กรอ.ร่วมเป็นเจ้าภาพถกสมาชิก197 ประเทศทั่วโลกปกป้องโอโซน


เพิ่มเพื่อน    

 

1 ก.ค. 2562 นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค. 2562 กรอ. จะเป็นเจ้าภาพร่วมประชุมเตรียมการรัฐภาคีพิธีสารมอนทรีออล ครั้งที่ 41 (The 41st of the Open-Ended Working Group of the Parties to the Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer: 41st OEWG) ที่ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ที่ประเทศสมาชิกภายใต้พิธีสารมอนทรีออล จำนวน 197 ประเทศทั่วโลกร่วมเจรจาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการหาแนวทางเพิ่มเติมที่จะปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน และสภาพภูมิอากาศโลก

“การประชุมดังกล่าวกำหนดให้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยประเทศที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมแต่ละครั้งจะหมุนเวียนกัน โดยครั้งนี้สำนักเลขาธิการโอโซนฯ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้เชิญกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปตามพันธกรณีภายใต้พิธีสารมอนทรีออลเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากประเทศสมาชิก องค์กรระหว่างประเทศ เช่น โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ธนาคารโลก ภาคเอกชนต่างๆ และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO)” นายทองชัย กล่าว

นายทองชัย กล่าวต่อว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเกิดจากการใช้สารเคมีที่เรียกว่าสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน หากชั้นบรรยากาศโอโซนถูกทำลายจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมาก เช่น ภูมิต้านทานต่ำลงทำให้เจ็บป่วยง่ายขึ้น โอกาสเป็นโรคมะเร็งผิวหนังและต้อกระจกเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ก็จะเป็นการทำลายสมดุลธรรมชาติของระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ส่งผลไปถึงผลผลิตทางการเกษตรน้อยลง ดังนั้นนานาประเทศจึงได้ร่วมมือกันลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ภายใต้พิธีสารมอนทรีออลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ทำให้ทั่วโลกสามารถลดการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้ถึง 99% ซึ่งส่งผลให้ชั้นโอโซนกำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูสภาพ และคาดว่าชั้นโอโซนจะกลับคืนสู่สภาพปกติเหมือนกับช่วงก่อนที่จะมีการใช้สารทำลายชั้นโอโซนได้ภายในสิ้นศตวรรษนี้ (พ.ศ. 2643)

สารที่เป็นตัวทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนมาก ได้แก่ สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC ) เคยถูกนำมาใช้เป็นสารทำความเย็นในระบบเครื่องปรับอากาศรถยนต์ ตู้เย็น ตู้แช่รุ่นเก่า และสารเฮลอนที่เคยถูกนำมาใช้เป็นสารดับเพลิง ทั่วโลกได้ยกเลิกการใช้สารทั้งสองประเภทแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ส่วนที่ทั่วโลกกำลังลดและเลิกการใช้ในปัจจุบันคือสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) ซึ่งมีศักยภาพในการทำลายชั้นโอโซนต่ำกว่าสารที่ได้เลิกใช้ไปแล้ว โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยมีกำหนดระยะเวลาที่ต้องใช้สารนี้ในภายปี พ.ศ. 2583 

นายทองชัย กล่าวว่า สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออล  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 กรอ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามพิธีสารมอนทรีออลได้ให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่องในการจัดทำโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนพหุภาคี เพื่อนำมาใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือในกระบวนการผลิตให้เลิกใช้สารเดิม และสามารถใช้กับสารทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงดำเนินมาตรการด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์ควบคู่กันไป ความสำเร็จล่าสุดคือการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศและผู้ผลิตโฟม ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้สาร HCFC เป็นจำนวนมากปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสารทดแทน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนทำให้การใช้สาร HCFC ของประเทศไทยลดลงอย่างมากและมีผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งการใช้สารทดแทนใหม่ประกอบกับการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้สามารถผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นออกสู่ตลาดอีกด้วย ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานของประเทศในภาพรวม แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าสาร HCFC อยู่บ้าง เพื่อมาใช้ในการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นที่ยังมีอายุการใช้งานอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่จะต้องเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศก่อนหมดอายุการใช้งาน ซึ่งสารเหล่านี้เป็นเพียง 1% ที่ยังคงมีการใช้อยู่เท่านั้น

ทั้งนี้ สารที่นำมาใช้ทดแทนสาร HCFCs บางประเภท เช่น สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน : เอซเอฟซี (Hydrofluorocarbons: HFCs) ถึงแม้ว่าเป็นสารที่ไม่ทำลายชั้นโอโซนแต่เป็นสารที่มีศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนสูง ส่งผลต่อปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก และสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการประชุมรัฐภาคีพิธีสารมอนทรีออลในการในปี พ.ศ. 2559 ณ กรุงคิกาลี จึงได้เห็นชอบให้มีการควบคุมการใช้สาร HFC ภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งความท้าทายของประเทศภาคีสมาชิก คือ การควบคุมการใช้ทั้งสาร HCFC และสาร HFC ในเวลาเดียวกัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2567 ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ไม่ทำลายชั้นโอโซน และมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ ดังนั้นประเทศภาคีจะต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การใช้สารทดแทนในระยะยาวเหล่านี้เป็นไปอย่างยั่งยืน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมโดยมี นายอภิจิณ โชติกเสถียร           รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ในวันที่ 1 ก.ค. 62  เวลา 09.30 น. โดยประเด็นประชุมที่สำคัญ คือการดำเนินการลดและเลิกใช้สาร HCFC ควบคู่ไปกับการลดการใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอนภายใต้พิธีสารมอนทรีออลฉบับปรับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี (Kigali Amendment) การเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนที่มีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ และมาตรฐานความปลอดภัยของสารทดแทนมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ รวมถึงการจัดสรรเงินกองทุนพหุภาคีเพื่อการดำเนินงานภายใต้พิธีสารมอนทรีออลระหว่างปี พ.ศ.2564 – 2566 เพื่อนำมาช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"