียงกันโดยสงบ ไม่ใส่ร้ายป้ายสีกัน ไม่ยุยงปลุกปั่นอะไรทำนองนี้ มันจะได้เลือกตั้งได้ ผมก็อยากให้เลือกตั้งได้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้เลือกตั้งไม่ได้ แล้วผมจะได้อยู่ต่อ ถ้าคิดแบบนี้ ก็ไม่อยากจะคุยด้วย พอแล้วนะเรื่องนี้ เรื่องล้มกฎหมาย ผมบอกแล้วไม่มีนโยบาย มันทำไม่ได้ มันไม่ควรจะล้ม ต้องไปหาทางกันให้ได้ เพื่อให้เลือกตั้งได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาปลดล็อกพรรคการเมืองจะใช้อะไรเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การปลดล็อกคือความพร้อมของกฎหมายต่างๆ เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งสนามใหญ่จะปลดล็อกกันได้อย่างไร ต้องไปดูหลังพ.ร.ป.ส.ส.-ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้ว  ส่วนสุญญากาศไม่มีหรอก กกต.มีตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าสรรหา กกต.ใหม่ไม่ทัน กกต.เก่าก็ยังอยู่ แต่คิดว่าการสรรหาต้องทำให้ทัน ถ้าสรรหาใหม่ได้ ชุดใหม่ก็ทำไป ถ้าไม่ทันชุดเก่าก็จะเป็นคนจัดการเลือกตั้ง 
     เมื่อถามถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการมูลนิธิมวลมหาประชาชน ประกาศตั้งพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของนายสุเทพ การตั้งพรรคการเมืองก็เห็นว่าตั้งกันเยอะแยะไม่ใช่หรือ ก็ตั้งกันไป ส่วนที่จะสนับสนุนตนเป็นรัฐบาลหรืออะไรต่างๆ ก็ขอขอบคุณ มีหลายคนพูดจาอย่างนั้น ต้องขอบคุณทุกคน ทั้งนี้จะเป็นไปได้อย่างไรอยู่ที่กฎหมายไม่ใช่หรือ ประชาธิปไตยหรือกฎหมายว่าอย่างไร ไม่ใช่สนับสนุนตนแล้วตนจะได้เป็นอะไรทำนองนั้น แล้วก็ไปขัดแย้งกันต่อไปอีก ด้วยคำว่าสนับสนุน ไม่สนับสนุน มันก็ขยายขายข่าวกันไปเรื่อย พอได้แล้ว
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม.ว่า วันที่ 2 มี.ค. พรรคการเมืองเตรียมจดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ โดยจะประชุมคัดเลือกกรรมการบริหารพรรคได้ และสามารถหาสมาชิกพรรคเพิ่มเติมได้ ส่วนพรรคการเมืองเก่ายังไม่สามารถทำอะไรได้ในช่วงนี้ เนื่องจากมีหลายอย่างที่พร้อมอยู่แล้ว จึงต้องต่อให้พรรคใหม่ก่อน ส่วนกฎหมายลูกเกี่ยวกับ ส.ส.และ ส.ว. เข้าใจว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสามารถพิจารณาได้เสร็จภายในเดือน มี.ค. และคาดการณ์ว่าภายในเดือน มิ.ย.ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวายจะแล้วเสร็จ ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในภายหลัง 90 วัน
กางปฏิทินเเลือกตั้ง ก.พ.62
         "ภายในเดือน มิ.ย.จะประชุมพรรคการเมือง เพื่อกำหนดว่าจะจัดเลือกตั้งในช่วงใด และจะปลดล็อกทางการเมืองในช่วงใด โดยนายกฯ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายให้ล้มกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งสามารถจะเกิดขึ้นได้ภายในเดือน ก.ย.2561 ถึงเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมและสถานการณ์ หากมีความเรียบร้อยก็จะเกิดเร็วขึ้น รัฐบาลและ คสช.อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป จึงอยากให้ประชาชนสบายใจ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น จะซ้อนอยู่ในช่วงเวลาการเลือกตั้งใหญ่  โดยเวลาที่เหมาะสมน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือน ส.ค.นี้." พล.ท.สรรเสริญระบุ
    ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า วันที่ 1 มี.ค.นี้ คสช.ให้ดำเนินการเพื่อให้จัดตั้งพรรค แต่ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ไม่ใช่จะเข้าไปจดทะเบียนพรรคได้เลย กระบวนการต้องขออนุญาต คสช. จากนั้นไปชักชวนคนมาเป็นผู้ริเริ่มจัดหาสมาชิก และประชุมใหญ่เพื่อตั้งชื่อพรรค แล้วจึงค่อยไปจดทะเบียนพรรค ส่วนประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ยกเว้นให้สามารถทำได้ รวมทั้งข้อห้ามเรื่องการประชุมทางการเมืองเกิน 5 คนด้วย แต่ต้องขอ คสช.เสียก่อน ส่วนถ้าประชุมผู้ริเริ่มไปแล้วและไปจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองจะผิดหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ว่าผิดหรือไม่ เพราะต้องดูว่าพรรคนั้นไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถ้าบอกว่ายังไม่เคยประชุม นายทะเบียนอาจให้กลับไปประชุมกันเสียก่อน
    ประธาน กรธ.กล่าวถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน หากมีคนพ้นจากตำแหน่งว่า องค์ประชุมของ กกต. ต้องดูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาล ประกอบกับกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.เป็นหลัก การกำหนดองค์ประชุมที่กำหนดไว้ต้องคิดตามอัตราส่วน  การกำหนดให้องค์ประชุมต้องมี 5 จาก 7 คน เป็นไปตามจำนวน กกต.ชุดใหม่ ดังนั้น กกต.ชุดปัจจุบัน เมื่อคิดตามอัตราส่วน องค์ประชุมคงมี 4 คน แต่เมื่อไรที่เหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องสรรหาเพิ่ม โดยอาจขอให้ศาลดำเนินการตามมาตรา 17 ของกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.ได้ เพราะ กกต.ที่เหลือน้อยกว่ากึ่งหนึ่งไม่อาจดำเนินการได้ เช่น การออกระเบียบ ส่วนควรใช้ม.44 ในการสรรหา กกต.หรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจ 
    ส่วนวิธีการลงคะแนนของศาลเพื่อคัดเลือกตัวแทนเป็น กกต. ต้องทำอย่างเปิดเผยนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาศาลคงทราบแล้วว่ามีคนสงสัยว่าลงคะแนนเป็นไปอย่างเปิดเผยแท้จริงหรือไม่แล้ว ซึ่งในครั้งที่สองนี้ศาลอาจจะหาวิธีลงคะแนนใหม่แบบไม่มีข้อสงสัยก็ได้ เพราะวิธีลงคะแนนแบบเปิดเผยมีหลายวิธี อย่างไรก็ตาม คำว่า “เปิดเผย” หมายถึงคนอื่นรู้ได้ว่าใครเลือกใคร อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ สนช.ไม่เห็นชอบให้เป็น กกต.ในรอบแรกไม่มีสิทธิ์สมัครรับการสรรหาอีก แต่ข้อห้ามดังกล่าวไม่ได้รวมถึงผู้ที่ศาลคัดเลือกมา 2 คน ฉะนั้นตัวแทนจากศาลในรอบสองนี้เป็นคนเดิมก็ได้ ส่วนที่ว่าการให้ศาลลงคะแนนเลือกแบบเปิดเผยจะทำให้ศาลด้วยกันเองมองหน้าไม่ติดนั้น คิดว่าคนในแวดวงกฎหมายใจต้องเป็นธรรม ใจต้องนิ่ง ไม่โกรธ
     นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการสรรหา 7 กกต.ใหม่ว่า ตนได้ทำหนังสือแจ้งมติของที่ประชุม สนช.ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อดำเนินการคัดเลือก 2 ตัวแทนจากสายศาลฎีกาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่รายชื่ออีก 5 คนที่เหลือที่คณะกรรมการสรรหา กกต.ต้องดำเนินการคัดเลือกนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนทางธุรการ โดยในวันที่ 27 ก.พ. จะทำหนังสือไปยังองค์กรอิสระที่ไม่ได้มีตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหา กกต.ในรอบที่แล้วอีก 2 องค์กร คือตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตัวแทนจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และอีก 1 องค์กรที่ลาออกไป คือตัวแทนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งตัวแทนใหม่เข้ามาร่วมภายใน 20 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.กำหนดไว้ เพราะของเดิมมีองค์ประชุมอยู่แค่ 5 คนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ จึงอยากให้องค์ประชุมครบ 8 คน ทั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการจากตัวแทนขององค์กรอิสระให้ครบทุกองค์กรด้วย เมื่อได้รายชื่อกรรมการสรรหาทั้งหมดครบแล้ว จะนัดประชุมเพื่อกำหนดวันเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจรับการสรรหาเป็นกกต.ต่อไป
ศาลพร้อมส่ง 2 ตัวแทน
    ด้านนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเเละอดีต กกต. ระบุให้ติดตามความขัดเเย้งระหว่างสถาบันศาลเเละสมาชิกสนช. กรณี สนช.คว่ำ 7 ว่าที่ กกต.ว่า การดำเนินงานของศาลยุติธรรมเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด เรื่องความขัดแย้งระหว่างศาลและ สนช. ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน ส่วนว่าที่ กกต.ไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช. ส่วนตัวยังไม่ทราบเหตุผล เพราะยังไม่มีใครแจ้งเหตุผลมา  แต่ยืนยันว่าบุคคลที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกไปมีความเหมาะสม บุคคลเหล่านี้มีความรู้ความสามารถ และเหมาะสมมากที่สุด จึงเสนอให้ สนช.พิจารณา แต่เมื่อ สนช.ลงมติออกมาแบบนั้น เราในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ หลังจากได้รับหนังสือจากสนช.แล้ว ประธานศาลฎีกาก็จะได้กำหนดนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 176 คนต่อไป เพื่อเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ตามขั้นตอน เชื่อว่าดำเนินการได้ทัน ไม่มีปัญหาเรื่องเงื่อนเวลา
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดหนังสือจาก สนช.แจ้งผลการลงมติไม่เห็นชอบว่าที่ 7 กกต.ได้ส่งถึงศาลฎีกาแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่า ภายในสัปดาห์หน้าอาจจะมีการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้  
    นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ลงสมัครเข้ารับเลือกเป็นเลขาธิการ กกต.ว่า อยู่ที่ กกต.จะเห็นชอบหรือไม่ คงพิจารณาจากความรู้ความสามารถเป็นหลัก ยังตอบไม่ได้จะเทใจให้นายสมชัยหรือไม่ เป็นเรื่องกระบวนการสรรหา ส่วนที่จะมี กกต.บางคนหมดวาระดำรงตำแหน่ง จะทำให้เกิดปัญหาการทำงานของ กกต.หรือไม่นั้น ตามมาตรา 70 วรรค 2 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุให้ กกต.ชุดเก่าดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ ถ้ายังไม่มี กกต.ใหม่ กกต.ชุดเดิมก็ยังทำหน้าที่ต่อไป 
    เมื่อถามว่า หากนายสมชัยไปเป็นเลขาธิการ กกต. แล้วต้องลาออกรวมกับ กกต.ที่หมดวาระ เท่ากับจะเหลือ กกต.แค่ 3 คน จะเกิดปัญหาหรือไม่ นายศุภชัย ชี้แจงว่า ถ้าเหลือ กกต.อยู่ 4 คน ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ถ้าเหลือ กกต. 3 คน จะมีปัญหาเรื่องกรณีการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ไม่สามารถทำได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคต อย่าไปสมมติ ถึงวันนั้นค่อยไปว่ากัน แต่ทุกเรื่องมีทางออกอยู่ ส่วนจะมีการใช้มาตรา 44 ต่ออายุให้ กกต.ที่หมดวาระนั้น ต้องขึ้นอยู่กับ คสช.เป็นผู้ตัดสินใจ ถ้า คสช.เห็นว่าการใช้ ม.44 เป็นทางออก กกต.ก็ไม่ขัดข้อง
    ขณะที่นายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เปิดเผยว่า ทาง กมธ.ได้สรุปการพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวเสร็จ โดยในส่วนที่มีการปรับแก้คือเรื่องการตัดทิ้งการแสดงมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียงตามที่ กรธ.โต้แย้งมา เพราะเห็นว่าอาจทำให้เกิดการตีความเรื่องค่าใช้จ่ายการหาเสียง เป็นช่องว่างให้เกิดการฟ้องร้องตามมามากมาย นอกจากนี้ ยังปรับช่วงเวลาลงคะแนนเลือกตั้งจาก 07.00-17.00 น. เป็น 08.00-17.00 น. รวมถึงมาตรา 64 การปรับแก้ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามร่างที่ผ่านการเห็นชอบจาก สนช. ระบุให้มีค่าใช้จ่ายเท่ากันทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ โดยให้ตัดถ้อยคำ “เท่ากันทุกพรรค” ทิ้ง และแก้ไขเป็นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.ไปหารือกับพรรคการเมือง
    "หลังจากที่ กมธ.ร่วมทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จแล้ว จะเสนอต่อที่ประชุม สนช.ต่อไป คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา น่าจะได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้จะเป็นการโหวตทั้งฉบับ ไม่ได้โหวตรายประเด็น ซึ่งจะเปิดให้กมธ.เสียงข้างมากและเสียง กมธ.ชี้แจงเหตุผลของแต่ละฝ่ายให้ สนช.รับฟังเหตุผล จากนั้นจึงจะลงมติโหวต หากจะไม่ผ่านจะต้องใช้เสียง สนช. 2 ใน 3 หรือ 166 เสียงขึ้นไป" นายสมชายกล่าว 
8 มี.ค.โหวต 2 กม.ลูก
    นายยุทธนา ทัพเจริญ ในฐานะวิป สนช. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่มีสาระสำคัญต้องแก้ไขในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น เรื่องทุนประเดิมพรรคการเมือง การจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธาน รับเรื่องไปศึกษา ซึ่งหากเรียบร้อยแล้วจะได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมวิป สนช. หากวิป สนช.ให้ความเห็นชอบ ก็จะเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ต่อไป
    ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในส่วนของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า กมธ.ร่วมได้พิจารณาครบถ้วนทุกประเด็น พบว่าไม่มีปัญหา ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.และลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งคิดว่าจะผ่าน สนช.ไปได้ด้วยดี และแนวทางโรดแมปก็จะชัดเจนขึ้น เพราะยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น ส่วนข้อกังวลที่จะมีการคว่ำกฎหมายฉบับนี้นั้น หากเกิดกรณีเช่นนี้จริง กระบวนการเริ่มร่างใหม่จะอยู่ที่ กรธ. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีการคว่ำกฎหมายฉบับนี้        
    ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวจะจัดตั้งพรรคการเมืองว่า ตนได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อมาทำงานรับใช้ประชาชน และเป็นแกนนำต่อสู้กับระบอบทักษิณ มีผลต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ ตนต้องก้มหน้าก้มตาสู้คดี ยังไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่รอด ทั้งนี้ ได้ปวารณาตัวแล้วว่าชีวิตที่เหลืออยู่นี้ อีก 10 ปีก็จะอายุ 80 ปีแล้ว ก็จะใช้เวลาช่วงนี้อุทิศชีวิตทำงานเพื่อประชาชน รับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา จะไม่กลับไปเป็นนักการเมืองหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือมีตำแหน่งทางการเมืองหรือเข้าร่วมรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขอยืนยันว่าจะไม่ทิ้งความรับผิดชอบภาระหน้าที่ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยที่จะต้องรับผิดชอบบ้านเมือง เพราะเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต้องช่วยกันดูแลบ้านเมืองให้ปลอดภัย เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศไทยปลอดภัย
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ตกลงจะสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมือง กปปส.หรือไม่ เช่นที่มี นพ.ระวี มาศฉมาดล เตรียมตั้งพรรคการเมือง นายสุเทพ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ทำ นพ.ระวีหรือใครก็ไม่เกี่ยวกับตน ไม่มีการทาบทามใดๆ จุดยืนของตนก็คือเป็นผู้รับใช้ประชาชน ประชาชนจะให้ทำอย่างไรในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัยตนก็ยินดีทั้งนั้น
     เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่ในโอกาสข้างหน้ามวลมหาประชาชนจะมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น อยู่ที่พี่น้องประชาชนทั้งหลายว่าจะประเมินและมีความคิดความอ่านต่อสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไร และคิดว่าตัวเองจะต้องทำอะไร ซึ่งเป็นเรื่องของประชาชน 1.นายสุเทพ ในฐานะโดยส่วนตัววันนี้ยังเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้นำที่ดี เป็นนายกฯ ที่ดี ที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ และตนก็ฝากความหวังไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างมาก แต่ว่าไม่ได้พบกันเลย 2.ในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการ กปปส. ยืนยันว่า กปปส.ไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล สิ่งที่มวลมหาประชาชนเรียกร้องต้องการคือการปฏิรูปประเทศไทย ต้องการให้เห็นการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เพราะเราไม่ต้องการให้วงจรชั่วร้ายทางการเมืองที่เคยเจออยู่มาปรากฏขึ้นอีก ในส่วนของนายไพบูลย์ นิติตะวัน นั้นก็เคยร่วมต่อสู้กันมาด้วยกัน และตนก็รู้สึกว่าบุคคลเหล่านี้มีเจตนาดีต่อบ้านเมือง ตนก็เอาใจช่วย ใครก็ตามที่จะมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ตนก็เชียร์และเอาใจช่วยทั้งนั้น
    "เอาเป็นว่าหนังยังไม่จบ อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าจะให้รางวัลหรือไม่ให้รางวัล ผมก็พยายามระมัดระวังทำหน้าที่เป็นประชาชนที่ดี แล้วก็ให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ผมเรียนท่านว่าประชาชนคาดหวังอย่างไร ส่วนท่านจะทำอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป"  นายสุเทพกล่าวเมื่อถามว่าดูแล้วการปฏิรูปของรัฐบาล คสช.ที่ผ่านมาจะผิดฝาผิดตัวไปจากที่คาดหวังหรือไม่ 
    นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การยืนยันจัดให้มีการเลือกตั้งไม่เกิน ก.พ.2562 ของนายกฯ ส่งผลบวกต่อภาคการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น ยังจะส่งผลดีต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รอดูความชัดเจนในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามที่ประกาศเอาไว้ หรือมีการเลื่อนการเลือกตั้งอีก คาดว่าผลกระทบทางลบต่อภาคการลงทุนจะรุนแรงมากกว่าก่อนหน้านี้ หากหลังเลือกตั้งไม่มีการสืบทอดอำนาจด้วยวิธีที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยหรือขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะปกติอันเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและการลงทุนได้ และควรพิจารณายกเลิกคำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและพรรคการเมือง เปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยสติปัญญาอย่างมีความรับผิดชอบ จะนำสังคมไทยไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์และสันติธรรมเพิ่มขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"