“ศุลกากร” เข้มส่งฟ้องอาญา-แพ่งทันที ไม่มียอมความ ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ลุยมาตรการเร่งด่วนห้ามและลดการนำเข้าขยะ
4 ก.ค. 62- นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีมาตรการห้ามและลดการนำเข้าเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวัน 11 มิ.ย. 2562 ซึ่งมีมติเห็นชอบมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วเข้ามาในประเทศ
โดยก่อนหน้านี้ผู้นำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนการนำเข้า แต่ที่ผ่านมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ทำให้เหลือผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าเพียง 1 ราย เท่านั้น
“ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีการลดโควตาการนำเข้าของเศษพลาสติกจากหลายแสนตัน เหลือเพียง 7 หมื่นตันเท่านั้น จากข้อมูลสถิติการนำเข้าของขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการนำเข้า เศษพลาสติก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ของประเทศไทย พบว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลงในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีการควบคุมการนำเข้าอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ” นายกฤษฎา กล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่าความต้องการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศยังคงมีอยู่ และอาจมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ และมีแนวโน้มในการนำเข้าโดยไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กรมศุลกากรจึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1. กรมศุลกากรได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ดำเนินการติดตาม กำหนดเป้าหมายต้องสงสัยที่จะกระทำความผิดทางศุลกากร และเข้าตรวจสอบเพื่อติดตามและขยายผลอย่างต่อเนื่อง
2. สั่งการให้ กอง สำนักงาน และด่านศุลกากรทุกแห่ง เข้มงวดในการตรวจสอบประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก หรือของที่มีการสำแดงพิกัด หรือมีรูปลักษณ์ ใกล้เคียงกับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อป้องกันการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงทางศุลกากร
3. กรณีที่ตรวจพบการกระทำความผิดทางศุลกากรที่เกี่ยวกับของประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กรมศุลกากรจะดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป โดยไม่เปรียบเทียบงดการฟ้องร้องในชั้นศุลกากร
"ที่ผ่านมามีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก พอถูกกรมศุลกากรจับได้ ก็ยอมเสียค่าปรับโดนยึดของกลางก็จบกันไป แต่ตอนนี้กรมศุลกากรไม่ให้ยอมความในชั้นศุลกากรอีกแล้ว จะส่งฟ้องดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาทันที" นายกฤษฎา กล่าว
อย่างไรก็ดี ในช่วงปีงบประมาณ 2561-2562 กรมศุลกากรสามารถจับกุมคดีลักลอบและหลีกเลี่ยงนำเข้าเศษพลาสติกได้ทั้งสิ้น 103 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 17.5 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 4,043 ตัน) โดยในปีงบประมาณ 2561 จับกุมได้ถึง 86 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 14.5 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 3,664 ตัน) และในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.2561 –พ.ค.2562) สามารถจับกุมได้แล้วถึง 17 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3 ล้านบาท (น้ำหนักรวม 379 ตัน)