'ปิยบุตร'นำทีมสู้คดีซุกหุ้นสื่อ


เพิ่มเพื่อน    


    อนาคตใหม่ตั้งหลักเตรียมสู้คดี 21 ส.ส.โดนร้องถือหุ้นสื่อ "ปิยบุตร" นำทัพช่วยลูกพรรค อดีตรมว.ยุติธรรม "พีระพันธุ์" ชี้คดีหุ้นสื่อ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนือคำตัดสินศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง
    เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และอดีตอัยการ กล่าวถึงการเตรียมสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญของพรรคอนาคตใหม่ หลัง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้งของ 21 ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ว่า เรื่องดังกล่าวทางนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรครับผิดชอบในการเตรียมการไว้แล้ว แต่ในส่วนของคำร้องที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นส่วนตัวในฐานะนักกฎหมายก็มองว่านายธนาธรไม่ได้ทำอะไรผิด ทุกอย่างทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ทั้งนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา แต่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีการบัญญัติไว้ให้มีบัญชีผู้ถือหุ้น ซึ่งการโอนหุ้นหากมีการโอนโดยมีการทำสัญญาซื้อขาย โดยมีพยานบุคคคลและได้จดทะเบียนไว้ในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้วให้ถือว่ามีผล ส่วนการจดทะเบียนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บอกว่า ให้บริษัทนำส่งการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ไม่เกิน 14 วันนับแต่เมื่อเปิดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทไม่ต้องไปจดตลอดเวลา เพราะไปแจ้งบ่อยก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม ทำให้บริษัททั่วไปก็ทำปีละครั้ง เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการโหวตลงคะแนนเสียงของบริษัท โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ เช่น 10 เปอร์เซ็นต์ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยกรณีของหัวหน้าพรรค บริษัทดังกล่าวอยู่ระหว่างการจดชำระบัญชีคือหยุดการทำแล้ว แต่กำลังเก็บหนี้ จ่ายหนี้ มีเหลือก็จ่ายผู้ถือหุ้น 
    มีรายงานจากพรรคอนาคตใหม่ว่า ในการประชุมส.ส.และประชุมพรรควันอังคารนี้ คาดว่าจะมีการหารือกันเรื่องที่ ส.ส.ของพรรค 21 คนถูกฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐยื่นคำร้องให้ตรวจสอบการถือหุ้น ซึ่งคาดว่าวันดังกล่าวนายปิยบุตรจะแจ้งให้ ส.ส.ทั้ง 21 คนส่งพยานหลักฐาน พยานเอกสารมาให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาเพื่อเตรียมสู้คดีต่อไปหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา 
    ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า "หุ้นสื่อ...จะไปอย่างไร และจะจบอย่างไร"
    โดยระบุว่า เรื่องการถือหุ้นสื่อของ ส.ส.ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้นั้น ในความเป็นจริงเป็นเรื่องกฎหมายมากกว่าเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องกฎหมายที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับคนที่ไม่มีความรู้กฎหมาย และยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่อคนที่รู้กฎหมายบางคนใช้ความซับซ้อนนี้สร้างความสับสนและความเข้าใจผิดๆ ให้เป็นความวุ่นวายทางการเมือง
    เริ่มจากการที่มีผู้สมัคร ส.ส.สองคนถูกตรวจสอบเรื่องการถือหุ้นสื่อในระหว่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา และมีผู้สมัคร ส.ส.อีกหนึ่งคน คือนายธนาธร ที่ถูกกล่าวหาร้องเรียนในเรื่องเดียวกัน แต่เป็นเวลาภายหลังการประกาศผลเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แล้ว และมีอีกกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นเรื่องไปที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่งขาดคุณสมบัติเพราะถือหุ้นสื่อ
     อดีต รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า ทำไมทั้ง 3 กรณีจึงปฏิบัติต่างกัน สำหรับกรณีแรก ผู้สมัครทั้งสองคนถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งให้ถอนรายชื่อออกจากบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพราะมีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นการตรวจพบก่อนวันเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2560 มาตรา 42 และมาตรา 61 
    นายพีระพันธุ์ย้ำว่า กรณีนี้จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตามที่กฎหมายระบุไว้          ส่วนกรณีของนายธนาธรนั้นถูกกล่าวหาร้องเรียนในเดือนพฤษภาคม 2562 หลังวันประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และนายธนาธรเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งด้วย กรณีของนายธนาธรจึงต้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2560 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า “มาตรา 54 กรณีที่พบเหตุตามมาตรา 53 ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย...”
    "แล้วยังไงต่อ ประเด็นปัญหาแรกคือ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในเรื่องการถือหุ้นสื่อของ ส.ส.นี้ เป็นที่สุดยุติเด็ดขาดแล้วหรือไม่          ประเด็นนี้ต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่บทของกฎหมายทุกฉบับ รัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การห้ามถือหุ้นสื่อนี้ไว้ในมาตรา 98 และมาตรา 101 (3) แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2560 จะนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องการห้ามถือหุ้นสื่อไปบัญญัติไว้เป็นบทบัญญัติของกฎหมายนั้นด้วย แต่การตีความบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือที่มีบทบัญญัติกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ก็จะอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อประเด็นที่เป็นปัญหาไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องยึดถือตามคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ เพราะคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนือศาลอื่น รวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันทุกองค์กรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ ที่ว่า   “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”
     นายพีระพันธุ์ระบุว่า ดังนั้น แม้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะเคยมีคำพิพากษาว่าการที่ผู้สมัคร ส.ส. สองคนถือหุ้นอยู่ในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิว่ามีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อหรือสิ่งพิมพ์ ก็เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว โดยไม่ต้องไปพิจารณาดูว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจหรือทำกิจการด้านสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อมวลชนจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่เป็นที่สุดหรือเป็นที่ยุติเด็ดขาด หากแต่ต้องรอฟังคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ต่อไป         
    "แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องเดียวกันนี้ ย่อมอยู่เหนือคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเช่นกัน" อดีต รมว.ยุติธรรมระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"