ยุทธศาสตร์ 'แท็กทีม' ชิงผู้ว่าฯ กทม. 'พท.-อนค.' จับมือชน 'พปชร.-ปชป.'


เพิ่มเพื่อน    

        แม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วง “ใกล้คลอด” เต็มที สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้ผู้นำรัฐบาลคนเดิมอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ในรายละเอียดนั้น กล่าวได้ว่า “เค้กก้อนใหญ่” นั้น แบ่งกันลงตัวไปแล้ว ในแง่ของตำแหน่งต่างๆ แม้จะมีอาการงอแงของกลุ่ม “สามมิตร” ออกมา ซึ่ง "อุตตม สาวนายน" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็กล่าวถึงกรณีดังกล่าวแล้วว่า “เป็นเรื่องภายใน” ที่มีการโวยวายกัน แต่อาจจะเป็นการ ”โวยวาย” ที่เสียงดังไปซักหน่อย

        ขณะเดียวกัน หลายพรรคก็เริ่มเดินหน้าแคมเปญการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่าง "พรรคเพื่อไทย" มีการวางตัวผู้รับสมัครในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ไม่แคล้วว่าหวยน่าจะออกที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นักการเมืองที่มีภาพของความทันสมัย และเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ หรือกรณีของ “ชูชัย เลิศพงษ์อดิสร” ที่ถูกวางไว้เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จ.เชียงใหม่

        ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเองก็มีความเคลื่อนไหวของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ผู้อำนวยการ พปชร.ภาคใต้ที่ประกาศตัวแบบไม่กั๊กว่า “พร้อม” ที่จะลงชิงชัยในตำแหน่งนายก อบจ.จ.สงขลา เนื่องจาก 13 เขต ที่ พปชร.ชิงตำแหน่งจากเจ้าถิ่นอย่างประชาธิปัตย์มาได้นั้น ทั้ง 8 เขต พวกเขาเหมาไปเสีย 4 ส่วนอีก 4 เขตที่พลาดไป คะแนนก็ไม่ถือว่า ได้ลุ้น เลยทีเดียว เพราะพวกเขาได้อันดับ 2 ทั้งหมด

        ขณะที่น้องใหม่ไฟแรงอย่าง “พรรคอนาคตใหม่” เองก็ออกตัวแรงไม่น้อยหน้าใคร เมื่อมาพร้อม #อนาคตใหม่เขย่าท้องถิ่นไทย จากนั้นจึง “ประกาศวันรับผู้สมัครหรือทีมผู้สมัคร” ระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค.นี้ โดยจะให้ส่งใบสมัครมาที่ส่วนกลางของพรรคเท่านั้น จะไม่รับสมัครตามสาขาพรรคในจังหวัดต่างๆ ขณะเดียวกันได้มีการเปิดโครงการ Eastern Life Corridor (ELC) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางพรรคประกาศชัดว่า เป็นหนึ่งใน “พื้นที่ยุทธศาสตร์” เช่นกัน

        ด้านพรรคประชาธิปัตย์เองอาจจะมาอย่างราบเรียบ โดยเฉพาะในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของพรรคอย่าง “ภาคใต้” ที่ไม่ต้องมีการขยับอะไรมากมาย แต่ทุกคนก็รู้กันอยู่แล้วว่า “เจ้าถิ่น” ในแต่ละพื้นที่มีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร

        แต่พื้นที่ที่น่าจับตา “น่าจะ” มีความเข้มข้นมากที่สุดในการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย-ต.ค.นี้ คือเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร จากเดิมที่มีการชิงชัยเพียงแค่ “ประชาธิปัตย์” กับ “เพื่อไทย” เท่านั้น แต่ในครั้งนี้จะมีอีก 2 “พรรคขนาดใหญ่” อย่าง “พลังประชารัฐ” และ “อนาคตใหม่” มาร่วมแจมด้วย

        เสียงสะท้อนของคนกรุงจากการเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมานั้น เล่นเอาแชมป์เก่าอย่าง ปชป.ไปไม่เป็น เมื่อพวกเขา “สูญพันธุ์” ในการเลือกตั้งระดับชาติ แต่ยังเหลือเวที กทม.ให้ลุ้น ขณะที่ “พรรคเพื่อนร่วมอุดมการณ์” อย่างพลังประชารัฐ กลับเข้าวินเป็นที่ 1 ด้วยจำนวน 12 ที่นั่ง อนาคตใหม่ 10 ที่นั่ง และเพื่อไทย 8 ที่นั่ง แต่ในรายละเอียดนั้น พรรคอนาคตใหม่กลับได้คะแนนดิบมากที่สุดกว่า 800,000 คะแนน ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ และเพื่อไทย ก่อนจะเป็นประชาธิปัตย์ตามลำดับ  

        หากวัดจากคะแนนเสียงครั้งล่าสุดแล้ว กระแสข่าวการ “แท็กทีม” ระหว่างขั้วเพื่อตั้งทีมชิงชัยตำแหน่งผู้ว่า กทม. จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ระหว่าง “เพื่อไทย-อนาคตใหม่” กับ “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” เพราะหมากเกมนี้ หากวางยุทธศาสตร์เพลี่ยงพล้ำแล้ว “แชมป์เก่า” อย่างประชาธิปัตย์นั้นอาจจะสูญพันธุ์อย่างสมบูรณ์แบบทั้งสนามใหญ่-เล็ก

        อย่างไรก็ตาม การแท็กทีมระหว่าง “พปชร.-ปชป.” ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะทั้ง 2 ค่ายนั้นก็ “ผสมพันธุ์” กันมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งอยู่แล้ว ภายหลังจากการโดนเด้งกลางอากาศของ “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดนเด้งด้วยคำสั่ง คสช. คนที่ไปแทนที่ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล คือ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” อดีตรองผู้ว่าฯ ยุค “ชายหมู” นั่นเอง

        นอกจากนี้ บุคลากรคนอื่นที่เปลี่ยนหน้าไปมา ก็วนเวียนกันอยู่ อย่าง รองผู้ว่าฯ สกลธี ภัททิยกุล ที่หลังๆ มักจะโพสต์เฟซบุ๊กโจมตีพรรคอนาคตใหม่อยู่เนืองๆ นั่นก็เด็กเก่าจากค่าย “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” หรือรองผู้ว่าฯ อีกท่านอย่าง เกรียงยศ สุดลาภา นั่นก็เคยเป็น ส.ส.ปชป.เช่นเดียวกัน นี่ยังไม่นับรวมบรรดาทีมโฆษกที่เคยอยู่ อย่าง ตรีดาว อภัยวงษ์ หรือ ณัฐนนท์ กัลยาณศิริ บุตรชายของ วิรัตน์ กัลยาณศิริ ตามการ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” ยังไม่นับรวมบรรดาที่ปรึกษา รองผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ อีกหลายคน

        ทางด้านฟาก แดง-ส้ม นอกจาก ชัชชาติ แล้ว อีกชื่อที่ปรากฏมาตอนหลังว่า “มีสิทธิ์” ที่จะลงชิงชัยผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคอนาคตใหม่ คือ “ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล” พิธีกรคนดังของช่อง voice tv ที่ชิมลางสนามเล็กมาแล้ว เมื่อปี 2552

        อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาดคือ ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ที่ให้ข่าวยึกยักไปมา เดี๋ยวก็จะไม่ลงสมัคร เดี๋ยวก็ใบ้ว่าอาจจะลงแบบวันแมนโชว์ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วยุทธศาสตร์แต่ละพรรคนั้นจะเป็นอย่างไร แต่คงไม่มีพรรคไหนกล้าเสี่ยง เมื่อขั้วตรงข้ามประกาศว่าจะ “แท็กทีม” อีกฝั่งก็คงต้องใช้วิธีเดียวกัน ไม่เช่นนั้นโอกาสชนะนั้น เรียกได้ว่า ”เป็นไปไม่ได้เลย”

       ที่แน่นอนที่สุด การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งครั้งหนึ่งที่มีความเข้มข้นและสูสีที่สุดเท่าที่เคยมีมา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"