ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม หวังฟื้นฟูมารยาทไทยๆ ให้กลับมา
เมื่อต้องพบเจอกับคนไม่มีมารยาทในชีวิตประจำวัน หรือประสบพบเห็นเด็กวัยรุ่นพูดจาเสียงดัง หยาบคาย หรือมนุษย์ป้า มนุษย์ลุง อ้างความอาวุโส แหกกฎเกณฑ์บนโลกใบนี้เพื่อให้ตัวเองสะดวกสบาย ทั้งแซงคิวขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์ หรือเดินปรี่เข้าห้องน้ำทั้งๆ ที่มีคนยืนต่อคิวยาว ไม่รวมคลิปมนุษย์ป้าด่าทอเกรี้ยวกราดใส่คนอื่นเมื่อไม่พอใจที่ว่อนโซเชียล หลายคนอาจรังเกียจ หลายคนเกิดอาการหงุดหงิดจากพฤติกรรมที่ไม่น่ารักแบบนั้น บ้างก็คิดว่ามารยาทที่พึงปฏิบัติในสังคมไทย ยิ้ม มีน้ำใจ และการปฏิบัติที่คำนึงถึงมารยาทต่อผู้อื่นมันเลือนหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่
ปรากฏการณ์ไร้มารยาท แล้งน้ำใจในสังคมไทยยุคนี้ ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่หลายหน่วยงานต้องร่วมด้วยช่วยกันหาทางเยียวยาไปพร้อมๆ กับฟื้นฟูมารยาทสังคมไทยที่เราเคยยึดถือมานาน เพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่ เอกลักษณ์นิสัยประจำชาติ ยิ้มง่าย มีน้ำใจของคนไทยไม่เลือนหายไป เพราะมารยาทความเป็นไทยไม่ได้มีเพียงแค่ไหว้สวัสดีเท่านั้น แต่รวมถึงกิริยาท่าทาง พฤติกรรมทุกอย่างที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
เหตุนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิฮั่วเคี้ยว ป่อเต๊กเซี่ยงตึ๊ง, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) จัดโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและความเป็นไทย “ไทยดี มีมารยาท” เพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม ปลุกสำนึกรักความเป็นไทยผ่าน 3 กิจกรรม ได้แก่ การประกวดหนังสั้นระดับเยาวชน ชิงเงินรางวัลกว่า 3 แสนบาท กิจกรรมทอล์กโชว์โดยนักพูดชั้นนำ ในแนวคิด ไทยดี มีมารยาท ผลิตและเผยแพร่มินิซีรีส์ไทยดี มีมารยาท โดยเป็นการจัดโครงการสานต่อหลัง 4 หน่วยงานได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานด้านมารยาทไทย แนวปฏิบัติในสังคมไทย และภาษาไทย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและความเป็นไทย “ไทยดี มีมารยาท” นี้ สวธ. พร้อมหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดขึ้นเพราะตระหนักถึงสภาวการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยได้รับผลกระทบจากการอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ส่งผลให้ค่านิยมและความเป็นไทยที่ดีงามเกิดการเบี่ยงเบน เพื่อให้สังคมไทยมีการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม เสริมสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ และรักษาอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ และมีส่วนร่วมในการผลิตและนำเสนอเรื่องราวรณรงค์ค่านิยมที่พึงประสงค์ผ่านสื่อในรูปแบบภาพยนตร์สั้น เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมเห็นคุณค่าและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงามของไทย
คนทำสื่อร่วมสร้างกิจกรรมกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่รักษาวัฒนธรรมไทย ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สมัยนี้คนหรือเด็กรุ่นใหม่กล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น แต่ความกล้าแสดงออกนี้บางครั้งก็คาบเกี่ยวกับคำว่า "มารยาท" ฉะนั้นต้องรู้จักวางพฤติกรรมให้เหมาะสม เช่น เวลาอยู่ที่บ้านหรืออยู่กับเพื่อนอาจจะเป็นคนสนุกสนานเฮฮา เป็นตัวของตัวเอง แต่เมื่อเข้าสู่สังคมการทำงาน สังคมที่มีผู้ใหญ่ ต้องเปลี่ยนแปลงวางตัวให้เป็นผู้มีมารยาทขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการสื่อสารบบโลกอินเทอร์เน็ต การแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้ เราต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจกับการใช้คำพูดหรือการแสดงความเห็นด้วย
"ความโดดเด่นของโครงการนี้จะเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้และเข้าใจกับคำว่า "มารยาท" มากขึ้น โดยเลือกใช้กิจกรรมการประกวดภาพยนตร์สั้น สื่อสารเรื่องราวมารยาทอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เยาวชนได้ฝึกตีโจทย์มารยาทที่ดีในมุมมองของวัยรุ่นแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เยาวชนที่สนใจสามารถส่งคลิปเข้าประกวด คุณสมบัติ อายุไม่เกิน 25 ปี กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาหรือเตรียมอุดมศึกษา สามารถส่งผลงานเข้าประกวดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จะส่งผลงานเป็นทีมหรือผลงานเดี่ยวก็ได้ เพียงสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อรณรงค์ส่งเสริมมารยาทไทยในความยาว 3-5 นาทีที่กระแทกใจ" ผู้บริหารโมโนฯ กล่าว
นอกจากชวนทำคลิปมารยาท ในโครงการนี้ยังเพิ่มสีสันการเรียนรู้มารยาทไทยด้วยกิจกรรม Workshop ส่งเสริมความเป็นไทย โดยจะจัดขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดกิจกรรมทอล์กโชว์โดยนักพูดชั้นนำ ในแนวคิด “ไทยดี มีมารยาท” ตามโรงภาพยนตร์ใน 5 ภูมิภาค ทั้งกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี, สงขลาและอุบลราชธานี ตลอดกิจกรรมผลิตและเผยแพร่มินิซีรีส์ “ไทยดี มีมารยาท” เช่น มารยาทในโรงหนัง, การใช้ลิฟต์ การอยู่ร่วมกัน การใช้รถใช้ถนน การเข้าคิว เป็นต้น ซึ่งจะออกอากาศทางช่อง MONO29 ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2562
น้องนาย-ณภัทร เสียงสมบุญ ดาราหนุ่มแสนสุภาพ นำทีมปลุกสำนึกมารยาทไทย
"วัยเด็กผมได้รับการปลูกฝังเรื่องมารยาทเพราะคุณแม่ให้ความสำคัญมาก ก็จดจำและนำมาปฏิบัติในชีวิตและการทำงานจนทุกวันนี้ เชื่อว่าทุกคนเคยผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจเรื่องมารยาท แต่ขึ้นอยู่กับเจตนาและสำนึกว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ เป็นการเรียนรู้เมื่อเติบโตขึ้น ผมเองจากที่ขับรถเร็วเวลาเร่งรีบ ก็เปลี่ยนพฤติกรรมให้ดี ภูมิใจที่ได้ร่วมโครงการ "ไทยดี มีมารยาท" เป็นสิ่งที่ดี เพราะมารยาทอยู่ในวัฒนธรรมไทย" นาย-ณภัทร เสียงสมบุญ ดาราหนุ่มขวัญใจสาวๆ ลูกชายสุดเลิฟของแม่หมู-พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ นำทีมปลุกสำนึกมารยาทไทย
นาย ณภัทร เล่าสิ่งที่พบเห็นในฐานะศิลปินหนุ่มต้นแบบมารยาทดีว่า ตนเรียนนานาชาติ มีเพื่อนต่างชาติไม่เข้าใจและถามอยู่เสมอว่า เวลาเราเดินผ่านผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุทำไมเราต้องก้มหัวทุกครั้ง หรือเมื่อได้รับของทำไมจะต้องยกมือไหว้ขอบคุณ เด็กรุ่นใหม่อาจหลงลืมไป โครงการนี้จะกระตุ้นให้เยาวชนและคนต่างชาติได้รับรู้มารยาทไทย ตนเชื่อว่าคนที่ความอ่อนน้อมถ่อมตน มีมารยาท ไม่ว่าไปที่ไหนก็ตาม ทำงานอะไรก็ตาม จะเป็นที่ต้อนรับของทุกคนและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ อยากให้ช่วยบอกต่อและแชร์โครงการไทยดี มีมารยาท
ครูทอม คำไทย นักพูดและครูสอนภาษาไทยชื่อดัง เข้าร่วมโครงการ "ไทยดี มีมารยาท" โดยอาสาเป็นผู้นำกิจกรรมทอล์กโชว์ปลุกมารยาท ครูทอมบอกว่า การพูดคือสิ่งสำคัญที่บ่งบอกถึงมารยาท บ่งบอกถึงตัวตนภายในของเรา อย่างการทำภาพยนตร์ การสื่อสารนั้นสำคัญมาก เราต้องการจะสื่อสารแบบใดออกไปยังผู้ชมจึงจะเป็นประโยชน์และไม่ซ้ำใคร ดูแล้วประทับใจ
'ยืนพิงเสา' สิ่งที่ไม่ควรทำบนรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที ภาพจากเพจมนุษย์ป้า
เช่นเดียวกับ กตัญญู สว่างศรี พิธีกรและนักพูด กล่าวว่า เรื่องมารยาทนอกจากการพูดแล้ว แนวทางการปฏิบัติตนก็สำคัญ ตนจะร่วมกิจกรรมทอล์กโชว์ในต่างจังหวัด เตรียมแนะนำวิธีที่ทำให้ตนเองดูน่ารักขึ้นจากภายใน แสดงให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าความสุภาพน่ารักจากภายในช่วยให้เกิดประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม หากผู้ใหญ่เห็นบุคลิกที่เหมาะสมของเราก็จะจดจำ ทำให้โอกาสในชีวิตเพิ่มด้วยความน่ารัก การมีมารยาทคืออาวุธที่ทำให้เราเก่งขึ้น
จอดรถไร้มารยาท ปัญหาเรื้อรัง ต้องรักษาด้วยจิตสำนึก ภาพจากเพจมนุษย์ป้า
ผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน เผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องมารยาทไทย อะไรควร อะไรไม่ควร แถมชวนเยาวชนจัดทำคลิปส่งเข้าประกวดหัวข้อ ไทยดี มีมารยาท วัยโจ๋สนใจร่วมครีเอตสามารถดูรายละเอียด ดาวน์โหลดและส่งผลงานได้ที่ https://video.mthai.com/campaign/thai-d ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 ส.ค. และประกาศผลผู้เข้ารอบ 15 ทีมสุดท้าย วันที่ 9 กันยายน 2562 หน้าเว็บไซต์ www.mthai.com และติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ด้านวัฒนธรรมที่ www.facebook.com/DCP.culture.
ปัญหามารยาทบนรถโดยสารสาธารณะพบได้ประจำ ภาพจากเพจมนุษย์ป้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |