30 มิ.ย.62 - เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และ ศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่บทความเรื่อง “สืบทอดเจตนาปรองดอง 66/23” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีเนื้อหาดังนี้
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษผู้เพิ่งล่วงลับนี้ ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่สร้างสรรค์งานยิ่งใหญ่ทางการเมืองไว้ดั่งเป็นตำนาน
ผลงานอันเป็นคุณูปการมาจนวันนี้ ที่สำคัญสุดคือการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/2523 หรือเรียกสั้นๆว่า 66/23 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523
ด้วยคำสั่งนี้เอง มีผลให้ “ป่าแตก” ความขัดแย้งระหว่างผู้เห็นต่างทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย กระทั่งสงบลงและพัฒนาเป็นพื้นฐานใหม่ ที่ทำให้วาทกรรมทางการเมืองเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะคำว่า “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”
ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวตรงนี้หน่อยนะ
ยอมรับว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้ตื่นตัวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน คือตื่นพร้อมและมีประสบการณ์ไปด้วยกันกับนักศึกษารุ่นนั้นโดยตรง แม้ตัวเองจะเป็นรุ่นพี่จบก่อนหลายปี แต่การได้ร่วมกิจกรรมกับนักศึกษามายาวนานต่อเนื่อง จึงมีโอกาสได้เรียนรู้ถึงเจตนารมณ์การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของอำนาจที่ไม่เป็นธรรมทางการเมืองของนักศึกษารุ่นน้องรุ่นลูก เราจึงเห็นด้วยและเอาด้วยเต็มที่
ร่วมเดินขบวนในวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากชุมนุมต่อเนื่องในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์หลายวัน จากนั้นหลังสิบสี่ตุลา ขบวนการจัดตั้งความคิดและการเคลื่อนไหวของเหล่านักเรียนนักศึกษาและประชาชน เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง หนักแน่นชัดเจน
เราเองได้ร่วมกลุ่มศึกษาทฤษฎีวิทยาศาสตร์สังคมประวัติศาสตร์การปฏิวัติโลกสังคมนิยม รวมถึงขบวนการเปลี่ยนแปลงของประเทศมหาอำนาจทั้งหลายอย่างเป็นรูปธรรมผสานกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์สังคม ทำให้ทัศนะทางการเมืองที่ขึ้นต่อจิตสำนึกทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าวาทกรรมใดๆ
กระทั่งหลังหกตุลาหนึ่งเก้า รัฐบาลใช้นโยบายไม้แข็งกวาดล้างคนหัวก้าวหน้า เรียกกันในขณะนั้นว่าเป็นฝ่ายซ้าย ต้องกระเจิดกระเจิงลี้ภัยจากเมืองไป “เข้าป่า” คือร่วมสงคราม “จรยุทธ์” กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เราเองแม้ไม่ได้เข้าป่ากับเขา แต่ก็ยังสดับตรับฟังข่าวสารอยู่เสมอ
ก่อนเข้าป่าต้องหลบตัว ซ่อนตัวขนานใหญ่ มีนักศึกษารุ่นนั้นที่เป็นดั่งเพื่อนรุ่นน้อง ให้เราพาหลบซ่อน เราจึงพาไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อนรุ่นเดียวกันชั่วคืน แม่ของเพื่อนเจ้าของบ้านยินดีให้พัก แต่ไม่เข้าใจเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น
“ทำไมไม่ตั้งใจเรียนให้จบ มหาวิทยาลัยนี่เข้ายาก จบแล้วก็มีโอกาสได้งานดีๆ มายุ่งกันเรื่องการเมืองของผู้ใหญ่เขาทำไม”
เจ้าน้องนักศึกษาปีหนึ่งตอบฉาดฉานดี ขณะเราเองยังอึ้งกับคำถามนี้อยู่เลย เขาตอบว่า
“ก็เพราะแม่และคนทั่วไปไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมกับสังคมเลยนี่ไง อย่างน้อยแม่ก็ไม่เคยถามตัวเองว่า ทำไมพวกผมจึงคิดกันอย่างนี้ ทั้งที่เออก็จริงตั้งใจเรียนจบ ทำงานดี มายุ่งกับเรื่องนี้ทำไม”
ดูเหมือนแม่เพื่อนแกจะอึ้งไปเหมือนกัน ด้วยไม่คิดจะเจอคำถามกลับแบบนี้
คืนนั้นเลยได้คุยกันยาว ดูแม่แกจะเข้าใจอะไรอยู่บ้างเพียงเหมือนจะทดสอบความคิดและความแน่วแน่ของคนรุ่นนี้เท่านั้น
เพื่อนที่เข้าป่ารุ่นหลังหกตุลาหนึ่งเก้า เล่าถึงสภาพการณ์สู้รบครั้งนั้นว่าเป็นเรื่องเป็นตายได้ทุกนาที อะไรที่ไม่เคยพบก็มาพบ เช่น การซุ่มยิง การถูกล้อมปราบ
คนหนึ่งว่ายน้ำไม่เป็น ถูกไล่ล่า ต้องข้ามน้ำก็วิ่งลงน้ำแล้วใช้วิธีเดินใต้น้ำ คือดำน้ำแล้วคลานตะกุยตะกายไปตามพื้นดินใต้ท้องน้ำจนข้ามฝั่งหนีขึ้นเขาสูงชันไปได้
ได้เห็นการถูกจับฆ่าอย่างทารุณ จนคิดว่าถ้าเกิดกับตนคงต้องยิงตัวตายดีกว่าถูกจับได้
การต่อสู้ในป่าอย่างนี้ตลอดเวลาเป็นเวลาเกือบสี่ปี คิดว่าชาตินี้คงไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่พี่น้องอีกแล้ว และก็คงต้องสู้กันอย่างนี้ไปทั้งชาติเป็นแน่
ก็คำสั่ง 66/23 ของป๋าเปรมนี่เองที่เป็นทางออกที่ดีสุด งดงามสุด มันไม่เปลี่ยนเฉพาะคนสิ้นหวังให้กลับมีหวังเหมือนคืนชีวิตใหม่ให้เท่านั้น
หากมันคือการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของชะตากรรมบ้านเมืองเอาเลยทีเดียว
แสงความหวัง ดังเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ คือ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ส่องเส้นทางใหม่ เลิกใช้ความรุนแรง มาขจัดความขัดแย้งทางการเมือง
สาระสำคัญของคำสั่ง 66/23 ตอนหนึ่งว่าด้วย “การปฏิบัติ”
“4.2 ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทั้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
4.3 กำหนดการปฏิบัติให้มีการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เสียสละผลประโยชน์ของชนชั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีจิตใจที่เป็นธรรม และเข้าใจปัญหาของประชาชนทุกชนชั้น และสำนึกว่าประชาชนไทยทุกชนชั้นต่างก็มีจิตใจรักประเทศชาติ และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
4.4 ส่งเสริมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพให้สามารถในการปกครองตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกชนชั้นและสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมทางการเมือง กำหนดวิธีการให้ได้รับรู้ปัญหาของประชาชน ให้ถือความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดแนวทางปฏิบัติงาน เพื่อตอบสนองความต้องการ”
ยังมีอีกหลายข้อในคำสั่ง 66/23 แต่แค่สามข้อนี้แหละคือ “แสงดาวแห่งศรัทธา” และการปฏิรูปบ้านเมืองได้แท้จริง
จากนั้นจนวันนี้ รัฐบาลเรียกหา “ความปรองดอง” ในบ้านเมืองหลังจากวิกฤตทางการเมือง เป็นเหตุให้เกิดรัฏฐาธิปัตย์ คสช. ที่ยังอยู่ในสภาวะที่ดูเหมือนจะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” แม้จนวันนี้
กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า กฎหมายที่ไม่ถูกบังคับใช้ รวมถึงกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการนำมาบังคับใช้ดังสาระสำคัญโดยเฉพาะข้อ 4.2 ของคำสั่ง 66/23 เกี่ยวกับการ “ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรม”
โดยเฉพาะคดีการเมืองทั้งหลายนั้น รัฐบาลใหม่พึงศึกษาเจตนารมณ์ นโยบายปรองดองของท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จากคำสั่ง 66/23
เพื่อความปรองดองในสถานการณ์ใหม่
สืบสร้างยุคใหม่ แผ่นดินใหม่ ได้จริง
ในยุคนี้สมัยนี้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |