คลังจ่อชง “ภาษีลาภลอย” ให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบ หลังสรุปรับฟังความเห็นเรียบร้อย ยืนยันกฎหมายดี ช่วยให้เกิดการกระจายการใช้ประโยชน์ของที่ดิน อุ้มรัฐเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ลุ้นมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ หรือช้าปีหน้า
28 ก.พ.2561 นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. ได้สรุปการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... หรือ ภาษีลาภลอย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดีทำให้เกิดการกระจายการใช้ประโยชน์ของที่ดินและทำให้รัฐเก็บรายได้ได้เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้หรือปีหน้า
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายยังเหมือนเดิม กำหนดเพดานอัตราภาษีที่จะเก็บไม่เกิน 5% โดยอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกาอีกครั้ง ผู้เสียภาษี คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เจ้าของห้องชุด ที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สนามบิน ท่าเรือ โครงการทางด่วนพิเศษ เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีใน 2 กรณี คือ กรณีแรกการจัดเก็บในระหว่างการดำเนินโครงการฯ จะจัดเก็บจากการขายหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนดไว้ไม่ใน 5 กม. ในส่วนกรณีที่ 2 การจัดเก็บเมื่อการดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บจากที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50ล้านบาท (ยกเว้นใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม) และเก็บจากห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ เพียงครั้งเดียว
อย่างไรก็ตาม สศค. ได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดกฎหมายบางส่วน เช่น การนำส่งเงินภาษี จากเดิมนำส่งเงินภาษีเข้ากองทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ให้ส่งเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน
นอกจากนี้ ยังกำหนดโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่จะต้องจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและห้องชุดที่อยู่รอบโครงการ ให้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น โดยให้รวมถึงโครงการ ที่ทำสัญญาก่อนและยังพัฒนาโครงการ ไม่แล้วเสร็จในวันที่ร่างพ.ร.บ. มีผลบังคับใช้
ขณะเดียวกันยังเพิ่มบทลงโทษ ในกรณีผู้เสียภาษีมิได้ชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือนภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือน อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |