ประเดิมสัมมนา ส.ว. อดีต กรธ.ระบุออกแบบให้ ส.ว.ทำหน้าที่สภาพลเมือง คัดค้านตรวจสอบฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง "วิษณุ" อ้าง ม.114 ส.ว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงเท่าเทียม ส.ส.ทุกประการ เปรียบลงเรือแป๊ะลำเดียวกันอยู่ในสภาพปริ่มน้ำ ถ้าเรือล่มก็เดือดร้อนทั้งประเทศ "คำนูณ" ยกเหตุ "จ่านิว" ปลุก ส.ว.หาทางยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้งลงสู่ท้องถนน
ที่หอประชุมบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 2 กรกฎาคม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดโครงการสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประจำปี 2562 โดยนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อภิปรายเรื่อง ความสำคัญของการกลั่นกรองกฎหมายของ ส.ว. ว่า ส.ว.ชุดนี้เกิดมาจากปัญหาการเมืองขาดการตรวจสอบ ดังนั้นวุฒิสภาต้องมีที่มาที่แตกต่าง ตนไม่ได้บอกว่าพรรคการเมืองไม่ดี แต่พรรคย่อมบริหารโดยคำนึงถึงสมาชิกของพรรคเป็นหลัก ในขณะที่ ส.ว.ออกแบบมาเพื่อให้เป็นสภาพลเมือง สภาเติมเต็ม เป็นผู้ค้านพรรคการเมือง หากเห็นว่าอะไรไม่ดีก็ต้องท้วงถาม นี่คือประสงค์ของรัฐธรรมนูญ
นายอุดมกล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในหมวด 16 ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ถ้ารัฐบาลหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตาม กฎหมายจริงจังถึงขั้นให้ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ การปฏิรูปประเทศอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยกระดับให้ความสำคัญถึงขั้นกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และยกให้เป็นหน้าที่ของ ส.ว.ในการตรวจสอบรัฐบาลว่าคืบหน้าอย่างไร พร้อมกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานให้ทราบทุก 3 เดือน
“ส.ว.ต้องทำหน้าที่ตามมาตรา 270 ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 7 ด้านการปฏิรูป ทั้งนี้ เรื่องการปฏิรูปไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่ทำมาตั้งแต่สภาปฏิรูปประเทศแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ บทเรียนของการปฏิรูปประเทศบอกเลยว่าจะรอแต่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ดึงไปทางนั้นทีทางนี้ทีไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายชัดเจน ส.ว.ต้องทำให้สิ่งที่ รธน.กำหนด เกิดมรรคเกิดผล” อดีต กรธ.กล่าว
นายอุดมกล่าวอีกว่า วุฒิสภาดูเหมือนว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ขอเรียนว่าเป็นความปรารถนาของรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดความเชื่อมต่อ ดังนั้นส.ว.จึงมีบทบาทนำสู่การเมืองที่ควรจะเป็น หากคิดว่าการกระทำใดจะทำให้เกิดปัญหา วุฒิสภาควรให้ข้อแนะนำ ตรวจสอบ และท้วงติงคนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยนำเอากฎเกณฑ์ หลักการวางกรอบให้เขา
จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสมาชิกวุฒิสภภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 กับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ” โดยนายวิษณุกล่าวตอนหนึ่งว่า สำหรับข้อครหาที่ระบุว่าส.ว.เป็น ส.ว.ลากตั้ง เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น เป็นหรือไม่เป็น ตนไม่รู้ แต่ทุกอย่างเป็นสิ่งสมมุติ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 สมมุติขึ้นมาว่าทั้งส.ส. และ ส.ว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นอานุภาพจากมาตราดังกล่าว เท่ากับว่า ส.ส.และ ส.ว.มาจากมาตราเดียวกัน ดังนั้น จึงเท่าเทียม ทัดเทียมกันทุกประการ ใครจะสมมุติอะไรก็แล้วแต่จะพูด แต่ขอให้ทราบไว้ว่ามาจากมาตราเดียวกัน ดังนั้นวุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อย่างหน้าที่การกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จะคิดว่าผ่านการพิจารณา ส.ส.มาแล้ว ส.ว.ไม่ต้องพิถีพิถันในการพิจารณาคงไม่ได้ เช่นเดียวกันกับ ส.ส. จะบอกว่าปล่อยไปให้ ส.ว.ทำอย่างเดียวก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะกฎหมายไปถึงใคร ก็เหมือนฟุตบอล ไปถึงเท้าต้องทำให้ดีที่สุด เพราะวันข้างหน้าไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น
“เราทั้งหลายร่วมชะตากรรมเดียวกัน เหมือนลงเรือลำเดียวกัน วันนี้เรือแป๊ะจอดเทียบท่าที่คลองผดุงกรุงเกษม เปลี่ยนเรือเป็นเรือลำใหม่ แป๊ะอาจจะคนเดิม แต่ลูกเรือใหม่ ผู้โดยสารก็ใหม่ ผมเปรียบไม่ได้ว่าครั้งนี้เป็นเรืออะไร แต่ก็เป็นเรืออยู่ดี แต่เรือลำนี้อาจจะไปยากลำบาก เพราะไม่มีใครตามใจแป๊ะอีกแล้ว ตรงกันข้ามแป๊ะอาจต้องตามใจลูกเรือ และเรือต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งเรือลอยในน้ำ สำนวนไทยมีคำเปรียบเทียบว่าปริ่มน้ำ แปลว่าร่อแร่ เวลานี้สภาพอาจเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ปริ่มน้ำไม่อันตราย กลับช่วยให้ระมัดระวังขึ้นอีกเยอะ ดีกว่ารู้สึกปลอดภัยแล้วประมาท"
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ทุกคนที่อยู่ในเรือ ไม่ว่ากัปตัน ลูกเรือ หรือผู้โดยสาร ก็ต้องร่วมมือร่วมใจช่วยกันวิดน้ำออกจากเรือ ขณะเดียวกันถ้าไม่อยากวิดน้ำ วิดไม่เป็น หรือไม่สะดวก ก็ขออย่างเดียว เมื่อมือไม่พายก็อย่าเอาเท้าราน้ำ ปล่อยให้คนที่เขามีแรงได้พายไป ขอให้นั่งนิ่งๆ แล้วสวดมนต์ก็ยังดี เพราะถ้าเรือล่มก็ล่มทั้งลำ แล้วจะเดือดร้อนกันทั้งประเทศ ผมไม่รู้ว่าส.ว.จัดอยู่ในประเภทลูกเรือหรือผู้โดยสาร แต่ถ้าเรือล่มท่านก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับคนทั้งหลาย จึงขอให้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. มีสมาชิกท่านหนึ่งเสนอหารือในที่ประชุมวุฒิสภาประเด็นการทำร้าย 'จ่านิว' นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมอภิปรายแสดงความเห็นโดยสังเขปพอสรุปได้ดังนี้ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองทุกรูปแบบ ไม่ว่าผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำจะเป็นใคร ฝ่ายไหน เพราะการคิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม การใช้ความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะสิ่งที่จะได้กลับมาคือความรุนแรง ซึ่งอาจเปรียบเสมือนลูกตุ้มนาฬิกา ที่เมื่อเหวี่ยงไปสุดขั้วด้านหนึ่งแล้วก็จะตกลงมาเหวี่ยงกลับไปอีกสุดขั้วหนึ่งเสมอ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเช่นกันกับการใช้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายตน เพราะจะยิ่งเป็นการขยายความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น และไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติโดยรวม แน่นอนที่สุดว่าการแก้ปัญหาเบื้องต้นคือฝ่ายบริหารจะต้องเร่งรัดคลี่คลายคดีโดยเร็ว
นายคำนูณระบุว่า วุฒิสภาจะมีส่วนในการหยุดยั้งแนวโน้มความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างไร? ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยรอบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมายาวนานมากกว่า 10 ปี ณ วันนี้ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ แล้วยังขยายตัวใหญ่ขึ้นในอีกมิติหนึ่ง ยังเพิ่มมิติเป็นความเห็นแตกต่างระหว่างคน 2 รุ่น สภาวการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาเกือบ 50 ปีแล้ว ในบริบทเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจนเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีบทบาทเปลี่ยนภูมิศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในเชิงช่วยโหมกระพือความขัดแย้งให้กว้างและแรงขึ้น
เขาบอกว่า นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า วันนี้เราอยู่ในโลกทางเมืองซ้อนกันอยู่ 3 โลกคือ โลกของสภา โลกของโซเชียลมีเดีย และโลกบนท้องถนน ขณะนี้ความขัดแย้งและความไม่แน่นอนปรากฏชัดเจนในโลกของสภา โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรที่จำนวนเสียงของทั้ง 2 ขั้วใกล้เคียงกันมาก ขณะที่ในโลกของโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยการใช้ประทุษวาจาระหว่างกลุ่มความคิดสุดขั้วทั้ง 2 ด้าน แม้จะยังไม่มีแนวโน้มว่าความขัดแย้งในทั้ง 2 โลกจะเคลื่อนลงไปสู่โลกบนท้องถนนในเร็ววัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีแนวโน้มในระยะต่อไป เชื่อว่าประเด็นที่พูดมานี้อยู่ในใจของเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาแทบทุกคน เป็นใจที่หนักอึ้ง คำถามคือบทบาทของวุฒิสภาจะมีส่วนร่วมในการเป็นกลไกช่วยเบรก ช่วยยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้งเคลื่อนกลับลงไปสู่ท้องถนนอีกครั้งได้อย่างไร
"บทบาทของวุฒิสภาในมิติหนึ่งคือ เป็นเวทีแห่งการประนอมอำนาจ! ภายใต้ข้อจำกัด วุฒิสภาจะมีกลไกอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ ทั้งในฐานะวุฒิสภาและในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐสภา ที่จะเริ่มต้นบทบาทของการประนอมอำนาจขึ้น? ยังไม่ตกผลึกเพียงพอที่จะมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม" นายคำนูณระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |