พปชร.ยังสาวไส้กันไม่เลิก แกนนำพรรคโอดยอมกลืนเลือด ฉุนก๊วน กปปส.มีแค่ 11 เสียงแต่ล็อบบี้ผู้มีบารมีในรัฐบาลเฉือนโควตากลุ่มสามมิตรได้ไป 2 เก้าอี้ จับตาฝ่ายค้านล็อกเป้า “สมคิด-4 กุมาร”ยื่นญัตติซักฟอกรายคน หวั่นก๊วนในพรรคเมินยกมือหนุน "เสี่ยเฮ้ง" ยอมถอยหนุน "ลุงตู่" เดินหน้า แนะ "อุตตม-สนธิรัตน์" เคลียร์ศึกภายใน พท.ได้ทีเย้ย พปชร.หยุดแย่งชามข้าว หันแก้ปัญหา ปชช. "ไพศาล" แย้ม "บิ๊กตู่" จ่อเป็นนายกฯ แบบไร้พรรคเหมือน "ป๋าเปรม" ป่วนกันมากก็ยุบสภา อึ้ง! โพล 92% โคตรเบื่อปัญหาการเมือง
เมื่อวันอาทิตย์ ยังมีความเคลื่อนไหวถึงปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล โดยแหล่งข่าวพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เปิดเผยว่า จากปัญหาไม่ลงรอยในเรื่องการจัดสรร ครม.ในโค้งสุดท้าย ล่าสุดมี ส.ส.และแกนนำในพรรคไม่พอใจแกนนำ กปปส. 2 คน คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ได้ รมว.ศึกษาธิการ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่ได้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มีเสียง ส.ส.กทม.เพียงแค่ 11 เสียง แต่ได้ถึง 2 เก้าอี้ เนื่องจากทั้ง 2 คนได้วิ่งไปล็อบบี้ผู้มีบารมีในรัฐบาลช่วงโค้งสุดท้าย ที่อาจต้องตัดโควตาออก 1 เก้าอี้ คือนายพุทธิพงษ์ จะเป็นแค่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เนื่องจากต้องสละเก้าอี้ให้พรรคชาติพัฒนา แต่สุดท้ายในการพูดคุย แม้จะมีแค่ 11 เสียงก็ยังรักษาเก้าอี้ได้ทั้ง 2 ตำแหน่ง และบอกให้ไปเฉือนโควตาของกลุ่มสามมิตร ซึ่งมี ส.ส. 30 เสียง โดยเสนอให้ไปตัดตำแหน่ง รมช. ของนายอนุชา นาคาคัย ออกแทนนายพุทธิพงษ์
“หลังเกิดเหตุการณ์หักหลัง ไร้สัจจะกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กลุ่ม ส.ส.ภาคต่างๆ ที่ไม่พอใจการจัดสรรครม.ครั้งนี้มาในระยะหนึ่ง เห็นว่าทางกลุ่ม กปปส. ควรจะได้แค่ 1 ตำแหน่งเท่านั้น หากเทียบกับจำนวนส.ส.ที่กลุ่มภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ยอมกลืนเลือดเสียสละไปแล้ว ดังนั้น กปปส.ก็ควรหัดเสียสละบ้าง ไม่ใช่ไปวิ่งล็อบบี้แต่ตำแหน่งของตัวเอง แล้วเขี่ยตำแหน่งคนอื่นทิ้งแบบนี้ ส่วนปัญหาต่างๆ ภายในพรรคก่อนหน้านี้ที่ไม่ลงรอยกันก็คนพวกนี้ทั้งนั้น" แหล่งข่าวระดับสูงพรรค พปชร.ระบุ
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากพรรค พปชร.อีกรายเปิดเผยว่า ขณะนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพรรคเกิดความกังวลเกี่ยวกับการทำงานในสภาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เสียงปริ่มน้ำ และมีแรงกระเพื่อมจากความไม่ลงตัวในโผรายชื่อ ครม.ในส่วนของพรรค ขณะเดียวกันทางพรรค พปชร.ทราบว่าขณะนี้ฝ่ายค้านกำลังล็อกเป้าเตรียมข้อมูลเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคลถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ได้แก่ บรรดาอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ที่จะมีชื่อในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ถือเป็นเป้าหมายแรก ทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายอุตตม สาวนายน, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และหากนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล มีชื่อใน ครม.ใหม่ ก็อยู่ในข่ายด้วยเช่นเดียวกัน
"ทางพรรคจึงวิตกว่า ท่ามกลางความไม่พอใจของส.ส.หลายกลุ่มในพรรค ซึ่งเป็นผลจากเรื่องการจัดสรรโควตารัฐมนตรี จะฝืนมติพรรค ไม่ยกมือสนับสนุนว่าที่รัฐมนตรีในสายเศรษฐกิจของพรรค อีกทั้งในกลุ่มของนายสมคิดเองก็แทบจะไม่มี ส.ส.ในสังกัดเลย"
รายงานเพิ่มเติมว่า เป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัติดังกล่าวทันทีหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น เพราะถือว่าผู้ที่มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในสายเศรษฐกิจได้ทำงานมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ หรือหากไม่เป็นช่วงเวลาดังกล่าว ก็เป็นไปได้ว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติหลังจากผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไปแล้ว
ก๊วนชลบุรีขอเป็นเด็กดี
นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ผ่านเนชั่นทีวี ช่อง 22 ในรายการเก็บตกจากเนชั่นภาคเที่ยง ถึงกระแสข่าวหลุดจากตำแหน่ง รมว.แรงงาน และการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มเรียกร้องตำแหน่งภายในพรรคว่า ต้องยอมรับว่าเหตุผลที่ตนย้ายจากพรรคพลังชลมาร่วมงานกับพรรค พปชร. เพราะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่มาเพื่อมีตำแหน่งตรงนั้นตรงนี้แต่อย่างใด ตนจึงขอวิงวอนบางกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหว ให้คำนึงถึงความเชื่อมั่นในการเดินหน้าประเทศของเรา อย่างไรก็ตาม ปัญหาภายในพรรคที่เป็นอยู่นี้ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาฯ พรรค ซึ่งเป็นผู้นำพรรค และมีหน้าที่โดยตรง ต้องลงมาแก้ปัญหาความไม่ลงรอยต่างๆ ในพรรคด้วยตัวเอง
"ส่วนทางออกของการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น นายกฯ มีอำนาจเต็มเพียงคนเดียวเท่านั้นในการพิจารณา เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำจบหมดแล้ว บางคนอาจจะได้กระทรวงที่ไม่ต้องการ แต่ถึงอย่างไรผมก็เชื่อมั่นว่าไม่ว่าใครจะอยู่ตรงไหนก็สามารถทำงานได้ทั้งสิ้น และในวันนี้เราต้องเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำและความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ กลุ่มชลบุรีไม่มีปัญหา และกลุ่มภาคกลางก็ได้คุยกันแล้วว่าต้องการให้นายกฯ ทำงาน และตั้ง ครม.ได้ เราเป็นเด็กดี ถ้าเป็นเด็กดื้อแล้วได้ขนม คงจะดื้อกันทั้งพรรค ถ้าเป็นแบบนั้นก็ถือว่าเรียกร้องผลประโยชน์เพื่อส่วนตัวอย่างเดียว" นายสุชาติกล่าว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นแคปชั่นรูปภาพ
นายอนุทินกำลังจรดปากกาในเอกสาร ระบุว่า “ลงนามในหนังสือเสนอรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารในส่วนของ #พรรคภูมิใจไทย ต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว” ซึ่งมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งให้กำลังใจในการเริ่มทำงานกับรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการผลักดันกัญชาเสรี
นอกจากนี้ มีแฟนเพจในเฟซบุ๊กเข้ามาแสดงความคิดเห็น บางคนระบุว่า “ชุดนี้น่าจะอยู่ไม่นานเนอะๆ” โดยนายอนุทินตอบแสดงความคิดเห็นกลับไปว่า “ผมว่าสักพักเลยละครับ” และยังมีแฟนเพจเข้ามาสอบถามว่า “ถ้าเป็นรองนายกฯ แล้วจะลาออกจากการเป็น ส.ส.ไหมครับ หรือเป็นทั้ง 2 ตำแหน่ง” โดยนายอนุทินตอบกลับว่า “ผมไม่ต้องออกครับ” อย่างไรก็ตาม ยังมีสมาชิกแฟนเพจเข้ามาแสดงความคิดเห็นระบุว่า “เคยเดาว่าคุณอนุทินจะเป็น ‘ตาอยู่’ ในการหาปลาครั้งนี้ ระหว่างตาอิน พท.กับตานา ปชป. แต่กลายเป็นตาตู่คว้าไปกิน หวังว่าตาตู่จะแบ่งให้ชาวบ้านกินบ้าง และชวนชาวบ้านถักแหไว้หาปลาค่ะ” ซึ่งนายอนุทินตอบกลับไปว่า “ตาหนูจะช่วยตาตู่ทำงานเพื่อปากท้องประชาชนครับ”
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงเสถียรภาพของรัฐบาลที่พรรคพปชร. ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลมีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในว่า เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคที่ต้องไปบริหารจัดการ แต่เชื่อว่าเสถียรภาพของรัฐบาลยังเดินหน้าได้ เพราะปัจจัยเรื่องเสถียรภาพประกอบด้วยปัจจัยเชิงปริมาณ ซึ่งรัฐบาลจะมีเสถียรภาพได้ต้องมีเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ตัวเลขเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว และปัจจัยเชิงคุณภาพคือประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล หากประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ก็จะช่วยเสริมเสถียรภาพของรัฐบาลให้มีความมั่นคงได้ ซึ่งทุกอย่างต้องรอพิสูจน์การทำงานหลังเข้าทำหน้าที่
นักลงทุนหวังตั้ง รบ.โดยเร็ว
ส่วนรัฐบาลจะใช้เวลาในการประเมินการทำงานมากน้อยแค่ไหนนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ในระบบรัฐสภาก็มีการถ่วงดุลอยู่แล้ว ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ไม่มีช่วงเวลาที่ชัดเจน แต่ฝ่ายค้านทำได้ตลอด ทั้งในระบอบรัฐสภาและนอกสมัยประชุม
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กล่าวถึงกระแสข่าวการจัดเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ลงตัวภายใน พปชร.ว่า ดูจากรายชื่อ อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่จะไปนั่งกระทรวงด้านเศรษฐกิจนั้น ไม่น่ามีปัญหา เพราะมีอาวุโส อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ขัดแย้งกับใคร หากกระทรวงที่ประชาธิปัตย์ดูแลผลงานออกมาดี ภาพรวมของรัฐบาลประยุทธ์จะดีไปด้วย เชื่อว่าคาแรคเตอร์ในรัฐบาลเป็นกันเอง ไม่มีความขัดแย้งกัน ไปในทิศทางเดียวกันได้
"ส่วนใหญ่นักลงทุน นักธุรกิจ เขาทราบดีว่าปัญหาบางส่วนอาจจะไม่ลงตัวในฝั่งพรรคพลังประชารัฐในแต่ละกลุ่มกันเอง แต่ตอนนี้ทุกคนอยากให้ตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เร่งเดินหน้าทำงานได้ เท่าที่ทราบ นายกฯ เคาะชื่อรัฐมนตรีจบไปแล้วรอบหนึ่ง รอดูว่าท่านจะยืนยันอะไรหรือไม่ เชื่อว่านักธุรกิจนักลงทุนเขาเริ่มมองบวกดูจากตลาดหุ้นด้วย เห็นชัดว่าโซลที่ตลาดเข้ามาซื้อส่วนหนึ่งก็เป็นความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะต้องเดินหน้าได้ และต้องเร่งทำงาน ความที่ว่าไฟลนก้นต้องเร่งแสดงฝีมือให้จับต้องได้ นี่เป็นจุดดีที่นักลงทุนชอบ เพราะว่าเขาก็มั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้มีมือเศรษฐกิจที่ทำงานได้ และขับเคลื่อนโดยเร็ววัน" นายปริญญ์ กล่าว
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวจะได้กลับมาเป็น รมว.การต่างประเทศอีกครั้งในรัฐบาลใหม่ว่า ตนขอพูดในผลการประชุมจี 20 จะดีกว่า ส่วนเรื่องอื่นตอบไม่ได้ เพราะต้องไปรออะไรต่ออะไร เมื่อถามว่าต้องเข้าไปกรอกประวัติรัฐมนตรีเมื่อไหร่ นายดอนกล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า ไม่ทราบ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มสามมิตรและกลุ่ม ส.ส.ภาคกลางพรรค พปชร. ไม่พอใจที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนโผ ครม.ว่า เหตุที่ตั้ง ครม.ไม่ได้ทั้งที่พ้นการเลือกตั้งมาเกือบ 4 เดือน เพราะยังแย่งชามข้าวกันไม่จบ ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวแบบไม่เกรงใจกันแล้ว เหตุการณ์นี้ถือเป็นความเสื่อม อย่าพูดว่าการปฏิรูปการเมืองยังไม่สำเร็จ เพราะของจริงยังไม่เคยได้ปฏิรูปอะไรเลย แก่งแย่งเก้าอี้กันขนาดนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร ไม่มีทางจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่จนทุกวันนี้ สงสารประชาชนที่ต้องติดหล่มอยู่ในการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน
นายอนุสรณ์กล่าวว่า นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พรรค พปชร.ตั้งโต๊ะขู่ ถ้ารังแกกันไม่เลิกแบบนี้จะแฉกลับให้เป็นเรื่องระดับชาติ จนทำให้พรรค พปชร.ร้าวหนัก ที่ออกมาทวงสัจจะชายชาติทหารจากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้ว่าความฝันของนายอนุชาจะสำเร็จหรือไม่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะไม่ยึดอำนาจก็ยึด บอกว่าตนเองไม่ใช่นักการเมือง แต่สุดท้ายก็พลิกลิ้น จึงไม่รู้ว่าครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะสะกดคำว่าสัจจะถูกหรือไม่ ทั้งนี้ ประชาชนยังรอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาหยุดแย่งชามข้าว แล้วมาแก้ปัญหาให้ประชาชนโดยเร่งด่วน
ประยุทธ์เข็นครกขึ้นภูเขา
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ว่ารู้สึกไม่สบายใจที่เห็นการประชุมสภาไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขออย่าจ้องแต่จะล้มรัฐบาล ว่าจะสบายใจหรือไม่สบายใจก็เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญ รัฐบาลจะล้มหรือจะตั้งอยู่ได้ อยู่ที่การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก รวมทั้งประชาชนให้การยอมรับ และอยากให้รัฐบาลอยู่ต่อไปอีกเพื่อสืบทอดอำนาจหรือไม่ การจะให้พรรคฝ่ายค้านยกมือสนับสนุนรัฐบาล ก็อยู่ที่การกระทำของ ครม.และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเป็นสำคัญ ว่าทำดี ทำถูกต้องหรือไม่ ฝ่ายค้านต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับได้หรือไม่ เสนอญัตติด่วนให้สภาตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาหาข้อเท็จจริงว่าการสรรหา ส.ว. พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับให้ตั้งหรือไม่ หรือจะขัดขวางไม่ให้สภาทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบ
"นี่แค่เพียงโหมโรงเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็แสดงทีท่าอ่อนใจเสียแล้ว ฉากต่อไปรับรองเข้มข้นกว่านี้ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องมาเข้าร่วมประชุมสภา มาฟังเสียงและเห็นหน้า ส.ส.เวลาอภิปรายในที่ประชุมสภา ถึงตอนนั้นคงประจักษ์ว่า การเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 อาจจะยากกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขาก็ได้" นางลดาวัลลิ์กล่าว
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า โค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีครม. ภาพการต่อรองแก่งแย่งผลประโยชน์กันสูงมาก ทำให้เห็นได้ว่ารัฐบาลนี้ยากที่จะปกครองบริหารประเทศ เพราะขาดความชอบธรรมอย่างรุนแรง เมื่อเห็นภาพความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับนักการเมืองบางส่วนในพรรค พปชร.แล้ว ก็ทำให้เห็นว่าบางทีรัฐบาลนี้ก็อาจจะอยู่ได้สั้นกว่าที่เคยคาดการณ์เหมือนกัน ตามธรรมชาติของรัฐบาลในระบบรัฐสภา มันจะล้มก็มักจะเกิดจากการที่มีความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล
"ขณะที่พรรคต่างๆ ที่มาร่วมส่วนใหญ่ต้องการเยียวยาภาพพจน์ที่ไปตระบัดสัตย์ไม่ได้ไปแก้ปัญหาให้ประชาชน และพยายามฟื้นตัวเองในเรื่องของทุนรอน เพราะใช้จ่ายกันไปมาก โอกาสที่พรรคร่วมจะถอนตัวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างตนเองกับในพรรคพลังประชารัฐอย่างไร และในระยะปานกลางจะทำอย่างไรที่จะประนีประนอมพรรคร่วมรัฐบาลอื่นไว้ให้ได้ แต่ทั้งหมดนี้น่าเศร้าใจตรงที่ว่า ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับนโยบายและการแก้ไขปัญหาประเทศ มีแต่เรื่องจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้อย่างไร" นายจาตุรนต์กล่าว
ห้องประชุม 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน มีการจัดงานเสวนาเวทีประชาชนในหัวข้อ “เวทีตรวจสอบรายชื่อคณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2 กับเสียงสะท้อนของประชาชน” โดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง กล่าวตอนหนึ่งว่า หากมีนายอุตตม สาวนายน เป็นว่าที่ รมว.การคลังอยู่ ตนมีความห่วงใยต่อการบริหารบ้านเมือง ซึ่งหากมีการแต่งตั้ง รมว. ที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จะทำให้ ครม.มีปัญหา และคนที่มีปัญหามากที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง เพราะกรณีการกันคนเป็นพยานนั้น หมายความว่าคนคนนั้นต้องเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย ซึ่งต้องถามว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นการฟอกตัว จากผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 160 กำหนดไว้ว่า รมว.ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ และต้องไม่มีการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง
"ศาลเขียนไว้ว่าคณะกรรมการบริหารมีเจตนาช่วยเหลือจำเลยที่ 19 ได้รับสินเชื่อจำนวน 9,900 ล้านบาทโดยไม่ได้รักษาประโยชน์ของธนาคารกรุงไทย และมีเจตนาช่วยเหลือ เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อจำเลยที่ 20 ซึ่งผมเข้าใจว่ามีคนกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมที่ไม่ดี นั่นคือคณะกรรมการบริหารทั้ง 5 คน หมายความว่าการกระทำของนายอุตตมก็อยู่ในคำวิพากษ์วิจารณ์ของศาล ซึ่งทำให้หลุดคุณสมบัติ มาตรา 160 ไปโดยอัตโนมัติ ในคำพิพากษายังระบุอีกว่า คณะกรรมการบริหารมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและคำสั่งธนาคารกรุงไทย อยากถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต้องดำเนินคดีต่อศาลปกติ อีก 2 คนที่ถูกธนาคารกรุงไทยกันไว้เป็นพยานหรือ”นายธีระชัยระบุ และว่า ปรากฏข้อมูลชัดเจน เปรียบเหมือนกับว่ารัฐบาลชุดนี้ที่มีนายอุตตมเป็นรัฐมนตรีอยู่นั้น เท่ากับมันขัดกฎหมายตั้งแต่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีเลยหรือไม่
ลุงตู่เอาอย่างป๋าเปรม
นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊กถึงท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องเก้าอี้ ครม. ว่า ท่าทีของลุงตู่ต่อการเรียกร้องกดดันเพื่อเอาตำแหน่งรัฐมนตรีของนักการเมืองกลุ่มต่างๆ ชัดเจนแล้วว่าลุงตู่ จะเป็นนายกรัฐมนตรีแบบไร้พรรค!! คือเมื่อนั่งเรือถึงฝั่ง ขึ้นจากเรือแล้วก็จะไม่แบกเรือไปด้วย และน่าจะไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามที่เป็นข่าว ซึ่งจะทำให้ลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีแบบเดียวกับที่ป๋าเปรมเคยเป็นมาแล้ว การเป็นนายกฯ แบบไร้พรรค จึงเท่ากับเป็นนายกฯ โดยฉันทามติของทุกพรรครัฐบาล และไม่อาจถูกกล่าวหาจากพรรคต่างๆ ได้ว่าเลือกที่รักมักที่ชัง ดังนั้นลุงตู่จึงสามารถกำหนดเลือกรัฐมนตรีในทางที่จะ “ส่งเสริมให้คนดีมีอำนาจในบ้านเมือง” ได้
"แล้วถามว่า แบบนี้ไม่กลัวแพ้ในสภาหรือ? คำตอบคือ เมื่อครั้งป๋าเปรมท่านก็ไม่กลัว และไม่เปิดให้อภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย คือป่วนกันมากก็ยุบสภาไปเลย และเมื่อเลือกตั้งใหม่ก็กลับมาเป็นนายกฯ อีก เรื่องการแบกเรือขึ้นฝั่งนั้นไม่น่าห่วงแล้ว! ที่น่าห่วงก็คือเครื่องสัมภาระที่เป็นเหตุให้ถูกด่าว่า “เอาแต่เจ้าสัว” นั้น ยังจะแบกต่อไปหรือไม่? ระยะนี้เห็นมือบริหารเศรษฐกิจการเงินการคลังที่มีชื่อเสียงของประเทศปรากฏกายเดินข้างๆ ลุงตู่พิกลอยู่ รู้จักนักฆ่าแห่งบ้านนรสิงห์น้อยไป!" นายไพศาลระบุ
วันเดียวกัน นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อารมณ์สาธารณชนต่อการเมือง กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,673 ตัวอย่าง ระหว่าง 20-29 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือ 87.2 เห็นด้วยต่อการตรวจสอบคุณสมบัติทั้ง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ในขณะที่ร้อยละ 12.8 ไม่เห็นด้วย
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 กังวลมากถึงมากที่สุดต่อความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย, ร้อยละ 23.2 กังวลปานกลาง และร้อยละ 9.3 กังวลน้อยถึงไม่กังวลเลย นอกจากนี้ เมื่อถามถึง ความเบื่อหน่ายต่อปัญหาการเมืองขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 รู้สึกเบื่อ เบื่อสุดๆ ถึงโคตรเบื่อ ต่อปัญหาการเมืองขณะนี้ ในขณะที่เพียงร้อยละ 7.6 รู้สึกไม่เบื่อถึงสนุกต่อปัญหาการเมือง
ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.5 ไม่เห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 40.5 เห็นด้วย นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 46.9 ให้โอกาสรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนไม่เกิน 1 ปี, ร้อยละ 30.7 ให้โอกาส 1-2 ปี, ร้อยละ 8.1 ให้โอกาส 2-3 ปี, ร้อยละ 11.2 ให้โอกาส 3-4 ปี และเพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้นที่ให้โอกาส 4 ปีขึ้นไป
สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ปัญหาการเมืองไทย ที่คาใจประชาชน โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,327 คน ระหว่างวันที่ 25-29 มิถุนายน 2562 สรุปปัญหาการเมืองไทยที่คาใจประชาชน ณ วันนี้ อันดับ 1 การจัดตั้งรัฐบาล/เก้าอี้รัฐมนตรี 46.87% เพราะยังไม่เห็นความชัดเจน ใช้เวลานานในการจัดตั้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ คุณสมบัติรัฐมนตรีแต่ละคนเหมาะสมเพียงใด ฯลฯ, อันดับ 2 การทุจริตคอร์รัปชัน 38.28% เพราะมีมาทุกยุคทุกสมัย มีการปราบปรามแต่ไม่ลดลง ควรจับกุมผู้ที่มีอิทธิพลหรือตัวการใหญ่ให้ได้ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม ฯลฯ, อันดับ 3 ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 33.38% เพราะกกต. ยังไม่ชี้แจงในประเด็นที่คลุมเครือ การนับคะแนน สูตรคำนวณไม่เป็นที่ยอมรับ มีการโกงเลือกตั้งจริงใช่หรือไม่ ฯลฯ, อันดับ 4 การบริหารประเทศของรัฐบาล/นโยบายประชารัฐ 26.53% เพราะประเทศอยู่ในภาวะหยุดชะงัก บริหารงานไม่ต่อเนื่อง นโยบายที่หาเสียงไว้จะสามารถทำได้หรือไม่ รัฐบาลอาจอยู่ไม่ครบวาระ ฯลฯ, อันดับ 5 ที่มา 250 ส.ว./บทบาทและอำนาจหน้าที่ 25.62% เพราะหลักเกณฑ์การสรรหาและการคัดเลือกไม่โปร่งใส มีทั้งระบบพวกพ้อง เครือญาติ ทำไม ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ได้ ฯลฯ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |