ใช้ชีวิตให้สนุก-โกรธให้น้อย เคล็ดลับอายุยืนคนหลัก 8


เพิ่มเพื่อน    

(ดร.เจริญ คันธวงศ์)

        ยิ่งโกรธง่ายมากเท่าไหร่ พญามัจจุราชก็จะอยู่ใกล้เรามากเท่านั้น ทัศนคติการมองโลกแง่บวกของ ดร.เจริญ คันธวงศ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ดำรงตำแหน่งมาร่วม 40 ปี ที่แม้ปัจจุบันอายุเข้าหลัก 86 ปี และเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งที่สำไส้ กระทั่งลามไปถึงตับในช่วงอายุ 70 ปี ซึ่งระยะเวลาในการเจ็บป่วยและรักษากินเวลา 7 ปี จนปัจจุบันโรคร้ายหายสนิท จากประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้น ทั้งบทบาทด้านการทำงานรับใช้ประชาชน และการรักษาตัวจากโรคร้าย งานนี้ อ.เจริญแง้มให้ฟังว่า นอกจากการคิดบวก ตลอดจนวิวัฒนาการที่ทันสมัยในการรักษาโรคมะเร็งยุคนี้ สิ่งสำคัญในช่วงของการรักษาอาการป่วย เช่น การปรับพฤติกรรม โดยไม่ป้อนยาหรือสิ่งที่มะเร็งชอบเข้าไปในร่างกาย อาทิ ของมัน ของทอด ของปิ้งย่าง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรักษาได้ผลดี ซึ่งคนยุคใหม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้

        อ.เจริญ เล่าด้วยน้ำเสียงแจ่มใสว่า การที่ผมอยู่ต่างจังหวัดบ่อยๆ โดยการทำหน้าที่รับใช้ประชาชน อย่างการเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น ตรงนี้เมื่อเราอยู่กับชาวบ้านมากๆ ได้เห็นความทุกข์ ก็รู้สึกเห็นใจพวกเขา เนื่องจากยังรักษาสุขภาพไม่เป็น บางคนก็กินอาหารจนอ้วน หรือบางคนก็กินน้อยกระทั่งผอมไป ส่วนหนึ่งเพราะชาวบ้านไม่รู้หลักของการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ผมจึงให้ความรู้กับเขา แต่สำหรับผมนั้นจะกินอาหารวันละ 2 มื้อครึ่ง แต่เน้นเป็นแกงที่ใส่ผักเป็นหลัก ทั้งแกงเลียง และแกงผักรวมที่ไม่เผ็ดมากนัก จะรับประทานได้ค่อนข้างเยอะ และก็จะรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานมากควบคู่กันไป ที่สำคัญก็เน้นออกกำลังกายเป็นประจำทุกเช้า

      ชีวิตประจำวันของผม คือตื่นตอน 6 โมงเช้า จากนั้นก็จะออกกำลังกายอยู่บนเตียงด้วยการยกขาซิตอัพ ตามด้วยการนวดบริหารตามแขนและขาด้วยตัวเองประมาณ 10-15 นาที เพื่อป้องกันกระดูกทับเส้น จากนั้นก็จะลุกออกไปนวดฝ่าเท้าบนพื้นหญ้าด้วยการเดินถอดรองเท้าประมาณ 20 นาที จากนั้นก็จะสลับมาเดินเร็วและช้าสลับกันอีกประมาณ 30 นาที ซึ่งผมมองว่าเป็นการออกกำลังที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเข้าฟิตเนสแต่อย่างใด

      ไล่มาถึงอาหารเช้าที่ผมรับประทานสม่ำเสมอคือ ขนมปังไม่เกิน 2 แผ่น ซุปไข่ 2 ฟอง และกาแฟดำ 1 แก้ว พอตกสายหน่อยสักประมาณ 10 โมงเช้า ก็จะงีบหลับประมาณ 30 นาที และตื่นมาตอน 11 โมงเช้า เพื่อดูข่าวบ้าง หรือบางทีก็อ่านหนังสือกฎหมาย เช็กไลน์ ส่วนอาหารมื้อเที่ยงล่าสุดที่เพิ่งรับประทานไปคือ กล้วยปิ้ง 4 ผล ซึ่งคนโบราณก็นิยมรับประทานกล้วยปิ้งที่ไม่ชุบเกลือ แต่มันจะหวานอร่อยตามธรรมชาติของกล้วย ตามด้วยผลไม้อย่างมะม่วงน้ำดอกไม้ 1 ลูก และจิบกาแฟตบท้าย ส่วนมื้อเย็นก็จะรับประทานแบบเบาๆ ไม่เต็มที่ เช่น กินต้มจืดวุ้นเส้นหมูสับอย่างเดียว โดยไม่รับประทานคู่กับข้าวสวย กล่าวโดยสรุปแล้ว อาหารที่ผมเลือกรับประทานนั้นจะค่อนข้างครบ 5 หมู่ และมีผักผลไม้เป็นส่วนประกอบหลัก เนื้อสัตว์บ้างเล็กๆ น้อยๆ ครับ เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีน ที่สำคัญทุกๆ เช้าก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ไม่หนักจนเกินไปสำหรับคนวัยผมครับ

        อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ วัย 86 ปี บอกอีกว่า การดูแลเรื่องของ อารมณ์ ก็สำคัญเช่นกัน พร้อมกันนี้เจ้าตัวได้ยกตัวอย่างการที่ตัวเองน้อยใจภรรยา เนื่องจากถูกมองว่าพูดไม่เข้าหู และการที่ตัวเองโกรธกับภรรยานั้น เปรียบเสมือนกับการที่เราอยู่ใกล้กับพญามัจจุราชเข้าไปทุกที ดังนั้นจึงคิดบวกและปรับไลฟ์สไตล์ในการมองโลกใหม่ว่า การที่ภรรยาบ่นนั้นเป็นเพราะเขาหวังดี พร้อมกับเล่าประสบการณ์ในการเอาชนะโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งไว้เป็นแง่คิดในชีวิต สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวทั้งรุนแรงและไม่ร้ายแรง เพื่อนำไปใช้ดูแลรักษาตัว 

        สิ่งสำคัญที่สุดนั้นเราต้องไล่อารมณ์ที่ไม่ดีให้ออกจากตัวให้เร็วที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เราหน้าเหี่ยวเร็ว และทำให้พญามัจจุราชพาเราไปสู่โลกแห่งความตายได้เร็วขึ้น อย่างที่บอกไปว่า ผมเองก็เคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ตอนอายุ 70 ปี และต้องตัดชิ้นเนื้อที่เป็นเซลล์มะเร็งส่วนสำไล้ใหญ่ทิ้งไป จากนั้นมะเร็งลามไปยังตับ ตอนนั้นอายุ 72 ปี ทำให้ต้องตัดผ่าตับและให้คีโมควบคู่กันไปอีกรอบ แต่ช่วงแรกเซลล์มะเร็งก็ยังไม่ลดลง ซึ่งรักษาเป็นเวลาอยู่ถึง 7 ปีกว่า จนปัจจุบันหายสนิทแล้ว แต่ก็ต้องไปเช็กอาการป่วยทุกๆ 3 เดือนครับ

      เหตุผลที่ว่าทำไมมะเร็งจึงหายนั้น คือการที่ผมไม่โกรธ ตรงกันข้ามผมกลับรู้สึกปล่อยวาง และผมเชื่ออยู่เสมอว่า ทุกวันนี้หมอเก่ง ยาดี และเครื่องมือก็ทันสมัยกว่าแต่ก่อนมาก จึงทำให้ไม่กังวลมากนักขณะที่กำลังรักษาโรคร้าย ที่สำคัญระหว่างนั้น ผมก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่รักษา เช่น การที่เราไม่กินยาที่มะเร็งชอบ ในที่นี้ก็หมายถึงการงดอาหารมัน ของทอด ของหมักดอง และของปิ้ง-ย่าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวสามารถนำไปเป็นข้อคิดได้ครับ ไม่ใช่ว่าเมื่อป่วยโรคร้ายแล้วจะต้องเสียชีวิตในทันทีทันใดเสมอไป แต่เราต้องดูแลตัวเองควบคู่กันไปด้วยครับ

      อัพเดตเรื่องการทำงานของ อ.เจริญ ในวัย 86 ปี ที่งานนี้เจ้าตัวบอกยังทำงานอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็น ผู้ช่วยพรรคประชาธิปัตย์ โดย อ.เจริญบอกว่า ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการใช้ประสบการณ์ในการคลุกคลีกับชาวบ้าน และรู้จักกับเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่างๆ ในฐานะของผู้ประสานงาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านทางภาคเหนือ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ อย่างปัญหาราคาหอม กระเทียม หรือแม้แต่ราคาลำไยตกต่ำ เป็นต้น

      ข้อคิด คำคม จากอดีต ส.ส.มากประสบการณ์ วัย 86 ปี ที่คนรุ่นลูกหลานสามารถนำไปใช้ได้อย่างไม่สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพ และการทำงานช่วยเหลือคนโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ตลอดจนการทำจิตคิดบวกเพื่อเอาชนะมะเร็งร้าย...


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"