ระหว่างสัมภาษณ์วันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมถามอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เตช บุนนาค (ปีนี้อายุ 76) เรื่องไทยเราจะถ่วงดุลอำนาจจีนและอเมริกาอย่างไร
ทันใดนั้นท่านก็ควักโทรศัพท์มือถือจากกระเป๋าขวาคือ iPhone และจากกระเป๋าซ้ายคือ Huawei มาให้ผมดูและบอกว่า
"ผมมีโทรศัพท์ทั้งสองยี่ห้อตลอดเวลา อันหนึ่งคือไอโฟนของอเมริกา อีกอันหัวเว่ยของจีน ประเทศไทยก็เหมือนกัน ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพทางการทูตรักษาดุลยภาพอำนาจยักษ์ใหญ่ได้ตลอดเวลา โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง!"
คุณเตชทำเอาผมงงไปเหมือนกัน นึกไม่ถึงว่าท่านจะมีความเป็นนักการทูตได้ครบถ้วนขนาดนั้น
และท่านไม่ได้พูดเล่นๆ หากแต่นำเอาหลักการแห่งการ "ถ่วงดุลอำนาจ" มาใช้ในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว
นโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการถ่วงดุลมหาอำนาจในจังหวะแห่งความผันผวนไม่แน่นอนก็ต้องทำอย่างนี้เหมือนกัน
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย การดำเนินนโยบายเช่นนี้เหมือนการไต่ลวดที่ต้องอาศัยความระมัดระวัง ความมุ่งมั่น และความสามารถในการปรับตัวได้ตลอดเวลา
เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีนก็กดดันเราไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อให้เราต้องเลือกข้าง
แต่สำหรับประเทศเล็กอย่างไทยแล้วการเลือกข้างย่อมไม่ใช่ทางเลือก เพราะในโลกวันนี้การพึ่งพาอาศัยกันและกันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งโลกกำลังเข้าสู่ "สมการใหม่" ที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยิ่งทำให้การดำเนินนโยบายที่เป็นตัวของตัวเองและให้ชาติอื่นเคารพในความเป็นตัวตนของเราก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก
แต่ยิ่งยากก็ยิ่งสำคัญ เพราะนั่นแปลว่าทุกประเทศก็เผชิญกับความท้าทายเหมือนกัน
ในยุคสงครามเย็นหลังสงคราม ไทยเราตัดสินใจได้ง่าย อเมริกาเป็นผู้นำ "โลกเสรี" และจีนกับสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำของ "โลกคอมมิวนิสต์"
ไทยเลือกข้างสหรัฐฯ เพราะลัทธิคอมมิวนิสม์ในขณะนั้นเป็นศัตรูต่อวิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทยส่วนใหญ่
ณ จุดนั้นเป็นการเลือกตาม "อุดมการณ์ทางการเมือง" ซึ่งต้องถือว่าเกือบจะเป็นการขีดเส้นแบ่งระหว่างสีขาวกับสีดำ
แต่วันนี้ทั้งจีนและรัสเซียได้แปรความเชื่อและแนวปฏิบัติเป็นทุนนิยม ส่วนคำว่าคอมมิวนิสต์เป็นเพียงในนามเท่านั้น ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ก็เริ่มแปรเปลี่ยนออกจากแนวทางของตนเอง
สหรัฐฯ ของทรัมป์ไม่ยึดถือความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเหมือนเดิม แต่ยึดเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลักด้วยนโยบาย America First ขณะที่จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงต้องการจะแสดงบทนำทางด้านการค้าเสรีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบพหุภาคี
ทั้งสองมหาอำนาจกำลังสร้างสมัครพรรคพวกในเวทีสากลเพื่อสร้างบารมีของตนในทุกๆ ด้าน
อุดมการณ์การเมืองหดหาย การต่อสู้เพื่ออิทธิพลทางเศรษฐกิจผสมกับการเมืองและสังคมกลายเป็นหัวใจของการแข่งขันระหว่างประเทศ
เมื่อทั้งสองยักษ์เปิดศึกการค้าอย่างเปิดเผยก็ส่งผลกว้างไกล ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่ต้องประเมินถึงจุดยืนของตัวเอง และปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความผันผวนปรวนแปรที่กำลังซัดสาดไปทั่ว
ไม่มีประเทศไหนหลีกพ้นผลกระทบจากการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้
การที่ไทยจะต้อง "รักษาระยะห่าง" ที่เหมาะสม ไม่ใกล้ชิดแต่ไม่ห่างเหินฝ่ายไหนมากเกินไป จึงกลายเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในจังหวะนี้
นายกรัฐมนตรีหลี่ เสียนหลงของสิงคโปร์ สะท้อนถึงความรู้สึกนี้ชัดเจนเมื่อแกปราศรัยเมื่อเร็วๆ นี้ เรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจอย่าได้กดดันให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสมาชิกอาเซียนต้องเลือกข้าง เพราะนั่นย่อมทำให้เกิดความยากลำบากในความสัมพันธ์ต่อกัน
หลี่ เสียนหลงเท้าความว่าในยุคก่อน ลัทธิล่าอาณานิคมได้สร้างปัญหาให้โลกนี้พอสมควร ดังนั้นจึงไม่ควรที่ประเทศที่มีอำนาจต่อรองสูงจะบีบบังคับให้ประเทศเล็กๆ ต้องตกอยู่ในภาวะนั้นอีกครั้งหนึ่ง
ไทยกำลังถูกทดสอบอีกวาระหนึ่ง ว่าเราจะสามารถนำเอาความรู้ความสามารถและประสบการณ์ "วิถีการทูตไทย" ที่เคยได้ชื่อว่านำพาประเทศรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อในอดีต มาผลักดันให้ประเทศดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติ ในขณะเดียวกันก็สร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่
วิสัยทัศน์ ความกล้าหาญ ความคล่องตัว และความชาญฉลาดในการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างแม่นยำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในยามนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |