ฮือต้านต่อสัญญาทางด่วน หวั่นซํ้ารอยค่าโง่แสนล้าน


เพิ่มเพื่อน    

 สหภาพฯ กทพ.บุกทำเนียบฯ-คมนาคม ยื่นหนังสือถึง "บิ๊กตู่-อาคม" ขอให้ชะลอพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาเพื่อต่อสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด หวั่นซ้ำรอยค่าโง่แสนล้าน
    เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ สร.กทพ.  นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เรื่อง "ขอให้ชะลอการพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาเพื่อต่อสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด" ซึ่งหนังสือดังกล่าวลงนามโดยนายประสงค์ สีสุกใส รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ  รักษาการประธาน สร.กทพ. 
    ทั้งนี้ สร.กทพ.ได้เสนอขอให้ชะลอการพิจารณาและชะลอการนำเรื่องเข้า ครม.จนกว่า กทพ.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จครบถ้วน ถูกต้อง และขอให้รอผลการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการร่วมให้แล้วเสร็จอีกด้วย เนื่องจากมติคณะกรรมการ กทพ. ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2562 ยังไม่มีการรับรองมติ และปัจจุบันคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือบอร์ด กทพ.ยังมีการแก้ไขมติดังกล่าวอยู่ อีกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการขอตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานอย่างรอบคอบ ชัดเจน โปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 
    สำหรับประเด็นที่มีนัยสำคัญนั้น ได้แก่ 1.ที่มาของข้อมูลที่ใช้เป็นแนวทางในการเจรจาไม่มีความชัดเจน 2.ไม่สามารถอธิบายได้ว่าผลการเจรจาเป็นการบรรเทาความเสียหายของรัฐอย่างไร 3.การต่อระยะเวลาของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานครให้เอกชน 4.การให้สิทธิเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมในการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) และสิทธิการใช้พื้นที่ใต้เขตทาง บนเขตทาง และพื้นที่เชื่อมต่อโครงสร้างทางด่วน มีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไหร่ มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวแล้วหรือไม่ เป็นการเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายเดิมหรือไม่
    5.ร่างสัญญาสัมปทานดังกล่าวมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ได้มีการเร่งรีบนำเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่งใครเป็นผู้ร่างสัญญา การทางพิเศษฯ ได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดข้อพิพาทที่จะนำไปสู่การที่รัฐต้องเสียค่าโง่นับแสนล้านบาทดังเช่นปัจจุบัน 6.ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งเป็นตัวแปรที่จะแสดงผลให้เห็นเด่นชัดว่า การทางพิเศษฯ จะเสียหาย หรือได้ประโยชน์อย่างไร
    นอกจากนี้ ตั้งแต่คณะกรรมการการทางพิเศษฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ที่ให้การทางพิเศษฯ ต่อระยะเวลาของสัญญาสัมปทานออกไป 37 ปี สร.กทพ.ได้แจ้งประเด็นข้อมูลข้อเท็จ รวมถึงข้อสังเกต และแสดงความห่วงใย โดยการเรียกร้องให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 กับผู้ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวยังมิได้มีความชัดเจน ร่างสัญญาดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นไปตามมติคณะกรรมการการทางพิเศษฯ ครั้งที่ 6/2562  แต่การทางพิเศษฯ กลับเร่งรีบนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ทั้งที่คณะกรรมการการทางพิเศษฯ ยังไม่ได้พิจารณาร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแต่อย่างใด 
    นอกจากนี้ นายสาวิทย์ยังเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย 
    ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ โฆษกพรรคพลังธรรมใหม่ เป็นตัวแทน นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายจาตุรันต์กล่าวว่าอาจจะเกิดความไม่โปร่งใส และเพื่อไม่ให้รัฐต้องเสียผลประโยชน์ซึ่งควรเป็นรายได้ของแผ่นดิน จึงได้ยื่นญัตติด่วนเพื่อให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาศึกษาถึงผลดีและผลเสียของการอนุมัติให้ต่อสัญญา 
    แต่ขณะนี้ทราบว่า กทพ.ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอต่อ ครม.ให้พิจารณาในการประชุม ครม.วันที่ 2 ก.ค.นี้ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคมและ ครม.เพื่อชะลอการพิจารณาอนุมัติการต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวในการประชุม ครม.วันที่ 2 ก.ค.นี้ไว้ก่อน  เพื่อรอให้สภาฯ พิจารณาญัตติด่วนในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาศึกษาก่อน และรัฐบาลปัจจุบันกำลังจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่และจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เร็วๆ นี้ ดังนั้นควรรอให้รัฐบาลชุดใหม่ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติการต่อสัญญาสัมปทานแทนรัฐบาลชุดเดิม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยควรให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาพิจารณาให้เกิดความรอบคอบก่อนต่อสัญญา
    ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าอยากให้สังเกตท่าทีแต่ละพรรคต่อท่าทีที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่นั้นชัดเจน คือจำเป็นต้องตรวจสอบสัญญาก่อน โดยเราจะสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเพื่อให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะการตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ที่เป็นหัวหน้า คสช. 
    "ผมคาดว่าญัตตินี้ผ่านแน่นอนหากไม่มีการกลับลำ และเป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายค้านนั้นไม่ได้ค้านทุกเรื่อง แต่สนับสนุนให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตามความผิดปกติที่เราเห็นคือ มีการพยายามเลื่อนวาระนี้ออกไป โดยประธานสภาฯ ขอให้ผู้เสนอญัตติไปหารือกับวิปรัฐบาลก่อน ก่อนที่ผลออกมาจะให้เลื่อนญัตติดังกล่าวออกไป จึงขอให้สื่อมวลชนจับตาเรื่องนี้ให้ดีว่า เรื่องดังกล่าวจะผ่านตั้งแต่ ครม.ชุดนี้ในวันที่ 2 ก.ค.นี้เลยหรือไม่" นายสุรเชษฐ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"