Made in China 2025 กับ Thailand 4.0


เพิ่มเพื่อน    

 

       เมื่อวานผมเขียนถึงแนวทางของประเทศไทยที่จะรักษา “ดุลแห่งอำนาจ” ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐและจีนในภาวะที่เกิดความผันผวนแปรปรวนอย่างรุนแรงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเวทีสากลวันนี้

                นั่นย่อมหมายถึงการทำความเข้าใจกับทิศทางนโยบายของสองประเทศนี้อย่างลุ่มลึกและทันต่อสถานการณ์

                วันก่อนผมอ่านพบรายงานว่าด้วยการพบปะระหว่างไทยกับจีนเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ มีเนื้อหาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นของการให้มีการแลกเปลี่ยนถกแถลงถึงแนวทางของทั้งของไทยและจีน

                ขอนำมาเล่าต่อให้ฟังเพื่อช่วยกันวางทิศทางของการสร้างความเข้าใจระหว่างสองประเทศดังนี้

                การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๘ ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙ มิ.ย.๖๒ ที่เมืองเซี่ยะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

                ๑.การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๘ ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีนยุคใหม่ : โอกาสและวิสัยทัศน์ใหม่” (Chinese – Thai Strategic Cooperation for a New Era : New Opportunity and New Vision) เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๗ เมื่อปีที่ผ่านมา ในประเด็นหัวข้อ “ความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมยุคใหม่ : สู่การพัฒนาร่วมกัน” หรือ “The Belt and Road Initiative (BRI) and Thailand 4.0 : Towards Common Development” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๙-๑๓ ส.ค.๖๑ ณ ห้องประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทยเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี

                ๒.โดยหลักการของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-จีนนั้น มีพื้นฐานมาจากการที่ประเทศไทยและจีนได้พัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ระดับของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยมีความร่วมมือกันในมิติด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้านสังคมวัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

                ที่สำคัญกว่านั้น ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนยังได้นำไปสู่การทำคุณประโยชน์ต่อภูมิภาคร่วมกันอีกด้วย ภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งนำเสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เดินทางไปเยือนประเทศคาซัคสถานและประเทศอินโดนีเซียเมื่อช่วงปลายปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการเชื่อมโยงกัน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมทั้งกำหนดให้มีหลักการของการดำเนินงาน โดยร่วมกันปรึกษาหารือ ร่วมกันสร้างสรรค์ และร่วมกันแบ่งปัน

                จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของจีนในลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของยุทธศาสตร์ไทยภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยเฉพาะนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และการเชื่อมโยงภูมิภาค (Connectivity)

                ๓.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในมุมมองของฝ่ายไทย

                ๓.๑ ควรมีการศึกษาวิจัยร่วมกับฝ่ายจีนเกี่ยวกับกลไกการตัดสินใจเชิงนโยบายในมิติทางสังคม เช่น บทบาทของสำนักงานกิจการของชาวจีนโพ้นทะเลและเครือข่ายสมาคมชาวจีนโพ้นทะเล กลไกและบทบาทของคลังสมองความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างความร่วมมือทางสังคม ช่องทางเชื่อมโยงกันระหว่างประชาชนสู่ประชาชน และแนวทางการสร้างมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

                ๓.๒ ควรมีการติดต่อที่ใกล้ชิดระหว่างนักวิชาการไทยกับหน่วยงานคลังสมองของจีน ทำให้นักวิชาการไทยได้มีความร่วมมือและความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับจีนและความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (BRI) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกันระหว่างไทยและจีน

                ๓.๓ แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของจีน กับยุทธศาสตร์ประเทศไทย ๔.๐ ของไทย ทั้งสองประเทศควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ผ่านการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การแบ่งเทคโนโลยีด้านการศึกษาและนวัตกรรม บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกันและแบ่งปันอนาคตร่วมกันอย่างยั่งยืน

                ๓.๔ ควรยกระดับการดำเนินงานให้มีการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายจีนในรูปแบบการพัฒนาคลังสมองร่วมกัน โดยกำหนดประเด็นวิจัยที่จะเป็นประโยชน์และส่งเสริมการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทยกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน โดยฝ่ายไทยให้ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (วช.) และฝ่ายจีนให้ Chinese Academy of Social Science (CASS) เป็นจุดประสานงานร่วม (Focal Point)

                ๓.๕ ควรพิจารณาช่องทางความร่วมมือกับหน่วยงานคลังสมองของจีน เพื่อนำเสนอแนวความคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย นอกจากนี้ ควรมีการสนับสนุนให้หน่วยงานคลังสมองของจีนมาจัดตั้งสำนักงานในเขตพื้นที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย โดยประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน

                ข้อเสนอชุดนี้น่าจะนำไปสู่การสร้างให้คนไทยเกิดความเข้าใจใน “วิธีคิด” และ “แนวทางอนาคต” ของจีน เพื่อไทยจะได้นำมาปรับนโยบายของเราได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในเวทีสากลได้อย่างทันท่วงที

                แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การที่เราจะต้องตั้ง “คลังสมอง” ของไทยเองเพื่อวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของความสัมพันธ์สองประเทศอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับไทยมากที่สุด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"