ครม. ไฟเขียวหลักการร่างกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ หวังช่วยยกระดับตลาดทุนไทยให้มีมาตรฐานเป็นสากล สั่งตั้งกองทุน CMDF แยกเป็นนิติบุคคล ทำงานอิสระ พร้อมจี้ ก.ล.ต. ส่งแผนพัฒนาตลาดทุนให้กระทรวงการคลังพิจารณาทุกปี
28 ก.พ.2561 - นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่..) พ.ศ... (ชุดยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล) เนื่องจากกฎหมายเดิมใช้มานานตั้งแต่ปี 2535 จึงไม่มีความยืดหยุ่น เพราะเรื่องการเงินมีการพัฒนาไปเร็วมาก มีผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่เพียงพอในการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน และไม่สอดคล้องการพัฒนาและรูปแบบการดำเนินธุรกิจในตลาดทุนด้วย
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่นั้น จะมีสาระสำคัญ 7 เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับปรุงนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วขั้นต่ำ เช่น การปรับปรุงบทนิยามเพื่อให้กฎหมายยืดหยุ่นและครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินและธุรกิจใหม่ ๆ 2. กำหนดให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีอำนาจในการสั่งให้จัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน 3. กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมมีหน้าที่จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์และรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน
4. การปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นมาตรฐานสากล 5. เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดทุน เช่นให้อำนาจคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) มีอำนาจเปิดให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ ตลท. สามารถซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนทุกประเภทในตลาดหลักทรัพย์ได้ เพื่อเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่น, กำหนดให้คณะกรรมการ ก.ต.ล. อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ปรับปรุงคุณภาพตลาดหลักทรัพย์ และยังสามารถประกาศให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์นำหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับมาจดทะเบียนซื้อขายใน ตลท. ของไทยได้
6. การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เป็นนิติบุคคล เป็นอิสระจาก ตลท. โดยกองทุนดังกล่าวมีบทบาทในการพัฒนาตลาดทุนโดยเฉพาะ และ 7. การเพิ่มประสิทธิภาพความชัดเจนและความโปร่งใสของ ก.ล.ต. โดยกำหนดให้ ก.ล.ต. ต้องเสนอแผนพัฒนาตลาดทุนให้กระทรวงการคลังพิจารณาทุกปี เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการเสนอแผนพัฒนาตลาดเงินให้กระทรวงการคลังพิจารณาทุกปีเช่นกัน