เอกสารที่สำคัญชุดหนึ่งจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นโดยมีไทยเป็นเจ้าภาพ คือ Asean Outlook on the Indo-Pacific ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดต่อสถานการณ์ในย่านอินโด-แปซิฟิก
ที่น่าสนใจคือ นอกจากอาเซียนจะคิดอย่างไรกับความเป็นไปในย่านนี้แล้ว ยังมีบทวิเคราะห์ที่สะท้อนว่าจีนมองความเคลื่อนไหวของอาณาบริเวณนี้อย่างไรด้วย
นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในเรื่องการส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียน ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในฐานะประธานที่ประชุมกับนักข่าวว่า
ที่ประชุมเห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียน ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยอาเซียนได้ใช้เวลาหารือและจัดทำเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (Asean Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการมีท่าทีร่วมกันของอาเซียน
ความจริงไทยเคยเสนอให้อาเซียนมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ฟิลิปปินส์เมื่อปลายปี พ.ศ.2560
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ปรากฏว่าประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ด้วยการเสนอร่างของ Outlook ฉบับนี้ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงจนเป็นเอกสารที่ยอมรับในที่ประชุม
สาระสำคัญคือ อาเซียนได้ตกลงกันว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการที่เป็นที่ยอมรับ อาทิ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ รวมทั้งหลักการที่บรรจุอยู่ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC)
ทั้งนี้ เพราะอาเซียนเห็นว่าความร่วมมือในกรอบอินโด-แปซิฟิกจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นแกนกลางของอาเซียน ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เกื้อกูลกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในภูมิภาคและอนุภูมิภาค และสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเห็นพ้องกับไทยที่จะผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) แล้วเสร็จในปีนี้
หากทำเช่นนั้นได้ก็จะช่วยให้อาเซียนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน
ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ จุดยืนของจีนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่ว่านี้
จากเอกสารที่ได้อ่านพบว่านักวิชาการจีนมองประเด็นนี้ในทำนองว่า เดิมทีนั้นอเมริกากำหนดยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกขึ้นมาเพื่อรับมือกับการเติบใหญ่ของจีน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปักกิ่งมองว่าวอชิงตันมีเป้าหมายที่จะ "ปิดล้อม" หรือ contain จีน
นักวิเคราะห์ฝ่ายจีนมองว่า แนวทางนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้สามขั้น ได้แก่
1.ผลขั้นต้นคือ Strategic Regrouping หรือการจัดกลุ่มใหม่ทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค
2.ตามมาด้วย Strategic Realigning หรือการจัดการความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้
3.ซึ่งก็จะนำไปสู่ Strategic Redirecting อันหมายถึงการกำหนดทิศทางใหม่ทางยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าถึงวันนี้สหรัฐฯ ได้ดำเนินการในขั้นแรก ด้วยการจัดกลุ่มประเทศทางยุทธศาสตร์คือ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย
จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นสองคือสร้างการผูกมิตรใหม่
จีนเชื่อว่า ณ วันนี้มีเพียงสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีความคึกคักในเรื่องนี้
จีนเองก็ปรับท่าทีของตนเพื่อสร้างสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับญี่ปุ่น, อินเดีย และออสเตรเลียเช่นกัน สังเกตได้จากที่เมื่อเร็วๆ นี้ สี จิ้นผิง ได้เชิญนายกรัฐมนตรีอินเดีย นรินธรา โมดี ไปเยือนจีนเพื่อกระชับความสัมพันธ์จีนกับอินเดียให้ดีขึ้น
อีกด้านหนึ่งปักกิ่งก็กำลังปรับปรุงความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น
เป็นการสกัดไม่ให้ญี่ปุ่นแนบแน่นกับสหรัฐฯ มากไปกว่านี้ เพราะเห็นสัญญาณว่าผู้นำญี่ปุ่นอย่างชินโซ อาเบะ ก็เริ่มจะมีความกังวลใจต่อทิศทางของทรัมป์ในหลายเรื่อง
อีกด้านหนึ่งจีนก็ไปพยายามประกบออสเตรเลียด้วยการเน้นความสัมพันธ์ทางการค้ามากขึ้น
สรุปว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ เห็นว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการกำหนดโครงสร้างความมั่นคงของภูมิภาคนี้ในอนาคต
ไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจเท่านั้น แต่ยังโยงใยถึงประเด็นความมั่นคงร่วมกันทั่วภูมิภาค
จีนมองว่าสหรัฐฯ ใช้นโยบายนี้มาสกัดการเติบใหญ่ของจีน
สหรัฐฯ มองว่าจะต้องใช้แนวทางนี้เพื่อคงไว้ซึ่งอิทธิพลของตนในย่านนี้โดยไม่ให้จีนมาทดแทนตน
ไทยและอาเซียนจะเดินเกมอย่างไรจึงจะรักษาความเป็นกลุ่มก้อนที่มีอำนาจต่อรองกับสองประเทศยักษ์นี้ จึงเป็นคำถามใหญ่ที่จะต้องถกแถลงและหาคำตอบให้ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |